ความท้าทายการท่องเที่ยวไทย ปัญหานักท่องเที่ยวล้น

ความท้าทายการท่องเที่ยวไทย ปัญหานักท่องเที่ยวล้น

เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวสำคัญต่อเศรษฐกิจ แต่ความยั่งยืนก็เป็นเรื่องที่ละเลยมิได้

ไม่กี่วันก่อน ได้ยินข่าวรัฐบาลมีแผนจะให้ฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวจากจีนและอินเดีย เพื่อหวังดึงนักท่องเที่ยวจากสองประเทศมากระตุ้นเศรษฐกิจ แล้วก็คิดถึงปัญหาเรื่องนักท่องเที่ยวล้น หรือ Over-tourism ซึ่งหลายประเทศรวมทั้งไทยประสบอยู่

การท่องเที่ยวเป็นหัวจักรสำคัญของระบบเศรษฐกิจ เพิ่มเม็ดเงินในการจับจ่ายใช้สอย รัฐบาลทุกประเทศจึงมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว ปี 2017 อาเซียนมีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากกว่า 125 ล้านคน มูลค่าบริการการท่องเที่ยวสูงถึง 330 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 12% ของ GDP อาเซียน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 598 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2027 ทั้งนี้ในปี 2018 ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวมากถึง 38 ล้านคน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประมาณการว่าสร้างรายได้ถึง 2 ล้านล้านบาท

ปัจจัยอื่นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวยังได้แก่ ระบบการคมนาคมที่พัฒนาและเชื่อมโยงกันมากขึ้น การขอวีซ่าที่สะดวก ราคาน้ำมันที่ไม่สูงเกินไปทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไม่แพงนัก ตลอดจนทางเลือกสายการบินต้นทุนต่ำที่เพิ่มขึ้น ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยช่วยให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขยายตัว

อย่างไรก็ตามปริมาณการท่องเที่ยวที่มากเกินพอดี นำมาซึ่งปัญหา Over-tourism หรือปัญหานักท่องเที่ยวล้น กล่าวคือ นักท่องเที่ยวไปเยือนที่ใดที่หนึ่งมากเกินไปจนกระทบสิ่งแวดล้อม หรือวิถีชีวิตของคนในพื้นที่นั้น ตัวอย่างพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบลักษณะนี้ เช่น บาร์เซโลนา (สเปน) ที่มีประชากรจริงแค่ 1.6 ล้านคน แต่มีนักท่องเที่ยวมาพักค้างคืนเฉลี่ยวันละ 30 ล้านคน หรือในอาเซียนที่ได้รับผลกระทบ เช่น ภูเก็ต (ประเทศไทย) บาหลี (อินโดนีเซีย) และโบราไกย์ (ฟิลิปปินส์)

ปัญหา Over-tourism สร้างผลกระทบหลายประการ ได้แก่ 1) ผลกระทบต่อคนท้องถิ่น เช่น จากสาธารณูปโภคที่ไม่เพียงพอ คนและรถราที่เพิ่มขึ้น ทำให้การจราจรติดขัด หรือนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทำให้ค่าครองชีพแพงขึ้น ราคาที่อยู่อาศัยสูงขึ้น ธุรกิจท้องถิ่นเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากธุรกิจขนาดใหญ่หรือธุรกิจข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ ตัวอย่างเช่น บาหลี พบว่า 85% ของธุรกิจบริการการท่องเที่ยวในบาหลีมีเจ้าของไม่ใช่คนบาหลี 2) ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ขยะเพิ่มขึ้น ต้นไม้ถูกตัด ปะการังถูกทำลาย สัตว์ป่าหรือสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ ตลอดจนกระทบต่อวัฒนธรรม ประเพณี หรือโบราณสถานในท้องที่ 3) ผลกระทบต่อนักท่องเที่ยว เมื่อนักท่องเที่ยวมาแล้ว เจอแต่ความแออัด ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย สถานที่ไม่สวยงาม ย่อมไม่ประทับใจ และไม่กลับมาอีก

อ่าวมาหยาของไทยที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกาศให้ปิดอ่าวเมื่อปีที่แล้ว คือตัวอย่างของ Over-tourism อ่าวมาหยามีชื่อเสียงเรื่องความสวยงามของธรรมชาติ เป็นที่รู้จักกันมากจากภาพยนตร์เรื่องเดอะบีช (The Beach) จากสถิติปี 2551 มีนักท่องเที่ยวเพียงวันละ 171 คน เพิ่มเป็นวันละ 3,520 คนในปี 2560 โดยบางวันมีนักท่องเที่ยวมากถึง 5,000 คน เรือนำเที่ยวมากกว่า 200 ลำ สร้างรายได้ให้รัฐปีละ 400 ล้านบาท อย่างไรก็ตามสถานการณ์นี้นำมาซึ่งปริมาณคนและขยะบนเกาะมากขึ้น ปริมาณเรือเร็วเพิ่มขึ้น มีการทิ้งสมอบนแนวปะการัง ปะการังเสียหาย นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยว หยิบ จับ หักปะการังขึ้นมาถ่ายรูป หรือเก็บกลับบ้าน

หลายฝ่ายเชื่อว่า หากปล่อยไว้เช่นนี้ วันหนึ่งอ่าวมาหยาจะทรุดโทรม ไม่เหลือความสวยงาม นักท่องเที่ยวไม่มา แต่คนท้องถิ่นคือผู้แบกรับภาระและอาศัยอยู่ต่อไป

อ่าวมาหยาเป็นบทเรียนที่ดีของการกลับตัวด้านนโยบายและความร่วมมือร่วมใจในการแก้ปัญหา ไม่กี่เดือนที่ปิดอ่าว ธรรมชาติได้รับการฟื้นฟูชัดเจน มีการพบปลาฉลามครีบดำมากกว่า 50 ตัวบริเวณอ่าว บางตัวมาคลอดลูก ปะการังกลับมาเติบโต สิ่งเหล่านี้สะท้อนความสำเร็จของการฟื้นฟู ขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงความผิดพลาดในนโยบายการท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา

แนวทางการแก้ปัญหา Over-tourism มีหลายวิธี เช่น กำหนดโควตาจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละช่วงเวลา พยายามกระจายนักท่องเที่ยวไปเที่ยวเมืองอื่น เช่น เมืองรอง ใช้กลไกราคาหรือกลไกภาษีเพื่อควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยว ตลอดจนเพื่อจัดหารายได้ไปบำบัดผลกระทบต่อธรรมชาติ เช่น จัดการขยะและน้ำเสีย สุดท้ายได้แก่ มาตรการปิดแหล่งท่องเที่ยว เช่น กรณีอ่าวมาหยาของไทย นอกจากนี้ในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลนักท่องเที่ยวก็เป็นสิ่งสำคัญและช่วยให้การบริหารจัดการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวสำคัญต่อเศรษฐกิจ แต่ความยั่งยืนก็เป็นเรื่องที่ละเลยมิได้ เพราะสุดท้าย นักท่องเที่ยวมาแล้วก็ไป แต่คนท้องถิ่นจะต้องอยู่ต่อไป ทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวยั่งยืน สร้างสมดุลทั้งประโยชน์ต่อนักท่องเที่ยว ประโยชน์ต่อคนท้องถิ่น และการดำรงอยู่ของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมครับ