5V ส่วนประสมดีๆที่ธุรกิจต้องมอง

 5V ส่วนประสมดีๆที่ธุรกิจต้องมอง

เมื่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการแข่งขันทางธุรกิจไม่หยุดนิ่ง เราจึงไม่สามารถหยุดคิด หยุดทำ และหยุดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้

ไม่ใช่เพียงระบบองค์กรที่เป็นแหล่งรวมของคนจำนวนมากที่มีเป้าหมายร่วมกัน หากแต่ต้องใส่ใจในเป้าหมายของแต่ละคนในองค์กร คิดสรร พัฒนา และทำให้เป้าหมายของทุกคนสอดรับกับทิศทางในอนาคตขององค์กร

 

การเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคเดิมๆที่ทุกคนคุ้นเคยแต่อาจมองข้ามไปในอดีตที่ผ่านมา และความท้าทายใหม่ๆที่ถาโถมเติมเข้ามาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้งของทุกองค์กร และต้องทำอะไรก็ได้เพื่อให้องค์กรอยู่รอดปลอดภัยและดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนในบริบทของคนทำงานในยุคนี้ไม่มีใครไม่กังวลถึงความก้าวหน้าทันสมัยและข่าวเหตุการณ์ที่หลายธุรกิจต้องปิดตัวลง ลดกำลังการผลิต หรือยกระดับอัพเกรดไปสู่ระบบใหม่ๆ

 

ในวงการการตลาดหลายคนคงเคยได้ยินคำว่า 4P (Product Price Place Promotion) ที่เรียกว่าส่วนประสมทางการตลาด (Marketing mix) และมีการอ้างอิงถึงกันทั่วไปในการบริหารการตลาด หรือเปลี่ยนไปผ่านการมองมุมใหม่ที่เรียกว่า 4C (Consumer Cost Convenient Channel) ซึ่งในทางด้านบริหารจัดการองค์กรและการดำเนินธุรกิจก็เช่นกัน มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ระบบงาน กระบวนการ เทคนิควิธีการทำงาน ทักษะความสามารถและกระบวนการคิดของคน มีพลวัตรเคลื่อนไหวไปตามสภาพแวดล้อมใหม่ที่สอดรับกับพฤติกรรมของลูกค้าและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก

 

ในยุคหนึ่งเมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมา ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการ หรือแม้แต่หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลโครงสร้างพื้นฐานและการบริการขั้นพื้นฐานจะมุ่งไปที่จะทำอย่างไรให้ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ได้รับสินค้าและบริการในคุณภาพที่ดีมีมาตรฐาน ต้นทุนที่ต่ำ และใช้เวลาที่ไม่นานจนเกินไป โดยไม่มีข้อบกพร่องผิดพลาดหลุดปนไปด้วย แต่เมื่อพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป เกิดแนวโน้มใหม่ในโลก องค์กรก็ต้องปรับตัวและให้น้ำหนักกับโมเดลการผลิต อาจเรียกว่าส่วนประสมทางการผลิต (Production mix) ซึ่งประกอบด้วย 5V

 

องค์กรในยุคเริ่มต้นจึงมุ่งเน้นไปที่ผลิตภาพ (Productivity) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสามารถการแข่งขันหลัก เพื่อขับเคลื่อนและตอบสนองต่อกลยุทธ์การดำเนินการที่เป็นเลิศ (Operational excellence) เพราะลูกค้าจะต้องเดินทางมาซื้อสินค้าที่ร้าน หรือมารับบริการที่สาขา เรียกว่าon Ground”

1.องค์กรมุ่งเน้นประสิทธิภาพ (Volume) ตัวชี้วัดสำคัญของการบริหารจัดการนี้จะมุ่งไปที่คุณภาพ ต้นทุน และการส่งมอบ การผลิตจำนวนมากให้เกิดการประหยัดต่อขนาดการผลิต จึงเป็นประเด็นที่สำคัญ การค้าการแข่งขันระหว่างประเทศ มาตรการทางภาษียังทำงานอย่างแข็งแรง การแข่งขันระหว่างกันของผู้ประกอบการภายในจึงไม่มาก ใครผลิตได้ดีมีต้นทุนที่ต่ำกว่า ย่อมมีกำไรมากกว่า

