การพัฒนาไม่ผ่านเพราะข้าราชการยังสอบตก

การพัฒนาไม่ผ่านเพราะข้าราชการยังสอบตก

ในบทความเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ผมพูดถึงปัจจัยที่ทำให้การศึกษาไทยอยู่ในภาวะสอบตก ผมอ่านปัจจัยจากการได้เข้าไปสนับสนุนโรงเรียนใน อบ้านนา จนครนายก

ดังที่อ้างถึงในบทความดังกล่าว ในกระบวนการสนับสนุนนั้นและการได้ทำงานกับข้าราชการมาบ้างทำให้คิดว่า ถ้ามองแบบมองการศึกษา ข้าราชการไทยน่าจะอยู่ในภาวะสอบตกเช่นกัน เหตุปัจจัยมีหลายอย่าง

ปัจจัยพื้นฐานได้แก่การทำงานแบบไร้ฉันทะ หรือติดอยู่แค่เรื่องสมมติ พุทธศาสนิกชนทุกคนเข้าใจเรื่องฉันทะ ฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องอธิบายเนื่องจากข้าราชการส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ ส่วนเรื่องสมมติได้แก่กฏกติกาที่สังคมตั้งขึ้นมาเพื่ออยู่ร่วมกัน ในกรณีของข้าราชการ เราตั้งกติกาว่าผู้ที่เข้ามาเป็นข้าราชการต้องทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือชุดหนึ่งและได้รับค่าตอบแทนซึ่งอยู่ในรูปของรายได้ ความมั่นคง ตำแหน่ง อำนาจ และสถานะ หรือเกียรติที่มากับงานนั้น

แรงจูงใจหลักของผู้แสวงหางานราชการส่วนใหญ่มิใช่การรักอย่างจริงใจ หรือฉันทะที่จะทำงานที่ตนรับทำ หากเป็นค่าตอบแทนในรูปต่างๆ ดังกล่าว ในกรณีของข้าราชการครู เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าจำนวนมาก หรืออาจเป็นส่วนใหญ่ หากเลือกได้จะไม่เลือกอาชีพครู แต่เลือกเพราะครูเป็นอาชีพที่มีรายได้ในระดับดีพร้อมกับมีความมั่นคงและทรงเกียรติ ครูจึงทำงานไปตามกติกาที่สมมติขึ้นมามากกว่าที่จะทุ่มเทเวลาทำงานด้วยปัญญาในฐานะกัลยาณมิตรของเด็ก ส่วนด้านการแสวงหาปัญญามักเป็นในรูปของการทำปริญญา ทำเอกสาร การประชุมสัมมนาตามกติกาของระบบราชการมากกว่าการอ่านและการค้นคว้าหาความแตกฉานแบบต่อเนื่องด้วยตัวเอง เท่าที่สังเกตได้ ประเด็นนี้มิใช่จะจำกัดอยู่แต่ในอาชีพครูเท่านั้น หากยังครอบคลุมไปทั่วระบบราชการอีกด้วย

ความไม่รู้จริง หรือขาดปัญญาก่อให้เกิดปัญหามากขึ้นเมื่อรวมเข้ากับปัจจัยอื่น เช่น อำนาจ ระบบเจ้าขุนมูลนายและความไม่โปร่งใส ไร้ธรรมาภิบาล หรือฉ้อฉล ผมมีตัวอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในโครงการสนับสนุนโรงเรียนใน อ.บ้านนาดังกล่าว หนึ่งในหลายๆ กิจกรรมที่โครงการสนับสนุนได้แก่การทำสวนครัวอินทรีย์บนพื้นที่เกือบ 2 ไร่ของโรงเรียนชั้นประถมขนาดเล็กแห่งหนึ่ง นอกจากพืชผักล้มลุกที่นักเรียนปลูกแบบหมุนเวียนไว้สำหรับใช้ทำอาหารกลางวันในพื้นที่ราว 1 งานแล้ว เราให้ปลูกอีกหลายอย่างรวมทั้งกล้วย ตะไคร้และข่า นอกจากจะให้ผลแล้ว ต้นกล้วยยังเป็นกำแพงป้องกันสารเคมีที่ชาวนาฉีดฆ่าหญ้ามิให้ลอยเข้ามากระทบเด็กอีกด้วย พิษของสารเคมีร้ายแรงแบบเห็นทันตาเพราะก่อนปลูกกำแพงต้นกล้วย มะละกอเฉาทันทีเมื่อชาวนาฉีดยาฆ่าหญ้า ส่วนข่าและตะไคร้ปลูกง่าย ขายง่ายและใช้แรงงานน้อยจึงเหมาะกับจำนวนเด็กที่มีอยู่เพียงจำกัด

อยู่มาวันหนึ่งโรงเรียนได้รับการเยี่ยมเยียนจากผู้ว่าราชการจังหวัด การเยี่ยมเยียนนั้นได้รับการเผยแพร่ทางสื่อสังคมที่ผมชมได้ในสหรัฐ ผู้ว่าฯ สั่งให้รื้อข่าและตะไคร้ในพื้นที่กว่าหนึ่งงานทิ้งเพื่อให้ปลูกพืชผักล้มลุกเพิ่ม คำสั่งนั้นเกิดขึ้นแบบทันทีทันใดโดยมิได้ใช้ข้อมูลอันเป็นฐานของปัญญา แต่ไร้ผู้กล้าแย้ง มันปฏิบัติตามยากมากเนื่องจากขาดแรงงานซึ่งผู้ว่าฯ คงไม่ทราบว่าต้องใช้เท่าไรในการปลูกพืชผักหมุนเวียนจากการเตรียมดินถึงการขายผลผลิตที่อาจเกินปริมาณสำหรับทำอาหารกลางวันให้เด็ก

ส่วนกล้วยที่ต้องปลูกใหม่ในกระบวนการเปลี่ยนรุ่น ทางโรงเรียนสั่งหน่อผ่านทางราชการแทนการขอจากชาวบ้านดังที่เคยทำ ผลปรากฏว่า กว่าหน่อกล้วยจะมาใช้เวลากว่า 3 เดือน จึงต้องปลูกในตอนปลายฤดูฝนซึ่งจะส่งผลให้กล้วยโตไม่พอที่จะทนต่อความแห้งแล้งที่จะมาถึง ร้ายยิ่งกว่านั้น หน่อกล้วยส่วนหนึ่งไม่ใหญ่ หรืออยู่ในสภาพแข็งแกร่งพอสำหรับปลูก จึงเกิดข้อสงสัยว่าข้าราชการไปซื้อ หรือขอหน่อซึ่งส่วนหนึ่งชาวสวนจะขุดทิ้งอยู่แล้วใช่หรือไม่ ถ้าใช่ เกิดคำถามต่อไปว่าใช้งบประมาณเท่าไรและมันหล่นหายกลางทางบ้างหรือเปล่า

เรื่องในแนวดังกล่าวมานี้คงมิได้จำกัดอยู่ที่ อ.บ้านนาแห่งเดียว หากมีกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในวงราชการ เมื่อทั้งการศึกษาและข้าราชการซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาสอบตก การจะให้การพัฒนาสอบผ่านย่อมเป็นเพียงฝันค้าง