Crowdfunding สิ่งไม่ใหม่ … ใกล้ตัว

Crowdfunding สิ่งไม่ใหม่ … ใกล้ตัว

Crowdfunding จะช่วยให้การระดมทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หากพูดถึงคำว่า Crowdfunding หลายท่านอาจจะคิดว่าเป็นคำใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน หลังจากการเติบโตของธุรกิจด้าน Fintech แต่รู้หรือไม่ว่ากิจกรรมด้าน Crowdfunding หรือการระดมทุนจากฝูงชนนี้ แท้ที่จริงแล้วเกิดขึ้นมาในโลกและอยู่คู่กับสังคมไทยมาเป็นเวลานาน วันนี้ผมจะขอพูดภาพรวมของ Crowdfunding โดยยกตัวอย่างสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมากที่สุด นั่นคือ … ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน การทำบุญของคนไทยกลายเป็น Crowdfunding ได้อย่างไรนั้น ผมขอพูดถึงประเภททั้งหมดของ Crowdfunding ดังนี้ครับ

1.Donation Crowdfunding: การระดมทุนเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการทำบุญ โดยผู้ที่จ่ายเงินไม่ต้องการอะไรเป็นการตอบแทน นอกจากความอิ่มใจและความรู้สึกที่ดี การทำบุญหรือบริจาคแบบนี้คือการระดมทุนจากฝูงชนอย่างชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันได้มี Start-up ที่ทำ Donation Crowdfunding Portal เพื่อรับเงินบริจาคและติดตามผลการใช้เงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเงิน โดยถ้าใช้ Blockchain มาช่วยได้จะยิ่งโปร่งใสอย่างมากเลยทีเดียว

2.Rewards Crowdfunding: การระดมทุนของผู้ประกอบการที่สื่อสารไปยังผู้บริโภคที่อาจต้องการสินค้าหรือบริการนั้น ผ่าน Rewards Crowdfunding Portal โดยเป็นการเสนอแนวคิดหรือสินค้าต้นแบบผ่านทาง Video Clip เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคสนใจ และตัดสินใจจ่ายเงินซื้อล่วงหน้า จากนั้นผู้ประกอบการจะนำเงินทุนที่ได้ไปผลิตสินค้าหรือบริการนั้นเพื่อมอบให้กับผู้ที่ให้เงินสนับสนุน ที่เรียกว่าBackers เป็นกลุ่มแรก และนำเงินทุนไปต่อยอดธุรกิจเพื่อขายให้กับคนทั่วไปในลำดับต่อไป ตัวอย่างเช่น Kickstarter และ Indiegogo ซึ่งเป็นผู้นำด้าน Rewards Crowdfunding Portal ในอเมริกา เป็นต้น

3.Equity Crowdfunding: การระดมทุนด้วยการเสนอการเป็นผู้ถือหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปที่สนใจ ซึ่งการระดมทุนลักษณะนี้มักจะใช้กับ SME หรือ Start-up ที่ต้องการนำเสนอสินค้าหรือบริการของตนเองให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ในขณะเดียวกันก็หาเงินทุนด้วยการเสนอให้คนทั่วไปที่ต้องการสนับสนุนแนวคิดของ SME หรือ Start-up นั้น ๆ สามารถจ่ายเงินเพื่อแลกกับการเป็นผู้ถือหุ้นได้อีกด้วย ยกตัวอย่างร้านอาหารที่ต้องการขยายกิจการสาขา สามารถใช้ Equity Crowdfunding Portal เพื่อโฆษณาและหาเงินทุนจากผู้สนใจไปได้พร้อมกัน โดยที่ร้านอาหารนี้สามาถเสนอส่วนลดค่าอาหารหรือ Promotion พิเศษให้กับผู้ที่สนับสนุนได้อีกต่างหาก

4.Debt Crowdfunding: การระดมทุนด้วยการกู้ยืม โดยถ้าผู้กู้เป็นบุคคลธรรมดา เราจะเรียกธุรกิจนี้ว่า Peer-to-peer Lending หรือ P2P Lending นั่นคือการที่ฝูงชนปล่อยกู้กันเองผ่าน Portal โดยไม่ผ่านตัวกลางทางการเงินดั้งเดิมอย่างธนาคาร ถ้ายกตัวอย่างแบบไทย ๆ ก็หนีไม่พ้นการเปียแชร์นั่นเอง แต่ถ้าผู้กู้เป็นบริษัทขอกู้จากประชาชน เราจะเรียกว่า Debt Crowdfunding เป็นการทั่วไป โดยที่ประเทศไทยจะใช้คำว่า หุ้นกู้ Crowdfunding ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. ในขณะที่ P2P Lending จะอยู่ใต้การดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย

ในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันสามารถทำ Crowdfunding ในแต่ละประเภทได้แล้ว โดยมีหน่วยงานกำกับดูแลชัดเจน หากเป็น Equity หรือ Debt Crowdfunding จะถือเป็นการลงทุน จึงต้องมีสำนักงาน ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทย ช่วยดูแลให้ Funding Portal มีการดำเนินกิจการในรูปแบบที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงสิทธิ์ของนักลงทุนเป็นสำคัญ ในขณะที่ Rewards Crowdfunding จะมีลักษณะคล้ายกับ eCommerce ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพาณิชย์ Crowdfunding Portal ส่วนมากจะคิดค่าธรรมเนียมจากผู้ที่ขอระดมทุนในอัตราประมาณ 5-10% จากยอดเงินที่ระดมทุนได้สำเร็จ

Crowdfunding จะช่วยให้การระดมทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยสนับสนุนคนที่มีแนวคิดดีได้รับเงินทุนทำสิ่งที่ดีให้กับสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไทยชื่นชอบมาช้านาน เห็นมั้ยครับ Crowdfunding สิ่งไม่ใหม่ ใกล้ตัว