ทรานสฟอร์มค้าปลีกด้วย ‘Visual Search’

ทรานสฟอร์มค้าปลีกด้วย ‘Visual Search’

วิช่วล เสิร์ชไม่ได้เป็นแค่ ‘Gimmick’ ที่ดูทันสมัย แต่เป็น ‘Game Changer’ โลกค้าปลีกในอนาคต

วิช่วล เสิร์ช (Visual Search) คือหนึ่งในเทรนด์ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง ที่มาแรงที่สุดในปี 2562 โดยเทคโนโลยีดังกล่าวไม่เพียงช่วยในการค้นหาที่มาของภาพหรือ Meme ต่างๆ บนโลกออนไลน์ แต่ยังเข้ามาทรานส์ฟอร์มวิถีการซื้อสินค้าของผู้บริโภคยุคดิจิทัล โดยเฉพาะสำหรับผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียล และเจน แซด กล่าวได้ว่าเป็นอินสตาแกรม เจเนอเรชั่น (Instagram Generation) ที่มีคอนเทนท์รูปภาพ เป็นศูนย์กลางการเลือกสรรสินค้าและการตัดสินใจซื้ออย่างแท้จริง ปัจจุบันผู้ประกอบการค้าปลีกทั่วโลกต่างตบเท้ารับเทคโนโลยีวิช่วลเสิร์ชเข้ามาใช้เป็นจำนวนมาก และคาดว่าอนาคตวิช่วล เสิร์ช จะกลายเป็นสนามรบแห่งถัดไปในการแย่งชิงความได้เปรียบเพื่อเข้าถึงลูกค้า

วิช่วล เสิร์ชเป็นเทคโนโลยีที่เกิดจากการพัฒนา AI-based Neural Network ร่วมกับแมชชีน เลิร์นนิ่ง ซึ่งทำให้ระบบปัญญาประดิษฐ์มองเห็นภาพ และระบุสิ่งของต่างๆ ได้เหมือนดวงตาและสมองของมนุษย์ เมื่อผนวกกับคลังภาพบนโลกออนไลน์แล้วทำให้วิช่วล เสิร์ช สามารถค้นหาภาพหรือสิ่งของที่มีความเหมือนหรือความคล้ายคลึงกับภาพที่เราอินพุทเข้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังฉลาดจนถึงขั้นให้ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของสินค้า เช่น ชื่อแบรนด์ ราคา สเปคสินค้า และสถานที่จำหน่าย

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาวิช่วล เสิร์ช เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เมื่อแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำของโลก ซึ่งมีผู้ใช้งานจำนวนมหาศาลอย่างอเมซอน เริ่มเปิดใช้ฟีเจอร์วิช่วล เสิร์ชบนแพลตฟอร์มของตัวเอง อีกทั้งความนิยมยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เมื่อแบรนด์และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำของโลกอีกไม่น้อย เริ่มทยอยเปิดตัวฟีเจอร์ดังกล่าวต่อเนื่อง เช่น ทาร์เก็ต , เมอร์ซี่, มาร์คแอนด์สเปนเซอร์, อีเบย์, เอโซส (asos) และสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก และผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำของโลกหันมาพัฒนาและผลักดันวิช่วล เสิร์ชอย่างจริงจัง คือ ปรับตัวให้สอดคล้องกับ Customer Journey แบบใหม่ที่เรียกว่า ‘See-Snap-Buy’ เพื่อสู้ศึกค้าปลีกที่มีผู้เล่นจำนวนมากและแข่งอย่างรุนแรง

รายงานในปี 2561 จาก ViSenze บริษัทสตาร์ทอัพด้านวิช่วล เสิร์ชชี้ว่า กว่า 62% ของผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียล และเจน แซดในสหรัฐ และสหราชอาณาจักรต้องการใช้วิช่วล เสิร์ชเป็นเครื่องมือค้นหาสินค้าอย่างรวดเร็วบนสมาร์ทโฟน โดยเฉพาะสินค้าแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน ขณะที่ แอคเซนเชอร์ บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ ระบุว่ากลุ่มเจน แซดมักใช้ โซเชียล มีเดียเป็นแหล่งหาแรงบันดาลใจค้นหาสินค้าใหม่ และราว 60% ตัดสินใจซื้อเนื่องจากเห็นผ่านตาบนโซเชียล มีเดียโดยบังเอิญ

