พิชิตความผันผวน

พิชิตความผันผวน

กลยุทธพิชิตความผันผวน ในการลงทุนนั้นมีอยู่หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นกระจายเงินลงทุนไปตามช่วงเวลา

 การเลือกซื้อสินทรัพย์ที่มีปัจจัยการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกัน แต่กลยุทธที่มักจะกล่าวถึงมากที่สุด คือ Risk-Base-Model ซึ่งมักจะถูกใช้กันในหลายชื่อ แต่ทั่วๆไปก็มักจะใช้คำว่า การกระจายสินทรัพย์ ( Asset Allocation) ซึ่งหัวใจหลักคือการหาสมดุลระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทนที่นักลงทุนต้องการ เพื่อมาจัด พอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับความต้องการดังกล่าว ดังนั้นเราจะพบได้ว่ากลยุทธการจัดพอร์ตเพื่อลดความผันผวนจากการลงทุน มักจะอยู่ในหัวข้อสัมมนาด้านการลงทุนอยู่บ่อยครั้ง หากจะเปรียบการลงทุนเสมือนศึกสงครามแล้ว ศัตรูตัวฉกาจที่อาจทำให้เราพ่ายศึกได้ง่าย ๆ  นั่นคือ ความผันผวนของราคาสินทรัพย์ ซึ่งบางครั้งอาจส่งผลให้ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนน้อยกว่าที่คาดหวังไว้อย่างมีนัยยะ

เมื่อเป็นเช่นนั้น การจัดกระบวนทัพ (พอร์ตการลงทุน ) จึงมีความสำคัญค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปัจจุบันที่ตลาดสินทรัพย์ต่าง ๆ ถูกรบกวนด้วยหลากหลายปัจจัย อาทิ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสองชาติมหาอำนาจของโลก ความไม่ชัดเจนในนโยบายการเงินของสหรัฐฯ แนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในบางประเทศ รวมทั้งการแยกตัวแบบไร้ข้อตกลงของสหราชอาณาจักร (No-deal Brexit) ที่มีโอกาสสูงขึ้น เป็นต้น ซึ่งทำให้การลงทุนแบบกระจายสินทรัพย์ (Multi-asset allocation) เป็นหนึ่งในทางเลือกที่เรียกได้ว่าเหมาะสมที่สุด กับสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ โดยอาจแบ่งการถือครองสินทรัพย์ออกเป็น 4 กลุ่มดังนี้

ประมาณ 40% ของพอร์ตให้เป็นตราสารทุน หรือ “หุ้นซึ่งนับว่าเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยสร้างผลตอบแทนได้ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ แต่ก็ต้องยอมรับกับความเสี่ยงพอร์ตที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ดี เราสามารถปรับสมดุลด้วยวิธีการคัดเลือกหลักทรัพย์ โดยเน้นหุ้นขนาดใหญ่ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีโครงสร้างรายได้แน่นอน และมีเงินปันผลจ่ายในอัตราสูงสม่ำเสมอ นอกจากนี้ การแบ่งสัดส่วนการลงทุนเป็นหุ้นในประเทศและต่างประเทศอย่างละครึ่ง จะช่วยลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของสินทรัพย์ในประเทศอีกทางหนึ่ง

ในส่วนตราสารหนี้ ให้มีสัดส่วนราว 45% ของพอร์ต ซึ่งจะเป็นการผสมระหว่างพันธบัตรและหุ้นกู้ โดยเน้นตราสารที่มีอายุการถือครองระยะสั้นถึงระยะกลางเป็นหลัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวทั่วโลก ทำให้ประเมินว่าธนาคารกลางส่วนใหญ่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป กอปรกับความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นจากการทำสงครามการค้ากับจีน อาจส่งผลให้เฟดตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยฯ เพิ่มเติมอีกสองครั้งในปีนี้

ส่วนสุดท้ายอีก 15% ให้เป็นสินทรัพย์ทางเลือก โดยแบ่งครึ่งหนึ่งเป็นกองทุนรวมอสังหาฯ และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาฯ (REITs) ซึ่งจะได้รับกระแสเงินสดในรูปของเงินปันผล นอกจากนี้ ยังสามารถทำกำไรจากส่วนต่างราคาที่เพิ่มสูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยขาลงอีกด้วย และส่วนที่เหลือให้เป็นทองคำหรือสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย เพื่อช่วยชดเชยความผันผวนของราคาสินทรัพย์เสี่ยงในบางกลุ่ม ซึ่งหากจัดองค์ประกอบได้ตามนี้ ผู้ลงทุนจะสามารถคาดหวังอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 4-6% ต่อปี

กล่าวโดยสรุป คือ ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน การจัดพอร์ตลงทุนแบบกระจายสินทรัพย์อย่างเหมาะสมเป็นแนวทางหนึ่งในการพิชิตความผันผวนให้ได้รับผลตอบแทนใกล้เคียงกับที่คาดหวังไว้ เสมือนหนึ่งรู้เขารู้เรา รบกันร้อยครั้งก็จะไม่มีอันตรายอันใด  

 ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน