นโยบายความมั่นคงทางทะเลของยุโรปในเอเชีย

นโยบายความมั่นคงทางทะเลของยุโรปในเอเชีย

เรื่องความมั่นคงทางทะเล (Maritime Security) ในภูมิภาคเอเชียเป็นอีกประเด็นอ่อนไหวที่น่าติดตาม

 พอๆ กับเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และการประท้วงที่ฮ่องกง ล้วนแล้วแต่เกี่ยวพันกับผู้เล่นยักษ์ใหญ่อย่างจีนและบทบาทใหม่ในเวทีโลก

โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งและข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ที่ยิ่งคลุกรุ่นขึ้นช่วงนี้ ท่ามกลางข้อกล่าวหาที่ว่าจีนได้ปล่อยเรือรบ เตรียมกำลังทหาร และมีเรือหาปลาจำนวนหนึ่งอยู่ในทะเลจีนใต้ ทำให้เรื่องนี้คงไม่ได้จบง่ายๆ บทบาทและท่าทีของจีนยิ่งทำให้ผู้เล่นสำคัญอย่างสหรัฐฯ และยุโรปยิ่งต้องจับตา

ที่สำคัญ อาเซียนยิ่งต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อให้มีบทบาทมากขึ้นในช่วยกันไกล่เกลี่ยข้อพิพาทดังกล่าว ล่าสุด เรื่องความมั่นคงทางทะเลกลายเป็นประเด็นสำคัญในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ที่กรุงเทพฯ

แต่การประนีประนอมความขัดแย้งและข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ดูเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะเกี่ยวกับผลประโยชน์ของประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศ อาทิ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ที่มีประเด็นเรื่องสิทธิ์ทับซ้อนกับจีนในหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ และที่สำคัญเกี่ยวกับการสร้างฐานอำนาจและแสนยานุภาพทางการทหาร และวางเกมส์กุมอำนาจทางทะเลของจีนในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่นับว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์มากที่สุดในภูมิภาคก็ว่าได้

ล่าสุด อียูโดยผ่านคำแถลงการณ์ของโฆษกด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง (Spokesperson for Foreign Affairs and Security Policy) ของ EEAS ได้ออกแถลงการณ์จุดยืนว่า อียูยึดมั่นเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อยด้านกฎหมายสำหรับทะเลและมหาสมุทร โดยยึดตามกฎหมายระหว่างประเทศ ความมั่นคงทางทะเลและความร่วมมือ รวมทั้งยึดหลักการสำคัญอย่าง freedom of navigation and overflight เพื่อผลประโยชน์ของทุกรัฐประเทศ

แม้จะไม่ได้กล่าวคำว่าจีนออกมาในแถลงการณ์แม้แต่คำเดียว แต่ก็เป็นที่เข้าใจว่าอียูกำลังจับตาปฏิบัติการ (ของจีน) ในทะเลจีนใต้ ข้อความสำคัญคือขอให้ทุกฝ่ายไม่ใช้กำลังทหารในภูมิภาค และหาทางแก้ไขความขัดแย้งและข้อพิพาทผ่านวิธีสันติภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ อย่างความตกลง UNCLOS ของสหประชาชาติ หรือ the United Nations Convention on the Law of the Sea (UNCLOS) และทุกฝ่ายสามารถขอความช่วยเหลือในรูปแบบของการไกล่เกลี่ยหรือตัดสินชี้ขาดโดยประเทศที่สามได้หากเป็นประโยชน์

แน่นอนอียูสนับสนุนกระบวนการในระดับภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนนำ เพราะอาเซียนมีบทบาทสำคัญที่สุดในการประสานและประนีประนอมความขัดแย้งในทะเลจีนใต้นี้ได้ เป็นระยะเวลานานแล้วที่อาเซียนเจรจา Code of Conducts หรือ CoC กับจีน โดยมีสหรัฐฯ และยุโรปคอยหนุนอยู่

สำหรับอาเซียน นอกจากสหรัฐฯ แล้ว อย่าลืมว่าอียูเป็นอีกผู้เล่นสำคัญที่มีอำนาจและบทบาทในด้านความมั่นคงทางทะเลที่อาเซียนไม่ควรเพิกเฉย อียูมียุทธศาสตร์เรื่องความมั่นคงทางทะเลที่น่าศึกษา มีประสบการณ์ช่้ำชองในการบริหารจัดการวิกฤติต่างๆ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีเทคโนโลยีทางทะเลพร้อมที่จะถ่ายทอด ที่สำคัญ มีงบประมาณและโครงการความช่วยเหลือจำนวนมากที่พร้อมจะส่งผ่านมายังเอเชีย เพื่อช่วยสร้างศักยภาพและหนุนบทบาทของอาเซียนในการส่งเสริมสันติภาพในภูมิภาค

พันธมิตรทางทะเลล่าสุดของอียู คงเป็นใครอื่นไม่ได้นอกจากเวียดนาม ล่าสุดอียูและเวียดนามได้ลงนามความตกลงด้านการกลาโหมฉบับแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกว่า Framework Participation Agreement (FPA) สะท้อนถึงบทบาทใหม่ของอียูที่ต้องการมีบทบาทสำคัญมากขึ้นด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย

สำหรับเวียดนามก็เป็นท่าทีใหม่ที่เริ่มขัดแย้งกับจีนอย่างเปิดเผย โดยความขัดแย้งปะทุขึ้นหลังจากมีเรือจีนเข้าไปในแนวปะการังในน่าน้ำที่เวียดนามควบคุมอยู่แต่จีนอ้างสิทธิ์ สำหรับเวียดนามคงไม่ใช่เป้าหมายเรื่องความมั่นคงทางทะเลอย่างเดียว แต่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากทรัพยากรในทะเลจีนใต้น่าจะเป็นเหตุผลอีกอันหนึ่งที่ทำให้ลุกขึ้นมาแข็งข้อต่อจีน

[ดรอาจารี ถาวรมาศ เป็นผู้บริหารบริษัท Access-Europe บริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และนโยบายเกี่ยวกับสหภาพยุโรปสำหรับภาครัฐและเอกชนไทยที่สนใจเปิดตลาดยุโรป www.access-europe.eu หรือติดตามได้ที่ www.facebook.com/AccessEuropeCoLtd]