การสร้างคนของญี่ปุ่นเพื่อรับมือกับโลกที่กำลังจะมาถึง

การสร้างคนของญี่ปุ่นเพื่อรับมือกับโลกที่กำลังจะมาถึง

ญี่ปุ่นมีระบบการศึกษาที่สามารถผลิตคนคุณภาพออกมาให้ประเทศได้อย่างต่อเนื่อง จุดเด่นของการศึกษา

 โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แบบองค์รวมของนักเรียน ซึ่งมีทั้งที่ในชั้นเรียนและการเรียนรู้นอกห้องเรียน เป็นการเรียนรู้จากการทำงานจริง เรียนรู้โดยตรงจากประสบการณ์ ให้ความสำคัญกับทักษะทางวิชาการและการสร้างลักษณะนิสัยที่ดี ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการประสบความสำเร็จในอนาคต

ด้วยเหตุนี้แม้ว่าจะญี่ปุ่นจะยึดเอาครูเป็นแกนกลางในการจัดการเรียนรู้ แต่เป็นการดำเนินการควบคู่ไปกับการนำบุคคลภายนอกที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการจัดการเรียนรู้เฉพาะเรื่องมาช่วย เช่นศิลปะการต่อสู้ คอมพิวเตอร์ การออกแบบ ดนตรี การทำงานหัตถกรรม รวมถึงการจัดการเรียนรู้สำหรับนักเรียนพิการ หรือนักเรียนต้องการความใส่ใจเป็นพิเศษ เป็นต้น

หากมองย้อนกลับไป การปฏิรูปการศึกษาของญี่ปุ่นหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงฟื้นตัวจากสงคราม โรงเรียนถูกคาดหวังไว้สูงว่าจะสามารถสร้างคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ที่สามารถนำประเทศไปสู่การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้การจัดการเรียนรู้จึงพยายามส่งเสริมการพัฒนาทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ การนำความรู้ทางคณิตศาสตร์ไปใช้กับปัญหาในชีวิตจริง และการใช้ประสบการณ์การเรียนรู้แบบปฏิบัติจริงมาเสริมตามความเหมาะสม

ในขณะเดียวกันโรงเรียนก็กดดันให้รับผิดชอบและแสดงหลักฐานเชิงปริมาณของความสำเร็จออกมาเป็นรูปธรรม ด้วยสภาพการแข่งขันในการเรียนที่สูง ทำให้เกิดข้อกังวลใจว่าจะทำลายความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน รวมถึงการขาดความเชื่อมโยงการเรียนไปสู่โลกของงานที่แตกต่างจากในอดีตไปมากแล้ว

เพื่อรับมือกับการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับลงทุนด้านการศึกษาโดยเฉพาะเด็กเล็กก่อนวัยเรียนจนถึงระดับประถมศึกษา ควบคู่ไปกับการยกระดับการศึกษาระดับอุดมศึกษาเพื่อเพิ่มทุนมนุษย์และเพิ่มบทบาทของมหาวิทยาลัยในการสร้างนวัตกรรม โดยกำหนดนโยบายในการปฏิรูปการศึกษาไว้ 4 เรื่องดังนี้

1.พัฒนาความสามารถในการอยู่รอดในสังคมยุคใหม่ให้เป็นผู้ที่สามารถพึ่งพาตนเอง สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นในโลกที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้

2.พัฒนากำลังคนเพื่อสร้างอนาคต ด้วยการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณค่าของสังคม ผ่านผู้นำในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม

3.สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเรียนรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ที่หลากหลายได้

4.สร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน เพื่อให้ชุมชนเหล่านี้ช่วยกันสร้างคนที่มีคุณภาพ ที่จะออกไปสร้างสังคมที่ดีขึ้นต่อไป

การนำนโยบายนี้ไปใช้ในระยะแรกให้ความสำคัญกับการปรับปรุงหลักสูตรและการปรับโครงสร้างโรงเรียนเพื่อให้เหมาะกับการจัดการเรียนรู้ตามนโยบายที่ให้ไว้ การดำเนินการระยะต่อไปจะให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ทุกช่วงวัยและการบริหารจัดการต้นทุนการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา

รัฐบาลญี่ปุ่นได้เชิญให้ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือโออีซีดี มาประเมินผลการปฏิรูปและจัดทำข้อเสนอสำหรับการดำเนินการในระยะต่อไป โดยข้อเสนอมี 5 ประเด็นด้วยกัน ดังนี้

1.การปรับปรุงหลักสูตรการเรียนรู้ในช่วงปี 2563-2565 ควรให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริงเพื่อพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนใน 3 ด้านด้วยกัน คือ 1.การสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน 2.การสร้างความรู้และทักษะเชิงเทคนิคที่จำเป็นต่อการทำงาน และ 3.การสร้างทักษะในการคิด ตัดสินใจ แสดงความคิดเห็น รวมถึงต้องมีระบบการประเมินผลที่สอดคล้องกับแนวทางการจัดการเรียนรู้ดังกล่าว

2.ปฏิรูประบบการสร้างครู ให้ครูสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตการทำงาน เพื่อให้มีทักษะและความรู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ต้องมีการปรับแนวทางในการบริหารจัดการสถานศึกษา การประเมินผลการทำงานของครู ควรลดภาระการทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอน เพื่อให้สามารถใช้เวลาในการเตรียมการสอนและการพัฒนาตนเอง

3.ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดและเข้มแข็งระหว่างโรงเรียนและชุมชน เพื่อการจัดการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวมเหมือนกับที่ประเทศญี่ปุ่นดำเนินการอยู่แล้ว โดยให้ความสำคัญการลดภาระการทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอนของครู ควบคู่ไปกับการเพิ่มบทบาทของชุมชนในฐานะของพันธมิตรที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้

4.ให้ความสำคัญกับความเสมอภาคด้วยเครื่องมือทางการเงิน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเรียนของครอบครัวด้วยการให้เงินอุดหนุนสำหรับเด็กเล็กก่อนวัยเรียน เงินช่วยเหลือค่าใช้จ่าย รวมถือการให้เงินสนับสนุนเพื่อให้ผู้ด้อยโอกาสได้เรียนต่อในระดับการศึกษาที่สูงกว่าภาคบังคับ

5.ปรับบทบาทของสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทุกช่วงวัย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยทำงานและผู้สูงวัย รวมถึงควรมีแนวทางในการคัดเลือกผู้เข้ามาเรียนต่อที่เหมาะสมกับบทบาทที่เปลี่ยนไปของสถานศึกษาด้วย

แนวทางเหล่านี้กระทรวงศึกษาธิการของไทยก็ได้นำมาใช้แล้วเหมือนกัน ต้องมาดูกันว่าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ใครจะไปถึงฝั่งฝันได้ก่อน