"ร่าง พ.ร.บ.กยศ." ข่าวดีที่ต้องระวัง

"ร่าง พ.ร.บ.กยศ." ข่าวดีที่ต้องระวัง

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.... ที่พรรคภูมิใจไทยเสนอขึ้นมา มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญหลายข้อด้วยกัน

หากเทียบกับ พ.ร.บ.ฉบับปัจจุบันจะเห็นได้ว่าร่าง พ.ร.บ.ใหม่ช่วยผ่อนคลายเงื่อนไขหลายข้อซึ่งสร้างความลำบากให้กับผู้กู้ในหลายด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการให้กู้ยืมแบบปลอดดอกเบี้ย การเพิ่มรูปแบบการชำระหนี้ด้วยการทำงานให้รัฐ การเปลี่ยนหนี้ให้เป็นทุนการศึกษาหากจบมาด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 การล้างประวัติการชำระหนี้เมื่อมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับทางกองทุนฯ แต่สิ่งที่น่าห่วงก็คือ หลักการที่ดีอาจไปตกม้าตายตอนนำไปใช้ก็ได้

ประเด็นเกี่ยวกับการกู้ยืมแบบปลอดดอกเบี้ยนั้น ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ช่วยให้ภาระหนี้ลดลงมากนัก ยกตัวอย่างเช่น สำหรับหนี้จำนวน 1 แสนบาท หากชำระหนี้เป็นระยะเวลา 15 ปีตามเงื่อนไขของ กยศ. ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ย 1% เงินที่ชำระหนี้ทั้งหมดจะมีค่าเท่ากับ 109,275 บาท หากเป็นการกู้ยืมแบบปลอดดอกเบี้ย เงินที่ชำระหนี้ทั้งหมดจะเท่ากับ 1 แสนบาท ภาระหนี้ต่างกัน 9,275 บาทในเวลา 15 ปีถือเป็นจำนวนไม่สูงนัก

นอกจากนี้แล้ว เงื่อนไขการผ่อนชำระเงินของ กยศ.ที่ไม่ต้องชำระหนี้ใน 2 ปีแรกหลังจบการศึกษา จากนั้นจึงเริ่มชำระเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันไดไปอีก 15 ปีนั้น ความจริงแล้วเป็นการให้ลดภาระหนี้ให้กับผู้กู้โดยทางอ้อมอยู่แล้ว เพราะมูลค่าของเงิน 1 บาทในอนาคตย่อมน้อยกว่ามูลค่าของเงิน 1 บาทในวันนี้ ถ้าเอาหลักนี้มาคิด มูลค่าปัจจุบันของเงินกู้ที่มีระยะเวลาผ่อนชำระ 17 ปี (ปลอดหนี้ 2 ปี ชำระหนี้ 15 ปี) ย่อมมีน้อยกว่ามูลค่าของวงเงินกู้ทั้งหมดที่กู้มาใช้เรียนจนจบ ถ้าคิดคร่าวๆ เงินกู้ 1 แสนบาท หากใช้คืนมาจนหมดด้วยอัตราดอกเบี้ย 1% จะได้เงินคืนคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันประมาณ 7.6 หมื่นบาทเท่านั้น และหากปลอดดอกเบี้ย มูลค่าปัจจุบันของหนี้จะประมาณ 6.8 หมื่นบาท ด้วยเหตุนี้ในทางการเงิน ดอกเบี้ย 1% หรือไม่มีดอกเบี้ยก็มีผลไม่ต่างกันมากนัก

