เราจะสามารถป้องกันไม่ให้เป็นโรคสมองเสื่อมได้อย่างไร (1)

เราจะสามารถป้องกันไม่ให้เป็นโรคสมองเสื่อมได้อย่างไร (1)

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2019 หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ตีพิมพ์บทวิเคราะห์เรื่อง What Science Tells Us About Preventing Dementia

ซึ่ง รวบรวมข้อมูลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ล่าสุด เพื่อแสวงหาแนวทางที่จะลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคสมองเสื่อม (โดยเฉพาะโรคอัลไซเมอร์) ซึ่งเป็นโรคที่มนุษย์ค้นพบมาแล้ว 114 ปี แต่ก็ยังไม่สามารถค้นคว้าหายามารักษาโรคนี้ได้ แม้จะได้มีความพยายามลงทุนลงแรงอย่างไม่ลดละของบริษัทยายักษ์ใหญ่หลายแห่ง 

ผมจึงขอนำเสนอข้อสรุปจากบทความดังกล่าวบวกกับข้อมูลจากองค์กรอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) เกี่ยวกับแนวทางที่เราสามารถปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคดังกล่าวให้น้อยลงได้มากที่สุด โดยจะขอนำเสนอประมาณ 4-5 ตอน จึงจะของดเว้นการเขียนเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจในเดือนธันวาคม แต่ก็ยังพูดคุยเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงที่สำคัญด้านเศรษฐกิจในรายการวิทยุ FM 96.5 ทุกๆ เช้าวันจันทร์ 9.00-10.00 น.ครับ

ดังที่ผมเคยเขียนมาก่อนหน้านี้ว่าโรคสมองเสื่อมนั้น ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดคือการแก่ตัว กล่าวคือตอนอายุ 1-65 ปี มีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมน้อยมาก แต่เมื่ออายุเกิน 65 ปีหรือมากกว่า โอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมประมาณ 10% แต่เมื่ออายุ 85 ปีหรือมากกว่า โอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1 ใน 3 ดังนั้นเมื่อประชากรของโลกกำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วจึงได้มีงานวิจัยเมื่อปี 2016 ชื่อว่า Global Burden of Disease Study มีข้อสรุปว่าจำนวนผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมได้เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวจาก 20.2 ล้านคนในปี 1990 มาเป็น 43.8 ล้านคนในปี 2016 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 88 ล้านคนในปี 2035 โดยจำนวนผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมในอนาคตนั้นจะเพิ่มขึ้นมากที่สุดในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางที่กำลังจะต้องเผชิญกับภาวะการแก่ตัวของประชากรที่กำลังจะเร่งตัวขึ้น 

ผมเชื่อว่าประเทศไทยน่าจะเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศดังกล่าว เพราะประชากรของประเทศไทยกำลังแก่ตัวอย่างรวดเร็วดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ทั้งนี้จากการประเมินของผมเองนั้นคาดว่าจำนวนคนไทยที่อายุ 70 ปีขึ้นไปจะมีจำนวนประมาณ 5.3 ล้านคนในปี 2020 และจะเพิ่มขึ้นอย่ารวดเร็วเป็น 11.5 ล้านคนในปี 2040 ซึ่งหากนำเอาการคาดการณ์ว่าผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไปมีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมประมาณ 20% ก็จะแปลว่าประเทศไทยอาจต้องมีผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมกว่า 1 ล้านคนในอีก 20 ปีข้างหน้า

ข่าวดีเกี่ยวกับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ล่าสุดคือข้อสรุปว่าเราสามารถปรับปรุงและดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคสมองเสื่อมลงไปได้ประมาณ 35% หมายความว่า หากโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมในวัยแก่เฒ่าเท่ากับ 30% ก็แปลว่าการปรับการดำเนินชีวิตให้ถูกต้องจะทำให้ความเสี่ยงจากการเป็นโรคสมองเสื่อมลดลงไปเหลือเพียง 10.5% ทั้งนี้ Wall Street Journal ได้รวบรวมข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อม ซึ่งเป็นผลมาจากงานวิจัยแบบ Meta Study (คือรวบรวมงานวิจัยต่างๆ มาวิเคราะห์หาข้อสรุปอีกที) ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet ดังนี้

157482537991

เป็นที่น่าสังเกตว่าการสำเร็จการศึกษาในระดับสูงช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคสมองเสื่อมได้มากถึง 8% และการดูแลไม่ให้หูหนวกตอนวัยกลางคนจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคสมองเสื่อมได้มากที่สุด (ในบรรดาปัจจัยเสี่ยงที่เราสามารถควบคุมได้) คือ 9% ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงที่เราควบคุมไม่ได้ที่สำคัญที่สุดคือการเกิดมาแล้วมียีนส์ (gene) APOE4 ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อม 7% กล่าวคือคนที่โชคดีไม่มียีนส์ดังกล่าวและปรับการดำเนินชีวิตให้อยู่ในกรอบที่ดี ดังที่ปรากฏในตารางข้างต้น ก็จะลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมได้มากถึง 42%

ในครั้งต่อไปผมจะมีรายละเอียดที่น่าสนใจและข้อมูลงานวิจัยที่ยืนยันการประเมินความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นมานำเสนออีกครับ