พัฒนาประเทศแบบญี่ปุ่น เริ่มต้นที่โรงเรียน (1)

พัฒนาประเทศแบบญี่ปุ่น เริ่มต้นที่โรงเรียน (1)

เหตุใด ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่เรามีความใกล้ชิด-นิยมชมชอบ ทั้งในแง่วัฒนธรรมและการพัฒนาทางเศรษฐกิจถึงได้มีความเจริญมากเมื่อเทียบกับบ้านเรา

ประเทศญี่ปุ่นนั้นบอบช้ำอย่างหนักหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งในทางสังคมและเศรษฐกิจ แต่เพราะความมีวินัยและสามัคคีของคนในชาติจึงทำให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองเป็นมหาอำนาจในทางเศรษฐกิจมาจนถึงทุกวันนี้ ผมเชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่สงสัยว่า แล้วในโรงเรียนญี่ปุ่นเขาสอนอะไร มีหลักสูตรพิเศษอะไรกัน ที่ทำให้เยาวชนของเค้ารู้จักหน้าที่ มีวินัย เติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างมีคุณภาพ

โรงเรียนในญี่ปุ่นมีความคล้ายคลึงกับไทยอย่างมาก เริ่มที่มีการแบ่งช่วงชั้นเป็น อนุบาล ประถม มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา โดยมีการศึกษาภาคบังคับเป็นเวลา 9 ปีในช่วงชั้นประถมและมัธยมต้น ทำให้เด็กญี่ปุ่นกว่า 16 ล้านคนล้วนอ่านออกเขียนได้ทั้งสิ้น โดยอัตราผู้ที่ไม่รู้หนังสือเกือบเท่ากับศูนย์ เด็กไปโรงเรียนใกล้บ้านเพราะคุณภาพโรงเรียนในช่วงการศึกษาภาคบังคับมีมาตรฐานที่ใกล้เคียงกัน

พอจบ ม.ต้น จึงเลือกทางเดินว่าจะต่อสายอาชีพหรือสายสามัญเหมือนกับไทย ต่างกันตรงที่ค่านิยมของคนญี่ปุ่นนั้นไม่ได้โน้มเอียงผิดรูปเหมือนอย่างไทยที่นิยมให้เด็กต่อสายสามัญ ทั้งที่ตลาดแรงงานของไทยต้องการแรงงานมีฝีมือเฉพาะทางและช่างเทคนิคซึ่งจบสายอาชีพมากกว่า

หลักสูตรของญี่ปุ่นมี 3 เทอม ปิดเทอมใหญ่ประมาณ 6 สัปดาห์ และปิดเทอมเล็ก 2 ครั้งๆละ 2 สัปดาห์ หลักสูตรถือว่าเข้มข้นกับการเรียนเพราะเรียนถึงวันละ 6-8 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 5 วัน เหมือนคนไทย ต่างกันตรงที่ในช่วงปิดเทอมเด็กญี่ปุ่นมีการบ้านไปทำด้วย ห้องเรียนของญี่ปุ่นมีจำนวนนักเรียนบวกลบอยู่ที่ระดับ 40 คนซึ่งก็ถือว่าไม่ใหญ่จนเกินไป

หลักสูตรปฐมวัยของญี่ปุ่นเน้นการคำนวณมากกว่าด้านภาษาและวิทยาศาสตร์ ซึ่งโดยเด็กญี่ปุ่นจะใช้เวลาเกือบ 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์กับวิชาคณิตศาสตร์โดยเฉพาะ ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของเด็กทั่วโลก สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับหลักสูตรคือ คอร์สพิเศษหลักเลิกเรียนได้รับความนิยมอย่างมากจากเด็กและผู้ปกครอง ซึ่งเน้นไปที่ศิลปะและโคลงฉันท์กาพย์กลอนเพื่อสันทนาการ ยกระดับและจรรโลงจิตใจ หรือจะเป็นคอร์สพิเศษนอกโรงเรียนที่เน้นวิชาภาษาอังกฤษ หรือดนตรี เป็นต้น

นอกจากนี้ เด็กยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับทักษะที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เย็บปักถักร้อย การทำอาหาร หรือประดิษฐ์สิ่งของ หรือที่เราเรียกแบบไทยสั้นๆว่า กพอ. การงานพื้นฐานอาชีพ

หลักสูตรอนุบาลถึงแม้จะไม่ได้เป็นหลักสูตรภาคบังคับ แต่ก็เป็นที่นิยมของคนญี่ปุ่นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่พ่อแม่คนญี่ปุ่นที่ยุ่งอยู่กับการประกอบอาชีพมักส่งลูกไปเรียนหลักสูตรก่อนอนุบาล ซึ่งก็มีผลวิจัยยืนยันว่าการส่งลูกเข้าเรียนช่วงก่อนอนุบาลนั้นส่งผลบวกต่อการพัฒนาของเยาวชนเทียบกับเด็กที่ไม่ได้เรียนหลักสูตรอนุบาลอย่างมีนัยสำคัญ

หลังจากจบมัธยมศึกษาตอนต้น การแข่งขันจึงได้เริ่มต้นขึ้นเพราะสิ้นสุดการศึกษาภาคบังคับแล้ว ทุกคนก็อยากเข้าโรงเรียนที่ดีเพื่อเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยซึ่งมีการสอบที่เข้มข้นมาก สังเกตได้จากจำนวนของผู้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยนั้นจะเหลือเพียง 75% ของจำนวนเด็กนักเรียนในชั้นมัธยมปลาย การแข่งขัน และมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงนั้นก็มีจำนวนไม่มาก

ดูแล้วชีวิตของนักเรียนญี่ปุ่นกับนักเรียนไทยก็มีความเหมือนมากกว่าความต่าง แล้วเพราะเหตุใดประเทศญี่ปุ่นถึงได้พัฒนาก้าวล้ำกว่าไทยหลายขุม?

เด็กนักเรียนญี่ปุ่นนั้นมีวินัยอย่างมากต่อการเรียน ไม่ค่อยโดดเรียน ตรงต่อเวลา เชื่อฟังคำสั่งครูอย่างเคร่งครัด และที่สำคัญคือเด็กญี่ปุ่นถูกปลูกฝังให้มีความรับผิดชอบผ่านการทำความสะอาดห้องเรียนของตนเอง ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของการเติบโตเป็นพลเมืองที่ดี นิสัยที่ฝึกฝนจนกลายมาเป็นพฤติกรรมเหล่านี้ สังเกตได้จากบ้านเมืองที่สะอาด หรือสนามกีฬาที่บรรจุคนเรือนหมื่นหลังจากเกมส์จบที่กลับไม่พบขยะสักชิ้น นี่คือจุดเริ่มต้นของความแตกต่างของนักเรียนญี่ปุ่นกับนักเรียนไทย

ผมขอเกริ่นนำคำตอบแต่เพียงเท่านี้ ฉบับหน้าผมจะมาอรรถาธิบายต่อครับ