สิ่งที่น่าห่วงคือผลทางจิตวิทยาที่อาจทำให้มีคนมากู้เงินเพื่อเรียนต่อมากขึ้น หากคนเหล่านี้ไปเรียนในสาขาซึ่งไม่ได้เป็นที่ต้องการของตลาด เรียนสาขาที่ตนเองไม่ได้ถนัด เรียนแค่เอาใบปริญญาไปอวด พอจบออกมาโอกาสประสบความสำเร็จในตลาดแรงงานมีน้อย รายได้ไม่สูง สุดท้ายก็มีเงินไม่พอชำระหนี้อยู่ดี เพราะปัญหาใหญ่ที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องภาระหนี้ที่สูง แต่เป็นเรื่องการหางานไม่ได้ หรือได้เงินเดือนน้อยจนไม่สามารถชำระหนี้ได้

นอกจากผลทางจิตวิทยาที่อาจทำให้จำนวนผู้กู้เพิ่มขึ้นแล้ว เงื่อนไขการแปลงหนี้ให้เป็นทุนสำหรับผู้เรียนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ขยันเรียนนั้น หากไม่มีการควบคุมคุณภาพของมหาวิทยาลัยให้ดี เราอาจเห็นปรากฏการณ์เกียรตินิยมเฟ้อ

โดยหลักการแล้ว การได้เกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ ย่อมหมายถึงรายได้ที่สูง ซึ่งจะกลายมาเป็นรายได้ของรัฐด้วยการเก็บภาษีได้มากขึ้น การแปลงหนี้ให้เป็นทุนตามหลักการนี้จึงเป็นการลงทุนทางอ้อมของรัฐเพื่อหวังผลตอบแทนระยะยาว หากเกียรตินิยมอันดับหนึ่งได้กันง่ายๆ ย่อมไม่มีคุณค่า เมื่อไม่มีคุณค่า รายได้ไม่สูง ข้อกำหนดนี้จึงอาจกลายเป็นการลงทุนที่ขาดทุนของรัฐไป

สำหรับการเปิดโอกาสให้ชำระหนี้ด้วยการทำงานให้รัฐ ตามเงื่อนไขการรับเข้าทำงานของหน่วยงานนั้น มี 2 ประเด็นที่อาจทำให้ช่องทางนี้ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดี ประเด็นแรก หากหน่วยงานมีเกณฑ์ในการรับเข้าทำงานที่เข้มงวด โอกาสที่จะเข้าทำงานกับหน่วยงานนั้นย่อมมีน้อย จึงไม่สามารถจะเป็นช่องทางหลักในการลดภาระหนี้ได้

ประเด็นที่ 2 บางประเทศที่ใช้นโยบายนี้ เช่น สหรัฐ เป็นเพราะเขาต้องการดึงคนมีความสามารถให้ไปช่วยภาครัฐในการพัฒนาประเทศ การที่คนคนหนึ่งจะมีประโยชน์ต่อหน่วยงานได้นั้นต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งก็ย้อนกลับมาสู่ประเด็นคุณภาพของมหาวิทยาลัยอีกเช่นเดิม

สำหรับประเด็นการล้างประวัติการชำระหนี้ หากมีการปรับโครงสร้างหนี้นั้น จำเป็นต้องมีการสื่อสารให้ดี เพื่อให้ผู้กู้เข้าใจถูกต้องว่าการปรับโครงสร้างนี้จะเป็นประโยชน์กับตัวเขาและผู้ค้ำประกันอย่างไรบ้าง รวมถึงการชี้ให้เป็นประโยชน์ของการรักษาประวัติการชำระหนี้ให้ดีไว้ ว่าจะมีประโยชน์กับตัวผู้กู้และครอบครัวอย่างไรบ้าง

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้แม้ว่าจะไม่ได้เป็นยาวิเศษในการแก้ปัญหา แต่ก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เพียงแต่ที่ผ่านมามีกฎหมายหลายฉบับที่หลักการดี แต่ดันมาตกม้าตายเพราะตอนนำไปใช้ไม่ได้คิดให้ถี่ถ้วนเสียก่อน ก็ได้แต่หวังว่า ถ้าร่าง พ.ร.บ.นี้ได้แจ้งเกิดจริง คงจะมีการวางแผนในทางปฏิบัติให้รัดกุมมากพอ จะได้ไม่เสียของ