ดังนั้น วิช่วล เสิร์ช ซึ่งมอบ Customer Journey แบบ ‘See-Snap-Buy’ จึงเป็นทางเลือกที่สะดวกสบายสำหรับเหล่ามิลเลนเนียม และเจนแซด และช่วยเชื่อมต่อประสบการณ์จากออฟไลน์ สู่ออนไลน์ และจาก ‘Internet Surfing สู่ Spontaneous Purchase’ อย่างเป็นธรรมชาติและรวดเร็ว ขณะที่ผู้ประกอบการมีโอกาสสร้าง Engagement กับลูกค้ามากขึ้นผ่าน วิช่วล เสิร์ช ทำให้ทุกรูปภาพบนโซเชียล มีเดีย และทุกสิ่งที่ผู้คนได้พบเห็นกลายเป็นแคตตาล็อกสินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ด้าน Boohoo.com ผู้ค้าปลีกแฟชั่นออนไลน์จากสหราชอาณาจักร ระบุว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มลูกค้าที่ใช้วิธีค้นหาสินค้าแบบดั้งเดิม กลุ่มลูกค้าที่ค้นหาสินค้าด้วยวิช่วลเสิร์ชนั้นมี Engagement กับแพลตฟอร์มสูงกว่า แนวโน้มเข้าชมสินค้าสูงกว่า มี Conversion rate สูงกว่าถึง 85% และมีมูลค่าการสั่งซื้อมากกว่าประมาณ 12%

สำหรับประเทศไทย แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซหลายๆ แห่งก็เริ่มรับเทคโนโลยี วิช่วล เสิร์ช เข้ามาใช้แล้วเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น Shopee ที่เพิ่งเปิดตัวฟีเจอร์ค้นหาด้วยภาพไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2019 และหลังจากเปิดให้บริการฟีเจอร์ดังกล่าวก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมียอดการค้นหาด้วยรูปภาพเฉลี่ยสูงถึง 400,000 ครั้งต่อเดือน

ทั้งนี้ เพื่อใช้ประโยชน์จากวิช่วล เสิร์ช ให้เกิดประโยชน์เต็มศักยภาพ สิ่งสำคัญ คือ ระบบการจัดการ Back-end ของแพลตฟอร์ม ซึ่งต้องพร้อมรองรับการใช้งานปริมาณมาก มีระบบการค้นหาและคลังจัดเก็บรูปภาพที่แม่นยำ มีประสิทธิภาพ แสดงผลลัพธ์การค้นหาที่อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าหยิบสินค้าลงตะกร้าได้สะดวก

นอกจากนี้ การร่วมมือกับแพลตฟอร์มประเภทอื่นๆ เช่น แชท แอพพลิเคชั่น ก็สามารถยกระดับการใช้งาน วิช่วล เสิร์ช ได้เป็นอย่างดี ดั่งเช่นกรณีของ Amazon ที่จับมือกับ Snap Chat เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าโดยตรงผ่านแอพพลิเคชันยอดนิยมที่ผู้คนใช้งานเป็นประจำทุกวัน เมื่อผู้ใช้ Snap Chat หันกล้องไปทางสิ่งของหรือบาร์โค้ดสินค้า หน้าจอก็จะแสดงผลเป็นลิ้งค์ที่นำไปสู่สินค้าประเภทเดียวกันบน Amazon โดยทันที


วิวัฒนาการของวิช่วล เสิร์ช ยังไม่หยุดลงเพียงเท่านี้ อนาคตเทคโนโลยีนี้จะยิ่งทวีความแม่นยำมากขึ้น มีแนวโน้มที่ วิช่วล แพลตฟอร์ม เช่น อินสตาแกรมจะเพิ่มฟีเจอร์วิช่วล เสิร์ชลงบนแพลตฟอร์มของตัวเอง และอาจนำไปสู่การเพิ่มฟีเจอร์ร้านค้าหรือการร่วมเป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในอนาคต

ทั้งมีแนวโน้มที่แชทบอท จะถูกนำเข้ามาบูรณาการกับวิช่วล เสิร์ช เพื่อใช้เป็นจุดเริ่มต้นการสนทนาซื้อขายสินค้า ด้านการใช้งานคาดว่า ผู้บริโภคจะหันมาใช้กันมากขึ้น สิ่งที่แบรนด์ต่างๆ และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซควรทำ คือ ทำให้ฟีเจอร์วิช่วล เสิร์ช พร้อมสำหรับการใช้งานและนำเสนอไปสู่ลูกค้า เพราะมันไม่ได้เป็นแค่ ‘Gimmick’ ที่ทำให้คุณดูทันสมัย แต่เป็น ‘Game Changer’ สำหรับโลกค้าปลีกในอนาคต