Make Invisible Visible

Make Invisible Visible

“เพื่อเป็นโรงแรม Green เราตั้งเป้าการลดค่าไฟฟ้าให้ได้ 30%” คุณลิลลี่ เจ้าของโรงแรม Phuket Cannacia Resort & Spa กล่าวกับคนเรียน

เรากำลังอยู่ในหลักสูตร OSI: Innovating Inside-Out กับผู้บริหารเอเชียกว่า 30 ท่าน

“แต่จะทำอย่างไรล่ะ? แผนกช่างปรับทุกอย่างแล้ว ก็ลดไปได้ประมาณ 10% แล้วที่เหลือจะทำอย่างไรต่อ” เธอเล่าถึงสถานการณ์ขณะนั้น

“คำตอบไม่ได้อยู่ในระบบ แต่คำตอบอยู่ใน ‘นิสัย’ ของคน หากเราเปลี่ยนพฤติกรรมของคนได้ เราเชื่อว่าจะได้ตามเป้าที่วางไว้”

วิธีที่ Phuket Cannacia เลือกใช้คือ Make Invisible Visible

157443470339

ทางโรงแรมตัดสินใจซื้อแพลตฟอร์มการแสดงค่าไฟฟ้า ทำให้หัวหน้าแผนกทุกฝ่ายสามารถเช็คข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้ว่า ขณะนี้โรงแรมกำลังใช้ไฟฟ้าเท่าไหร่

“เท่านั้นแหละค่ะอาจารย์ พนักงานเปลี่ยนนิสัยไปเป็นคนละคน” คุณลิลลี่เล่าพลางหัวเราะพลาง ทุกคนตื่นเต้นและตื่นตัวอย่างมากกับการหาวิธีช่วยลดค่าไฟ สนุกกับการได้เห็นตัวเลขลดลงตามเป้า จาก 10% เป็น 20% เป็น 25% จนถึง 30% ในเวลาเพียงไม่ถึงปี นับตั้งแต่ลงระบบ

“For example, we had a problem of breaking the ‘peak’ usage threshold” เธอเล่าให้คนในห้องฟังว่า พอการใช้ไฟฟ้าสูงทะลุเพดาน ค่าใช้จ่ายจะพุ่งทันทีด้วยอัตราแปรผัน ซึ่งโดยลักษณะของงานโรงแรม เวลาการใช้ไฟเยอะจะเป็นช่วงห้าโมงเย็นถึง 2 ทุ่ม โจทย์นี้จึงถูกโยนเข้าในวงให้พนักงานช่วยกันคิดหา Innovation ใหม่ ๆ เพื่อลดค่าไฟ

แผนกช่าง แผนกห้องพัก แผนกครัว สุมหัวกันได้ไอเดียออกมาหลายอย่าง เช่น ปรับเวลาการล้างสระว่ายน้ำและรดน้ำสนาม ให้พ้นจากช่วงพีค เป็นการลดโหลดค่าไฟ

ส่วนแผนกต้อนรับก็ไม่น้อยหน้า เสนอความคิดว่าควรจัดกิจกรรมเพื่อดึงแขกออกจากห้องพัก เช่น ทำกิจกรรมกลางแจ้ง เล่นน้ำในสระ ไปจนถึงจัดรถ รับ-ส่ง ให้เที่ยวในเมืองภูเก็ต ลดการใช้แอร์

สุดท้าย โรงแรมประหยัดค่าไฟฟ้าไปได้หลายหมื่นบาท แต่ที่สำคัญ ได้ก้าวไปอีกก้าวสู่การประกอบธุรกิจแบบรักษ์โลก แบบ Sustainable Development

ข้อคิดสำหรับผู้นำสมอง

1. Make invisible visible ปัญหาของการชักชวนให้พนักงานช่วยลดไฟฟ้าคือ พลังงานเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น เมื่อไม่เห็นสมองมนุษย์ก็ไม่รับรู้ เมื่อไม่รับรู้ก็ไม่สำคัญที่จะทำ ข้อดีในยุค Open Source คือเราสามารถทำสิ่งที่มองไม่เห็นให้เห็นได้ สมัยก่อน มีเพียงสำนักงานไฟฟ้าเท่านั้นที่จะได้เห็นข้อมูลการใช้แบบเรียลไทม์ สมัยนี้ เพียงค่าใช้จ่ายรายพันบาทต่อเดือน คนส่วนใหญ่ก็สามารถสัมผัสกับข้อมูลด้วยตา BASE model บอกว่า การเปลี่ยนคนด้วย Belief เพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องใช้ Environment, Social, และ Action มาประกอบด้วย

2. Tap into People Potential เรื่องที่คนฟังในห้องถามคำถามกันมากที่สุดคือ ทำอย่างไรพนักงานจึงมีส่วนร่วมกันขนาดนี้ คุณลิลลี่บอกว่า ทั้งเธอและพี่สาวคือคุณจูดี้ ต่างทำงานกับทุกคนแบบครอบครัว “I take care of their family, and they take care of mine” เมื่อผู้บริหารพบปัญหาอะไรก็ไม่ได้คิดว่าเรารู้ดีกว่า แต่นำโจทย์ไปปรึกษาร่วมกันกับทีม หน้าที่ของผู้นำจึงเปลี่ยนจาก ‘ผู้เข็น’ เป็น ‘ผู้ดึง’ ต้องคอยปราม ๆ พนักงานไม่ให้แก้ปัญหาแบบดุดันเกินไป เช่น มีคนเสนอให้ปิดแอร์ทั้งวันเพื่อประหยัดไฟ แต่เธอบอกว่าไม่ต้องถึงขนาดนั้น เวลาบ่าย ๆ ตอนแดด

เปรี้ยงก็เปิดได้ มิเช่นนั้นจะกลายเป็นการสร้างปัญหาอื่นแทน นั่นคือพนักงานไม่สบาย ทำงานไม่ได้เพราะอากาศร้อนเกิน

น้องสาวผม จี๊ป ศิริธร ธำรงนาวาสวัสดิ์ Vice President ด้าน Sustainable Development ของ Singha Estate เจ้าของโครงการ Crossroads ที่ Maldives บอกว่า ความยั่งยืนต้องดูทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคม หากสิ่งแวดล้อมอยู่ได้แต่คนอยู่ไม่ได้ ก็ไม่ใช่ Sustainability ที่แท้จริง

3. Give Purpose and Power ผมสรุปให้คนในห้องฟังว่า เคสความสำเร็จของ Phuket Cannacia นี้มิใช่แค่การใช้ไฟฟ้า แต่เขาสามารถทำสิ่งที่ Invisible อย่าง Purpose ให้กลายเป็นสิ่งที่ Visible จับต้องได้ เมื่อพนักงานในทีมทุกคนรู้ว่าเป้าหมายของโรงแรม รู้เป้าประสงค์ของเจ้าของว่ามิใช่เพียงผลกำไร แต่เป็นการสร้าง Value สร้างอนาคตให้กับเกาะภูเก็ต ให้กับบ้านของทุก ๆ คน เมื่อเขาเห็นหัวหน้า แบกกระเป๋าบรรจุถุงผ้า บรรจุปิ่นโต แทนการรับถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เมื่อเขาได้ยินผู้จัดการสั่งให้เลือกอาหารจากร้านค้าที่ไม่ใช้กล่องโฟมเท่านั้น Purpose จึงกลายเป็นรูปธรรม

ทั้งแม่บ้าน ทั้งฟร้อนท์ บอกผมว่า “เดี๋ยวนี้หนูก็ไม่รับถุงพลาสติก ไม่รับกล่องโฟม ถือแล้วรู้สึกผิด ตอนนี้เลยแบกทั้งกระบอกน้ำ แบกทั้งถุงผ้า แบกทั้งกล่องข้าวเหมือนกับคุณจูดี้และคุณลิลลี่เลยค่ะ”

Make the invisible visible ครับ!