2.องค์กรมุ่งเน้นประสิทธิผล (Verify and/or Validate) แต่เมื่อถึงยุคที่มีการย้ายฐานการผลิต การส่งออกง่ายขึ้นมากขึ้น จากการค้าเสรีไร้พรมแดนและกำแพงภาษีที่ลดลง มาตรฐาน (standard) จึงเข้ามาทำหน้าที่แทน และไม่เพียงแต่มาตรฐานผลิตภัณฑ์เท่านั้น หากแต่มีมาตรฐานด้านกระบวนการผลิต ที่เราคุ้นเคยกันดี อาทิ ISO9000 ISO14000 หรือมาตรฐานเฉพาะอุตสาหกรรม อย่าง HACCP ในอุตสาหกรรมอาหาร จนถึงวันนี้มีมาตรฐานใหม่ๆออกมาอีกมากมาย

องค์กรในยุคถัดมาต้องเพิ่มเติมต่อยอดความสามารถเดิมๆ ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่แตกต่างหลากหลายของส่วนตลาดย่อย เรียกการทำตลาดในยุคนี้ว่า “on Demand” จึงต้องคิดสร้างสรรค์ (Creativity) เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดประสบการณ์ใหม่ๆและความพึงพอใจที่สูงขึ้นของลูกค้า (Customer intimacy)

3.องค์กรมุ่งเน้นความยืดหยุ่น (Variety) เมื่อตลาดเปลี่ยนจาก Mass market เป็น Segmentation การจำแนกแบ่งประเภทของลูกค้าออกเป็นกลุ่มย่อยๆ และพฤติกรรมของลูกค้ากลุ่มย่อยๆที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นตัวผลักดันให้ธุรกิจต้องสร้างทางเลือกและผลิตในจำนวนน้อยชิ้นลง

องค์กรในยุคปัจจุบันในยุคที่สินค้าบริการแทบจะทุกสิ่งทุกอย่างต้องไปโลดแล่นหรือมีปฏิสัมพันธ์ผ่านการออนไลน์แบบไร้สาย (on-Line) หรือผ่านสมาร์ทโฟน (on Mobile) ผ่านเทคโนโลยี (Technology) ที่ทันสมัย เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดสิ่งใหม่ในสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน หรือมีคนอื่นทำมาก่อนแล้วแต่ยังไม่ดีทั้งหมด (Product leadership)

4.องค์กรมุ่งเน้นความเร็ว ​(Velocity) เมื่อเวลาเป็นตัวชี้วัดการแข่งขัน ลูกค้าเริ่มไม่ขยับตัวจากที่ตั้ง ความสะดวกรวดเร็วจึงเป็นตัวตัดสิน ดังนั้นใครถึงลูกค้าก่อนได้เปรียบ ไม่ว่าจะเป็น mobile banking ที่เป็นสาขาเสมือนสำหรับลูกค้าแต่ละคน E-commerce App กลายเป็นช่องทางใหม่ในการเลือกซื้อและสั่งสินค้า ธุรกิจจัดส่งถึงบ้านถึงที่ทำงานจึงเติบโตอย่างรวดเร็ว

5.องค์กรมุ่งเน้นคุณค่า (Value) นอกจาก pain point ที่ถูกละเลย มองข้าม และไม่ให้ความสำคัญ แล้วยังมีความต้องการใหม่ๆ gain point ที่แต่ละตลาดย่อยคาดหวังให้เกิด เป็นประเด็นที่องค์กรยุคใหม่ต้องนำมาใช้เป็นโจทย์ใหม่ การทำงานแบบโครงการโดยบูรณาการทักษะที่แตกต่างจากหลายแผนก ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ได้อยู่เสมอ

 ประเด็นคือไม่ใช่ว่าองค์กรต่างๆ ต้องเลือกว่าจะบริหารจัดการองค์กรภายในให้มุ่งเน้นอะไรและไม่มุ่งเน้นอะไร หากแต่ต้องมุ่งเน้นทุกอย่างที่เป็นไปได้และสามารถทำได้ หากแต่จะให้น้ำหนักไปที่ V ตัวไหนมากเป็นพิเศษ ขึ้นอยู่กับว่าองค์กรหรือสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ท่านอยู่นั้น แนวโน้มตลาดและพฤติกรรมของลูกค้าขยับปรับตัวไปอยู่ในจุดใด แล้วองค์กรของเราได้ขยับปรับตัวให้สอดคล้องกันหรือไม่