สังคมออนไลน์กับโรคซึมเศร้า...

สังคมออนไลน์กับโรคซึมเศร้า...

ในสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วดูเหมือนว่าเราจะพบเห็นคนเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้นจนน่าประหลาดใจ บางคนถึงขนาดตัดสินใจฆ่าตัวตาย

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตระบุว่าปีที่แล้วมีคนพยายามฆ่าตัวตาย 53,000 คน และฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คนทุกๆ 2 ชั่วโมง ภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นได้ง่ายในยุคปัจจุบันและอาจจะเกิดกับคนใกล้ตัว อย่างเพื่อนร่วมงานหรือคนในครอบครัวของเราก็ได้ เราควรเรียนรู้วิธีการช่วยเหลือคนเหล่านี้

ดิฉันได้ฟัง คุณหมอประเวช ตันติพิวัฒนสกุล จิตแพทย์ พูดถึงสาเหตุสำคัญของโรคซึมเศร้าที่ไม่ใช่มาจากเรื่องสารเคมีในสมองว่ามี 5 สาเหตุิ

1)สังคมที่เปลี่ยนไปทำให้ผู้คนอยู่กันอย่างเหินห่าง มีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง คนมีความเป็น individual มากขึ้น มีทีวีในห้องส่วนตัว ชอบอยู่กับตัวเอง อยู่กับโทรศัพท์มือถือ จึงเกิดความโดดเดี่ยวและความเหงามากขึ้นตามไปด้วย บางคนไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไม่ว่าจะเป็นในครอบครัว โรงเรียน หรือที่ทำงาน

2)ลักษณะการทำงานที่ซ้ำซากไม่สนุก มองไม่เห็นว่างานที่ตัวเองทำมีคุณค่าอย่างไร บางคนต้องทนทำงานที่ไม่ใช่และไม่ได้ชอบเพื่อแค่หาเงินมาเลี้ยงชีพ ทำให้ความภาคภูมิใจในงานที่ทำหายไป และยังมีค่านิยมในการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น เช่นเมื่อไปส่อง face book แล้วเห็นคนอื่นเขาใช้ชีวิตดูดี ไปกิน ไปเที่ยว แล้วกลับมามองเห็นตัวเองว่าไม่ดีเด่นเท่าเขา เวลาจะโพสต์อะไรแล้วก็คอยแต่สนใจว่าจะได้ยอด like เท่าไหร่ ทั้งๆ ที่มันเป็นการแสดงออกแบบฉาบฉวยและเสแสร้งไปตามค่านิยมของสังคมออนไลน์

3)การใช้ชีวิตที่ห่างเหินจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกินที่ผ่านกระบวนการผลิต การออกกำลังกายและนอนหลับไม่เพียงพอ ใช้ชีวิตไม่สมดุลย์ และการกินยาปฏิชีวนะต่างๆ ที่ไปฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ให้ตายไปหมด

4)การมีปมค้างใจในชีวิตมาตั้งแต่วัยเด็กซึ่งอาจจะเกิดจากคนและความรุนแรงในครอบครัว และยังฝังใจอยู่

5)ไม่มีทักษะทางการคิดและทักษะในการจัดการปัญหา ทำให้ไม่สามารถจัดการกับความยุ่งยากซับซ้อนและอารมณ์ของตัวเองได้ จึงทำให้เกิดความเครียด

ตอนนี้จิตแพทย์จึงต้องทำงานหนักมาก มีพ่อแม่ผู้ปกครองพาลูกมาปรึกษากันเยอะมาก เพราะเด็กและวัยรุ่นสมัยนี้เกิดมาท่ามกลางความสะดวกสบายและจัดการกับอารมณ์ของตัวเองไม่ได้ บางครั้งถึงกับระเบิดออกมา ถ้าระเบิดใส่ใครไม่ได้ก็มักจะมาลงกับตัวเองทำให้หลายคนตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า self esteem ความภาคภูมิใจในตัวเอง แทบจะไม่มีเหลือเพราะมัวแต่แสวงหาการยอมรับจากผู้อื่นตามโลก social ไปวันๆ

