ไทยกับการส่งเสริมความเชื่อมโยงการพัฒนาในอาเซียน

ไทยกับการส่งเสริมความเชื่อมโยงการพัฒนาในอาเซียน

อาเซียนได้พัฒนาเป็น “ประชาคมทางการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม” บูรณาการให้เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแท้จริง

 ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายเพราะสมาชิกทั้ง 10 ประเทศมีความหลากหลายทางการเมือง วัฒนธรรม และระดับการพัฒนา รวมไปถึงเร่งสร้างความเชื่อมโยงทางกายภาพ เน้นเส้นทางคมนาคมให้เป็นรูปเป็นร่างก่อน เพราะจะเป็นช่องทางอำนวยความสะดวกให้ชาวอาเซียนไปมาหาสู่และใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยมีแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. 2025 เป็นกรอบดำเนินการ ซึ่งไทยเป็นผู้เสนอเมื่อปี 2009 และได้มีบทบาทอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับทวิภาคีกับประเทศเพื่อนบ้าน ระดับอนุภูมิภาคผ่านกรอบ ACMECS และระดับภูมิภาค

อาเซียนตระหนักดีถึงประโยชน์ของการมีเครือข่ายคมนาคมที่เชื่อมโยงถึงกัน และการมีกฎระเบียบด้านศุลกากรที่สอดคล้อง เพราะสิ่งนี้จะช่วยลดต้นทุนทางโลจิสติกส์ เพิ่มปริมาณการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEAN Connectivity Symposium ที่โรงแรม Centara Grande เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ธนาคารในภูมิภาค และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และให้เกิดการเร่งรัดความร่วมมือเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงด้านกายภาพดังกล่าวมากขึ้น

เมื่อปี 2017 ต้นทุนทางโลจิสติกส์ของไทย ซึ่งประกอบด้วยค่าขนส่ง ค่าเก็บรักษา และค่าบริหารจัดการ เท่ากับ 13.6% ของ GDP สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกซึ่งอยู่ที่ 11% การลดต้นทุนโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของไทย และเกี่ยวข้องกับการสร้างความเชื่อมโยงโดยตรง ตัวอย่างของเรื่องนี้คือ การที่ผู้นำ ACMECS เห็นชอบให้เร่งดำเนินโครงการตามระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก- ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) เพื่อลดระยะเวลาในการเดินทางและขนส่งสินค้าจากเมืองเมาะลำไย ในเมียนมาผ่านไทยและลาว ไปท่าเรือดานังในเวียดนาม จากที่ใช้เวลาเกือบ 5  วัน เป็น 30  กว่าชั่วโมงให้ได้

ความท้าทายที่หลายประเทศประสบคือ ความต่อเนื่องของนโยบายและข้อจำกัดด้านงบประมาณ เพราะโครงสร้างพื้นฐานมักเป็นเมกะโปรเจกต์ที่ใช้งบประมาณสูงและต้องได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบาย ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นโยบายอาจเปลี่ยนไปได้ และแม้ว่าจะมีความต่อเนื่องทางนโยบาย แต่ประเทศส่วนใหญ่มีข้อจำกัดเชิงงบประมาณ และไม่สามารถทำหลายโครงการไปพร้อมกันเพราะจะกระทบสถานะการคลังของประเทศ โครงสร้างพื้นฐานในอาเซียนเท่าที่มีอยู่จึงยังไม่เพียงพอ

เมื่อรัฐบาลไม่สามารถรับภาระเหล่านี้ไว้เพียงฝ่ายเดียว ทางออกหนึ่งคือการชักชวนให้ภาคเอกชนมาร่วมลงทุนในรูปแบบหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐ-ภาคเอกชน หรือ public-private partnership (PPP) โดยภาครัฐอาจตกลงให้ภาคเอกชนก่อสร้างโครงการ แล้วเป็นผู้จัดเก็บรายได้จากผู้ใช้บริการภายในระยะเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นค่อยส่งมอบโครงการให้เป็นของรัฐ ซึ่งทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องพร้อมรับความเสี่ยงทั้ง 2 ฝ่าย ข้อดี ของ PPP คือ ภาคเอกชนมีเทคโนโลยี นวัตกรรม และความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มากกว่าภาครัฐ ทำให้เกิดการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีระหว่างกัน และยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนและการบริหารจัดการ

ตัวอย่างความสำเร็จของ PPP ในอาเซียน คือ โครงการรถไฟฟ้า BTS ของไทยเมื่อปี 2006 และโครงการ PPP for School Infrastructure Project (PSIP) ในฟิลิปปินส์ เพื่อก่อสร้างโรงเรียนทั่วประเทศ โดยโครงการระยะที่ 2 ในปี 2019 จะสามารถสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติมได้ในโรงเรียนกว่า 1,900 แห่ง

ส่วนไทย ล่าสุดได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และจัดตั้งคณะกรรมการ PPP รวมทั้งทำแผนยุทธศาสตร์ PPP ปี 2560 -2564 ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่จะทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมของประเทศกับภูมิภาค

นอกจากความร่วมมือรูปแบบ PPP แล้ว รัฐบาลยังมีทางเลือกระดมทุนด้วยการกู้เงินดอกเบี้ยต่ำ จากสถาบันการเงินด้านการพัฒนาในระดับภูมิภาคด้วย เช่น ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank – ADB) ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation – JBIC) และธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank - AIIB)

การสร้างความเชื่อมโยงเพื่อให้อาเซียนเป็นประชาคมที่ไร้รอยต่ออย่างสมบูรณ์เป็นเป้าหมายระยะยาว ที่ทุกประเทศต้องช่วยกัน เพราะเป็นผลประโยชน์ของประชาชนในภูมิภาคร่วมกันในระยะยาว โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนทั้งในอาเซียนและจากประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนานอกภูมิภาคได้มีส่วนร่วม เวทีที่เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องนี้คือ การประชุม ASEAN Connectivity Symposium ที่กล่าวถึงข้างต้น ขณะเดียวกันก็ต้องติดตามต่อไปด้วยว่า ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ระหว่างวันที่ 2-4 พ.ย. 2562 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ จะมีความคืบหน้าในเรื่องนี้อย่างไรต่อไป

โดย... กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