กลยุทธ์ที่ดีต้องมี Story

กลยุทธ์ที่ดีต้องมี Story

ในช่วงสิ้นปีต่อต้นปี กิจกรรมที่มักจะเป็นที่นิยมในองค์กรส่วนใหญ่จะหนีไม่พ้นเรื่องของการสื่อสารและถ่ายทอดกลยุทธ์สำหรับปีหน้าไปยังผู้บริหาร

และพนักงานระดับต่างๆ ส่วนใหญ่แล้ววิธีการสื่อสารถ่ายทอด ก็หนีไม่พ้นการทำเป็นเอกสารหรือ Presentation แล้วแจกจ่ายกันออกไปยังพนักงานระดับต่างๆ หรือ บางแห่ง CEO / ผู้บริหารระดับสูงก็จะเดินสายไปนำเสนอหรือพูดเรื่องกลยุทธ์ให้กับพนักงานฟัง พบว่าวิธีการดังกล่าวข้างต้นอาจจะช่วยในการสื่อสารถ่ายทอดกลยุทธ์ให้กับพนักงานได้ดีในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่กำลังรับฟังหรืออ่านเอกสาร แต่หลังจากออกจากห้องประชุมหรือยุติการอ่านเอกสาร กลยุทธ์ต่างๆ ที่ได้ฟังมาก็จะค่อยๆ จางหายไปจากความทรงจำ

ในระยะหลังจะเริ่มพบเห็น CEO หลายๆ ท่านนำเรื่องของการเล่าเรื่องหรือ Story-Telling มาใช้ในการสื่อสาร เล่าเรื่องราวของกลยุทธ์มากขึ้น และพบว่าพนักงานที่ได้ฟังเรื่องราวของกลยุทธ์ในลักษณะของ Story-Telling จะเข้าใจต่อทั้ง Why, What, How ของกลยุทธ์มากขึ้นและนานขึ้น

ความสามารถในการเล่าเรื่อง ได้กลายเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญของผู้บริหารในยุคใหม่ ทั้งนี้เนื่องจากพบว่าสมองคนเราถูกออกแบบมาให้เกิดความประทับใจ จดจำ และผูกพันกับเรื่องเล่าในลักษณะของ Story-Telling มากกว่าการนำเสนอในลักษณะของ Presentation ที่อุดมด้วย Bullet-Point อีกทั้งการเล่าเรื่องก็เป็นวิธีการแต่ครั้งโบราณที่ใช้ในการสื่อสาร บอกเล่า ถ่ายทอด เรื่องราวต่างๆ จากรุ่นสู่รุ่น รวมถึงนิทานก็เป็นสิ่งที่ทุกคนคุ้นกันมาตั้งแต่เด็ก และเราก็มักจะสามารถจดจำต่อคำสอนหรือเรื่องราวต่างๆ ในนิทานได้ดีกว่าคำสั่งสอนทั่วๆ ไป

การเล่าเรื่องได้มีการนำมาใช้มากขึ้นในภาคธุรกิจ โดยเริ่มจากด้านการตลาด โฆษณา หรือ แบรนด์ โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือลูกค้าหรือประชาชนทั่วไป นักการตลาดก็ประยุกต์ใช้ Freytag Pyramid ซึ่งเป็นโมเดลที่ถูกพัฒนาโดย Gustav Freytag มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 โดย Freytag ได้ศึกษาบรรดานิยายปรัมปราตั้งแต่สมัยโบราณและพัฒนาเป็น Dramatic Structure ที่บรรดาผู้สร้างละคร หนัง ฯลฯ นำมาปรับใช้กันอย่างแพร่หลาย และในช่วงหลังนักการตลาดก็ประยุกต์นำเอา Freytag Pyramid มาปรับใช้ในการเล่าเรื่องและสื่อสารทางการตลาดเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการนำเรื่องของการเล่าเรื่องมาใช้ในด้านการตลาดต่อบุคคลภายนอกแล้ว องค์กรก็สามารถนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ในการสื่อสารและเล่าเรื่องกลยุทธ์ขององค์กร โดยมีเป้าหมายคือบุคลากรภายใน ได้เช่นเดียวกัน

กลยุทธ์สำหรับปี 2563 อาจจะเป็นกลยุทธ์ที่ดี เจ๋ง และพร้อมจะรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ แต่ถ้ากลยุทธ์ดังกล่าวขาด Story ที่น่าสนใจ ก็ยากที่จะทำให้คนทุกระดับในองค์กรยอมรับ ทุ่มเท เพื่อทำให้กลยุทธ์ดังกล่าวบรรลุผล ที่สำคัญถ้าสามารถบอกเล่าเรื่องราวของกลยุทธ์ได้ดี จะช่วยตอบคำถามสำคัญในเรื่องของ Why หรือสาเหตุที่องค์กรเลือกใช้กลยุทธ์ดังกล่าว

ทั้งนี้เนื่องจาก เมื่อสื่อสารกลยุทธ์ หลายๆ องค์กรมักจะบอกเพียงแต่ว่ากลยุทธ์คืออะไร จะต้องทำอะไรบ้าง ฯลฯ แต่สิ่งที่ขาดไปคือสาเหตุที่มาของกลยุทธ์ดังกล่าว ดังนั้นเมื่อสื่อสารลงไปยังพนักงานระดับต่างๆ แล้ว ถ้าทุกคนเพียงแค่ทราบว่ากลยุทธ์คืออะไร จะต้องทำอะไร ทุกคนก็เพียงแค่ทำงานตามที่ได้รับคำสั่ง แต่ขาดใจในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ แต่เมื่อกลยุทธ์ได้รับการถ่ายทอดผ่านทางเรื่องเล่า จะทำให้ Why ของกลยุทธ์ได้รับการสื่อสารผ่านทางเรื่องเล่า

อีกประโยชน์หนึ่งของการบอกเล่าเรื่องราวของกลยุทธ์ คือเป็นโอกาสดีในการสื่อสารค่านิยมร่วม วัฒนธรรมองค์กร รวมทั้ง Purpose หลักขององค์กรผ่านทางเรื่องราวที่บอกเล่าด้วย โดยเฉพาะเรื่องค่านิยมร่วมและวัฒนธรรมองค์กรที่มักจะถูกแฝงไปกับการเล่าเรื่องราว

ไม่ใช่เพียงแค่ใช้การเล่าเรื่องในการสื่อสาร ถ่ายทอดกลยุทธ์ เท่านั้น พบว่ามีบริษัทระดับโลกบางแห่งที่ได้ประยุกต์เรื่องของการเล่าเรื่องหรือเล่านิทาน มาใช้ในการเขียนแผนกลยุทธ์ด้วยซ้ำ ซึ่งก็ช่วยในกำหนดกรอบความคิดของการคิดแผนให้ชัดเจนและมีที่มาที่ไปชัดเจนขึ้น