ดิฉันคิดว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะคนจำนวนไม่น้อยตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะมีภาวะซึมเศร้า สิ่งที่เราต้องช่วยกันทำเพื่อช่วยเหลือคนเหล่านี้คือ ฝึกให้เขามีทักษะการคิดและการจัดการสภาวะอารมณ์ ให้เรียนรู้วิธีจัดการกับความผิดหวัง ความล้มเหลว หรือความสำเร็จ ชัยชนะที่ตนเองได้รับ และฝึกเรื่องความอดทนอันเป็นวุฒิภาวะที่สำคัญมากที่ทำให้เกิดความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ และทางกายวาจาให้ดีขึ้น ฝึกที่จะไม่บ่นเวลาที่ต้องทำงานหนักเพราะเป็นการเปิดให้เห็นว่าตัวเองเป็นคนอ่อนแอไม่พร้อมที่จะสู้ ฝึกชื่นชมตัวเองเมื่อทำงานยากได้สำเร็จเพื่อทำให้ตัวเองมีกำลังใจและฮึกเหิมมากขึ้น

นอกจากนี้คนรอบข้างยังช่วยพวกเขาได้ด้วยการให้ ความรักและความใส่ใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการ ความรักและความใส่ใจนั้นถ้าเรามีแล้วจะเก็บไว้ในใจไม่ได้ ต้องแสดงออกมาและมอบให้กับพวกเขา ซึ่งเราสามารถแสดงออกมาผ่านการกระทำดังนี้

1)พูดชมเชยเมื่อพวกเขาทำอะไรได้สำเร็จ บอกรัก และฟังพวกเขาพูดอย่างตั้งใจ ต้อง connect กับพวกเขาด้วยสายตาและพูดออกมาจากใจ 

2)สัมผัสทางกายด้วยการกอดอย่างจริงใจเพื่อแสดงความรัก หรือตบบ่าเบาๆ เพื่อให้กำลังใจ

3)ให้สิ่งของที่เขาชอบเพื่อแสดงความรักและการขอบคุณ

4)ให้ความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้เพื่อให้รู้ว่าเรารักและห่วงใย เช่นช่วยทำงานแบ่งเบาภาระ หรือทำอาหารด้วยกัน

5)ใช้เวลาที่มีคุณภาพร่วมกัน เช่นไปนั่งดื่มกาแฟด้วยกัน พูดคุยถามสารทุกข์สุกดิบ เมื่ออยู่ด้วยกันก็ไม่เล่นแต่โทรศัพท์มือถือหรือสนใจอย่างอื่น

เหล่านี้เป็นวิธีแสดงออกถึงความรักเพื่อให้พวกเขาได้รับรู้ว่าพวกเขามีค่าและสำคัญกับเรามากแค่ไหน การแสดงออกถึงความรักที่กล่าวมานี้สามารถเลือกใช้ได้ในสังคมทุกระดับไม่ว่าจะเป็นในครอบครัวระหว่างพ่อ แม่ ลูก ในที่ทำงานระหว่างเจ้านาย ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน เพื่อทำให้พวกเขารู้สึกถึงคุณค่าและความหมายของตัวเองอย่างแท้จริงและเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง

เมื่อใดที่เราใช้ความรักและความใส่ใจช่วยให้คนเกิดความภาคภูมิใจและ fully connect กับ values ในตัวเขาเองได้ เมื่อนั้นเขาจะเกิด self esteem และมีความเชื่อมั่นว่าเขาทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้ เขาจะไม่มีความคิดว่าเขา “ยังไม่เก่ง” หรือ “ยังไม่ดีพอ” จิตใจที่เหี่ยวเฉาก็กลับมาสดชื่น คนอื่นไม่ได้ทำให้เขารู้สึกด้อยและต้อยต่ำ

มาช่วยกันเติมเต็มความรักและความใส่ใจให้กับคนรอบข้างเพื่อสร้างให้สังคมของเราสดใสมากขึ้นกันเถอะค่ะ