“มิ่งขวัญ”ร่วมพปชร?

“มิ่งขวัญ”ร่วมพปชร?

เป็นความจริงที่สุดว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะ “เก็บเบี้ย ใต้ถุนร้าน” สะสมคะแนนเสียงส.ส.ในสภา

พลันที่มีข่าวพรรคเศรษฐกิจใหม่ ของ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ซึ่งมีส.ส.บัญชีรายชื่อ 6 คน จะเข้าร่วมรัฐบาล หมายความว่า ฝ่ายค้านก็จะวูบหายไปเท่ากัน

นักข่าวเจอหน้า บิ๊กป้อม ผู้จัดการรัฐบาลตัวจริง” แต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยังพลิ้ว “ยังไม่ได้เจอนายมิ่งขวัญ ยังไม่ได้พูดคุย ไม่ได้ดีลอะไรกัน และยังไม่รู้ว่าเขาจะมาทั้งหมดหรือมากี่คน แต่ถ้ามาร่วมก็ดี”

ต้นปี 23 มี.ค.2562 ‘มิ่งขวัญร่อนแถลงการณ์ด่วน ไม่ร่วมงาน พปชร.

โดยบอกไว้ในแถลงการณ์ ข้อ 2 "เราขอยืนยันว่า จะทำงานร่วมกับฝั่งประชาธิปไตยและคำนึงถึง เรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต และผลประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนชาวไทย อนึ่ง "ถ้ามีการอ้างความเป็นประชาธิปไตย แล้วพบว่า มีการทำงานโดยไม่ซื่อสัตย์ สุจริต ต่อพี่น้องประชาชนชาวไทยเกิดขึ้น เราพร้อมจะขอถอนตัวออกมาทันที"

11 ต.ค.2561 มิ่งขวัญ” นัดสื่อมวลชนแถลงชี้แจงรายละเอียด ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ถึงอนาคตทางการเมืองของตัวเอง โดยยืนยันว่า ไม่เคยมีการพูดคุยกับแกนนำหรือใครในพรรคพลังประชารัฐ และไม่คิดจะไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ

แต่ด้วยประสบการณ์ทางการเมือง และคอนเนคชั่นที่ดีทั้ง 2 ขั้ว ไม่แปลกที่ชื่อ มิ่งขวัญ จะถูกกล่าวถึงอยู่เสมอ

ในทางการเมือง ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มิ่งขวัญ มีโอกาสช่วยงาน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีทางเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น โดยเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับการท่องเที่ยว

จากนั้น มิ่งขวัญได้รับเลือก ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.)

ทั้งนี้ ระหว่างการบริหาร บริษัท อสมท มิ่งขวัญ เคยปรับรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ของ สนธิ ลิ้มทองกุล ออกจากผังรายการช่อง 9 และเมื่อเกิดรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ทักษิณในฐานะนายกรัฐมนตรี ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพฯ ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ทางไกลจากต่างประเทศ ออกอากาศทางโมเดิร์นไนน์ทีวี เพื่อดำเนินการกับคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่การทำรัฐประหารสำเร็จ มิ่งขวัญ ลาออกจาก อสมท

 ในปี 2550 พรรคพลังประชาชน ทาบทามเขาให้เป็น หัวหน้าคณะทำงานด้านเศรษฐกิจของพรรค

จากคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน ของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2551 นายมิ่งขวัญ จึงย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ

นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เขาประกาศว่าขอเสนอตัวเป็นนายกฯ คนต่อไป

 18 ธ.ค.2556 มิ่งขวัญ ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และขอเว้นวรรคทางการเมือง แต่ยืนยันว่ายังคงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพรรค

จากนั้นนายมิ่งขวัญ ได้เข้าร่วมและนั่งหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ เพื่อลงสมัครรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 และประกาศว่า จะไม่เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐเพราะอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกัน