การรวมศูนย์ของธุรกิจคอนเทนท์ในโลกดิจิทัล

การรวมศูนย์ของธุรกิจคอนเทนท์ในโลกดิจิทัล

ยุคดิจิทัลเป็นยุคแห่งความมีเสรีภาพของสื่อ ใครๆ ก็สามารถผลิตคอนเทนต์ของตัวเองได้

ยุคดิจิทัล ตามที่ทุกคนเข้าใจ เป็นยุคแห่งความมีเสรีภาพของสื่อ ที่ใครๆ ก็สามารถผลิตคอนเทนต์ของตัวเองได้ และสามารถเผยแพร่ผ่านช่องทางดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น เฟสบุ๊ค ยูทูป หรือกระทั่ง ทวิช ในกรณีของ เกมเมอร์ และสามารถนำไปสู่ความโด่งดังอย่างช่วงข้ามคืน อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในยุคก่อนหน้า

ในยุคดิจิทัล ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปที่จะต้องมาง้อสื่อใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือวารสาร เพื่อให้นำเสนอคอนเทนต์ของตน ในยุคนี้คอนเทนต์ของใครที่แน่จริง ไม่ต้องห่วงเรื่องช่องทางของสื่ออีกต่อไป เพราะยุคดิจิทัลได้ปลดแอกการรวมศูนย์ของธุรกิจสื่อ ที่ได้ถูกดิสรัปต์จนล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมากแล้ว

แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่ได้คาดคิด คือการรวมศูนย์ในรูปแบบใหม่ กำลังเกิดขึ้นกับธุรกิจคอนเทนต์ในยุคดิจิทัล ที่มาพร้อมกับความเป็นโลกาภิวัตน์ โดยเทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาการติดต่อสื่อสารอย่างไร้พรมแดน จนกลายเป็นการรวมศูนย์ธุรกิจคอนเทนต์ในระดับโลก

จริงอยู่ ก่อนหน้ายุคดิจิทัล ธุรกิจคอนเทนต์ได้ถูกรวมศูนย์ในโครงสร้างที่สอดรับกับการรวมศูนย์ของธุรกิจสื่อ ทั้งนี้ เป็นเพราะต้องมีสื่อ จึงจะสามารถสามารถเผยแพร่คอนเทนต์ได้ แต่อย่างไรก็ดี การรวมศูนย์ในยุคก่อนหน้า ได้ถูกจำกัดไว้ด้วยพรมแดนทางกฎหมาย ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม โดยเริ่มต้นจากช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ที่มีการแบ่งแยกด้วยพรมแดนของประเทศอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทยมีช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดินของตัวเอง ที่แยกจากช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดินของประเทศเพื่อนบ้าน

ในอดีตการแบ่งแยกธุรกิจสื่อด้วยพรมแดนของแต่ละประเทศ ย่อมส่งผลให้ธุรกิจคอนเทนต์ต้องถูกแบ่งแยกด้วยพรมแดนของแต่ละประเทศเช่นกัน

เข้าสู่ยุคดิจิทัล พรมแดนดังกล่าวได้ขาดหายไป ไม่มีการแบ่งแยกธุรกิจสื่อด้วยพรมแดนของประเทศอีกต่อไป ลูกค้าจากเกือบทุกประเทศในนานาอารยประเทศ สามารถเข้าถึงเฟสบุ๊ค ยูทูป ทวิช และกระทั่ง เน็ตฟลิกซ์ ซึ่งเป็นธุรกิจแพลตฟอร์มของสื่อ นอกจากนี้บางธุรกิจ อย่างเช่น ยูทูป และเน็ตฟลิกซ์ ยังได้ผันตัวเองเข้าสู่การเป็นธุรกิจคอนเทนต์ ที่มีขนาดใหญ่ จนกำลังเข้าสู่การรวมศูนย์ของธุรกิจคอนเทนต์ในยุคดิจิทัล

ในปีปัจจุบันเน็ตฟลิกซ์มีงบประมาณในการซื้อคอนเทนต์ถึง 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 450,000 ล้านบาท ซึ่งได้ขยายตัวอยากรวดเร็วจาก งบประมาณเพียง 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2013

สำหรับผู้ที่เป็นลูกค้าของเน็ตฟลิกซ์ ย่อมต้องทราบดีว่าคอนเทนต์จำนวนมากของเน็ตฟลิกซ์มาจากนอกสหรัฐอเมริกา และจำนวนหนึ่งมาจากประเทศไทยเสียเองด้วย ดังนั้นส่วนหนึ่งของ 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ย่อมถูกนำมาใช้ในการซื้อคอนเทนต์จากประเทศไทย

ข้อได้เปรียบของแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างเช่นเน็ตฟลิกซ์ คือการที่สามารถลงทุนซื้อคอนเทนต์เพียงครั้งเดียว และสามารถขายให้กับลูกค้าของเน็ตฟลิกซ์ที่มีอยู่ทั้งโลก จึงเป็นข้อได้เปรียบของการประหยัดจากขนาดของธุรกิจหรือกำลังการผลิต (Economy of Scale) ที่เกิดขึ้นมาจากการรวมศูนย์ในระดับโลก

งบประมาณในการซื้อคอนเทนต์ของเน็ตฟลิกซ์ในปีปัจจุบัน มีขนาดที่ใหญ่กว่ามูลค่าของสื่อในประเทศไทย (ที่กำลังมีขนาดเล็กลงไปเรื่อยๆ) เกือบ 5 เท่า และหากเปรียบกับงบประมาณในการซื้อคอนเทนต์ของธุรกิจในประเทศ ซึ่งย่อมเป็นส่วนที่น้อยกว่ามูลค่าของสื่อในประเทศ อาจเป็นไปได้ว่างบประมาณในการซื้อคอนเทนต์ของเน็ตฟลิกซ์เพียงบริษัทเดียว มีมากกว่างบประมาณในประเทศไทยได้ราวสิบเท่า

อย่างไรก็ดี งบประมาณของเน็ตฟลิกซ์ มีไว้สำหรับซื้อคอนเทนต์ทั่วโลก จึงไม่แน่ชัดว่าสัดส่วนเท่าไหร่มีไว้สำหรับซื้อคอนเทนต์ในประเทศไทย ซึ่งหากงบประมาณของเน็ตฟลิกซ์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง อาจมีความเป็นไปได้ว่า ธุรกิจที่รวมศูนย์ในระดับโลกอย่างเช่นเน็ตฟลิกซ์ อาจมีอิทธิพลต่อการซื้อและผลิตคอนเทนต์ ทั้งหมดในประเทศไทย อย่างที่เหนือกว่าอิทธิพลของธุรกิจสื่อและคอนเทนต์ในประเทศเองก็เป็นได้

การรวมศูนย์ในระดับโลก เป็นสิ่งที่มาพร้อมกับความเป็นโลกาภิวัตน์ของโลกในยุคดิจิทัล ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย และก็เป็นโอกาศของผู้ผลิตคอนเทนต์ในประเทศ ที่จะได้เงินทุนจากเน็ตฟลิกซ์ ที่มาจากต่างประเทศ และก็จะเป็นโอกาสของผู้ผลิตคอนเทนต์ในประเทศอีกเช่นกัน ที่จะอาศัยแพลต์ฟอร์มของเน็ตฟลิกซ์ ไปสร้างความโด่งดังในตลาดโลก

แต่ที่แน่นอน การรวมศูนย์เหล่านี้อยู่ในมือของมหาอำนาจเพียงไม่กี่ประเทศ และไม่ได้อยู่ในมือของคนไทยเลย สิ่งที่ต้องถามตัวเอง คือเรามีความจำเป็นหรือไม่ ที่แพลตฟอร์มที่มีขนาดใหญ่และมีความสำคัญทางดิจิทัล จะต้องอยู่ในมือของคนไทย