Inverted Yield Curve สะท้อนความกลัวอย่างไร

Inverted Yield Curve สะท้อนความกลัวอย่างไร

ช่วงนี้มีการพูดถึงการที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 10 ปี ปรับลดลงมาต่ำกว่าพันธบัตรระยะสั้น 2 ปี หรือที่เรียกว่า Inverted Yield Curve

ว่าเป็นสัญญาณการเตือนของภาวะเศรษฐกิจถดถอย เกิดแรงเทขายหุ้นอย่างรุนแรงในตลาดหุ้นสหรัฐและทั่วโลกตามสัญญาณเตือนนี้ การวิเคราะห์ว่าสัญญาณเตือนตรงนี้มีผลแค่ไหน และนักลงทุนต้องเตรียมตัวกันอย่างไร อย่างไรก็ตามก็ต้องเข้าใจที่มาของปรากฎการณ์นี้ก่อน

โดยปกติแล้วเวลาเราเอาเงินไปฝากประจำที่ธนาคาร เราคาดหวังว่าถ้าการฝากระยะยาวต้องได้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าฝากระยะสั้น เพราะมองว่าเราเอาเงินไปฝากไว้กับธนาคารนานกว่า เสียโอกาสมากกว่า แถมเสี่ยงกว่าฝากระยะสั้นด้วย ถ้าดอกเบี้ยต่ำกว่าเราจะไปฝากระยะยาวทำไม เช่นเดียวกันกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่โดยปกติแล้วผลตอบแทน 10 ปีควรจะสูงกว่า 2 ปี เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ฝากเงินจะเชื่อว่าในระยะอันใกล้เงินของตัวเองจะมีความเสี่ยงถ้าเอาไปลงทุนอย่างอื่น หรือมีมุมมองกับเศษฐกิจไม่ดี ผู้ฝากเงินจึงเริ่มทยอยเอาเงินไปฝากระยะยาวผ่านการซื้อพันธบัตรระยะยาว 10 ปี ยิ่งผู้ฝากเงินหลายๆคนมีมุมมองเดียวกันนี้มากขึ้น เลยเกิดการไล่ซื้อพันธบัตร 10 ปีนี้พร้อมๆกัน ทำให้ราคาขึ้น(อัตราผลตอบแทนลดลง) จนกลายเป็นอัตราผลตอบแทนลดไปเท่ากับพันธบัตร 2 ปี

จากเหตุผลตรงนี้ Inverted Yield Curve จริงๆก็คือตัวสะท้อนความกลัวของนักลงทุนส่วนใหญ่ ยิ่งพอเกิดกับพันธบัตรสหรัฐก็คือการสะท้อนความกลัวของนักลงทุนทั่วโลกนั่นเอง ดังนั้นสิ่งที่เราต้องมองต่อไปคือ ความกลัวตรงนี้จะขยายผลไปได้ขนาดไหน ถ้ากลัวมากขึ้นเรื่อยๆ Inverted Yield Curve ก็จะมีลักษณะ Inverted มากขึ้นไปอีก การขายหุ้นออกจากสินทรัพย์เสี่ยงตลาดหุ้น และโยกเงินเข้าพันธบัตรระยะยาวสกุลเงินหลักๆทั่วโลก โดยหุ้นขนาดใหญ่ของแต่ละตลาดหุ้นก็จะได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักจากการโยกย้ายเงินแบบนี้ ทำให้เราเห็นปรากฎการณ์ที่หุ้นขนาดใหญ่ของไทยเราหลายๆตัว ราคาปรับตัวลงอย่างรุนแรง ความกลัวตรงนี้สะท้อนผ่านไปสินทรัพย์ที่มองว่าปลอดภัยอีกอันก็คือทองคำ จะเห็นได้ว่าราคาทองคำก็ได้เริ่มปรับขึ้นมาล่วงหน้า นอกจากนั้นยังสะท้อนผ่านตราสารอนุพันธ์ที่ใช้ช่วยประกันความเสี่ยงขาลง ทำให้ราคาซื้อขายของออปชั่นที่อ้างอิงกับดัชนี S&P500 แพงขึ้นสะท้อนผ่านดัชนี VIX ที่ปรับขึ้นมาสูงตาม

เมื่อนักลงทุนเข้าใจกลไกตรงนี้จะเห็นว่า สิ่งที่เราเผชิญตรงนี้เป็นเรื่องของความกลัวที่”จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถด\ถอย แต่ยังไม่ใด้เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยจริงๆ การที่จะเห็นเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยนั้นยังต้องดูข้อมูลอีกมาก และใช้เวลาอีกนาน นักลงทุนต้องมองประเด็นนี้ให้ชัดเจนว่า การเก็งกำไรหรือการเลือกลงทุนระยะสั้นตอนนี้เป็นเรื่องของจิตวิทยา ถ้านักลงทุนเชื่อว่าความกลัวตรงนี้เกิดขึ้นชั่วคราว การเก็งกำไรสวนทางกับความกลัวตรงนี้ จะได้ผลตอบแทนที่ดีมากถ้าสุดท้ายความกลัวตรงนั้นคลี่คลายลง หรือถ้านักลงทุนที่เชี่อว่าความกลัวตรงนี้จะตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยจริงๆและลามไปเรื่อยๆ ก็ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่ราคาจะปรับขึ้นไปต่อด้วยความกลัว เช่น ทองคำ พันธบัตรรัฐบาลระยะยาว หรือแม้กระทั่งหุ้นกู้เอกชนที่มีความน่าเชื่อถือดีๆ ส่วนการลงทุนในหุ้น ก็คงต้องมองหาหุ้นที่เป็นลักษณะ Defensive และมีผลกระทบน้อยกับสภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งสุดท้ายแล้วเงินลงทุนในหุ้นก็อาจจะทยอยเข้ามาลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้