เปิดโลก “เกมมิฟิเคชั่น”เปลี่ยน “ผู้เรียน” สู่ “ผู้รู้”

เปิดโลก “เกมมิฟิเคชั่น”เปลี่ยน “ผู้เรียน” สู่ “ผู้รู้”

บอร์ดเกมเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการจำลองสถานการณ์ ให้ผู้เล่นได้ทดลองแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์

โลกการเรียนรู้ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราเห็นการเปลี่ยนการเรียนผ่านจากกระดานดำ เป็นการเรียนผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ หน้าจอแทบเล็ต ไปถึงหน้าจอสมาร์ทโฟน มาถึงทุกวันนี้เรียกได้ว่า เป็นสังคมยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร ที่เราสามารถหาคำตอบผ่านโลกอินเทอร์เน็ตได้ในเวลาไม่กี่วินาที การเรียนรู้จึงไม่จำกัดแค่ในห้องเรียนและรั้วมหาวิทยาลัยอีกต่อไป

วิธีสอนแบบบรรยาย หรือ Lecture Method จึงต้องสอนควบคู่กับการทำให้ผู้เรียนเกิด Active Learning หรือกระบวนการจัดการเรียนรู้ ที่ผู้เรียนลงมือกระทำเอง เสริมสร้างให้ผู้เรียนได้ “เรียนรู้” แท้จริง กระบวนการ Active Learning สร้างเสริมได้ผ่านการเรียนรู้โดยใช้เกมเป็นฐาน หรือกระบวนการเกมมิฟิเคชั่น (Gamification) นั่นเอง

เกมมิฟิเคชั่น หมายถึง การใช้เทคนิครูปแบบของเกม ใช้กลไกเกมเป็นตัวดำเนินการอย่างไม่ซับซ้อน เพื่อสร้างแรงจูงใจ และความน่าตื่นเต้นในการเรียนรู้ เกิดเป็นสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ดี มีกระบวนการที่ง่ายต่อการเข้าใจในเนื้อหาที่ซับซ้อน ใช้เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันในความเป็นจริงจัดเป็นกิจกรรมลักษณะเกม

เกมมิฟิเคชั่นจึงเป็นกระบวนการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ ผ่านการให้เล่นตามเกมกติกา และนำผลการเล่นเกมของผู้เรียนมาใช้สรุปการเรียนรู้ ที่สำคัญกระบวนการเกมมิฟิเคชั่น ยังสามารถเปลี่ยน “ผู้เรียน” ให้กลายเป็น “ผู้รู้” เพราะผู้เรียนเป็นผู้เล่นเอง ทำให้ได้ประสบการณ์ตรง เสริมสร้างให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรม ตรวจสอบ ปรับปรุง และหาวิธีการแก้ไขปัญหา เกมมิฟิเคชั่นจึงเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการเรียนรู้ที่ช่วยพัฒนาสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

การเรียนรู้ผ่านบอร์ดเกมเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของกระบวนการเกมมิฟิเคชั่น ความจริงแล้วบอร์ดเกมไม่ใช่แค่กิจกรรมเพื่อความสนุก บอร์ดเกมส่วนมากเป็นเกมที่ต้องวางแผนการเล่น แต่ทำให้เรานำองค์ความรู้มาประยุกต์เล่นบนบอร์ดเกม ทั้งสามารถนำเนื้อหาบนบอร์ดเกมไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

บอร์ดเกมเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการจำลองสถานการณ์ ให้ผู้เล่นได้ทดลองแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ดังนั้นจะช่วยเพิ่มทักษะต่างๆ ที่จำเป็นในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะทักษะ Soft Skill ที่จำเป็นต่อการทำงานและการใช้ชีวิต เช่น ทักษะการตัดสินใจ ทักษะความคิดสร้างสรรค์ ทักษะเชิงวิพากษ์ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ

โดยเฉพาะทักษะ “โซเชียล” การอยู่ร่วมผู้อื่น เสน่ห์การเล่นบอร์ดเกม คือ บรรยากาศและประสบการณ์ร่วมขณะเล่นเกม บอร์ดเกมจึงทำให้เกิดการสื่อสารโดยตรงระหว่างผู้เล่นที่อยู่ตรงหน้า ได้ใช้เวลาร่วมกัน เป็นการสร้างทักษะโซเชียลในการอยู่ร่วมกัน ช่วยเสริมสร้างพฤติกรรมที่เกี่ยวกับสติปัญญา (Cognitive Domain) ไม่ว่าจะเป็น การจดจำ (Remembering) การทำความเข้าใจ (Understanding) การประยุกต์ใช้ (Applying) การวิเคราะห์ (Analyzing) การประเมิน (Evaluating) ไปจนถึงการสร้างสรรค์ (Creating) รวบรวมองค์ประกอบและสร้างให้เป็นสิ่งที่สมบูรณ์ เรียบเรียงให้เกิดรูปแบบหรือโครงสร้างใหม่ผ่านการสร้าง วางแผน และการผลิต

เนื้อเรื่องและจุดประสงค์บอร์ดเกม ช่วยเปิดมุมมองเรื่องจิตอาสา จิตสาธารณะ โดยไม่ใช้การสอนแต่เป็นการเล่น ยกตัวอย่าง บอร์ดเกมโครงการของขวัญจากพ่อ ที่เราทำต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 น้อมนำพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 เช่น แนวคิดการบริหารการเกษตร การจัดการน้ำและการรักษาป่าอย่างยั่งยืน มุ่งใช้บอร์ดเกมที่ผสมผสานสาระและความเพลิดเพลินไว้ด้วยกันเสริมสร้างการเรียนรู้ ผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ในการออกแบบบอร์ดเกมเพื่อแก้ปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติ

โครงการของขวัญจากพ่อ เป็นการสร้างทักษะและประสบการณ์ ช่วยเสริมสร้างจิตสาธารณะแก่ผู้ร่วมเข้าประกวด เป็นการนำเอาความคิดสร้างสรรค์และมุมมองจากผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลาย มาสร้างแนวทางในการแก้ไขปัญหา

หรืออย่าง เกม Riverbank ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากโครงการ ของขวัญจากพ่อปีที่ 2 โดยทีม Lunar Gravity เกมที่ให้ผู้เล่นเกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองจิตสาธารณะ เพราะเป็นเกมที่ผู้เล่นต้องสวมบทบาทผู้นำชุมชนที่จะต้องช่วยแก้ปัญหาการจัดการน้ำจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ผนวกการใช้น้ำที่ขาดความยั้งคิดของคนในชุมชน นอกจากต้องวางแผนกักเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดปี ยังต้องเรียนรู้ถึงผลกระทบการใช้น้ำไม่ยั้งคิดกับชุมชนตัวเองร่วมกับชุมชนข้างเคียง

การช่วยเหลือตัวเองและปกป้องคนอื่นในภาวะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวระหว่างเกมผู้เล่นจะได้ลองประเมินความเสี่ยงเชิงสถานการณ์ ในการวางแผนเชิงสถานการณ์ ทำให้เห็นความเสียสละ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเกมในการเปิดมุมมองเรื่องจิตอาสา จิตสาธารณะ ผ่านการเล่นไม่ใช่การสอน