กฎหมายทำแท้ง : ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแล้วหรือยัง?

กฎหมายทำแท้ง : ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแล้วหรือยัง?

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในสังคมไทย ข่าวเกี่ยวกับแม่ที่คลอดลูกแล้วทิ้งตามสถานที่ต่างๆ

รวมถึงข่าวหญิงที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากการทำแท้งเถื่อนปรากฏในสื่อต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งนอกจากจะสร้างความสะเทือนใจแก่สังคมแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการไม่สามารถเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและถูกกฎหมายในประเทศไทยอีกด้วย

ปัจจุบัน การยุติการตั้งครรภ์หรือการ ทำแท้งในประเทศไทยถือเป็นความผิดทางอาญา ตามมาตรา 301-304 แห่งประมวลกฎหมายอาญาได้กำหนดโทษของการทำแท้ง ทั้งในกรณีหญิงทำแท้งด้วยตนเองหรือยอมให้ผู้อื่นทำแท้งให้ และถ้าการทำแท้งเป็นเหตุให้หญิงเป็นอันตรายหรือถึงแก่ชีวิตก็จะมีโทษหนักขึ้น และหากผู้ใดทำแท้งโดยผู้หญิงไม่ยินยอมก็จะได้รับโทษหนักขึ้นไปอีก และหากการทำแท้งนั้นเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตายก็จะได้รับโทษสูงสุดคือจำคุกตั้งแต่ 5 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 1 - 4 หมื่นบาท

อย่างไรก็ตาม มาตรา 305 ประมวลกฎหมายอาญาได้กำหนดข้อยกเว้นความผิดไว้ 2 กรณี คือ 1. กรณีการทำแท้งมีความจำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิง และ 2. กรณีที่หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาตามที่กฎหมายกำหนด คือ ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ความผิดฐานเป็นธุระจัดหาบุคคลไปเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น และความผิดฐานพาบุคคลไปเพื่อการอนาจาร

นอกจากนี้ ในปี 2548 แพทยสภาได้ออกข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยมีสาระสำคัญกำหนดให้แพทย์สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ในกรณีต่อไปนี้ คือ 1. กรณีหญิงมีครรภ์มีปัญหาสุขภาพกาย 2. กรณีหญิงมีครรภ์มีปัญหาสุขภาพจิต 3. เมื่อทารกในครรภ์มีความพิการอย่างรุนแรงหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคพันธุกรรมที่รุนแรง และหญิงนั้นมีความเครียด และ 4. กรณีหญิงถูกข่มขืน ทั้งนี้ แพทย์ที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวถือว่าได้กระทำตามมาตรา 305 ประมวลกฎหมายอาญา และถือว่าไม่มีความผิด

จะเห็นได้ว่า บทบัญญัติในเรื่องความผิดเกี่ยวกับการทำแท้งข้างต้นมีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองชีวิตทารกในครรภ์มารดา และเพื่อรักษาศีลธรรมอันดีของประชาชนเป็นสำคัญ ทำให้เกิดประเด็นโต้เถียงมาเป็นเวลายาวนานว่าระหว่าง สิทธิของทารกในครรภ์มารดากับ สิทธิของหญิงตั้งครรภ์สิทธิใดควรได้รับความคุ้มครองมากกว่ากัน

เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 305 ประมวลกฎหมายอาญา พบว่าเหตุยกเว้นความผิดฐานทำแท้งไม่ครอบคลุมถึงกรณีการตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อม เช่น การตั้งครรภ์ที่เกิดจากความผิดพลาดของการคุมกำเนิด การตั้งครรภ์ในวัยเรียน หรือการตั้งครรภ์ในขณะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ เป็นต้น จึงอาจกล่าวได้ว่ากฎหมายไทยเน้นคุ้มครองสิทธิของทารกในครรภ์เป็นหลัก นี่เองเป็นเหตุให้หญิงตั้งครรภ์จำนวนมากต้องยุติการตั้งครรภ์ด้วยวิธีทำแท้งเถื่อน ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ส่วนในกรณีที่ยอมให้มีการตั้งครรภ์ต่อไป ก็อาจนำไปสู่การทอดทิ้งหรือฆ่าทารกตามที่ปรากฏในสื่อต่าง ๆ

สำหรับในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว หลายประเทศอนุญาตให้มีการทำแท้งโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น ประเทศอังกฤษมีการยกเลิกโทษทางอาญาสำหรับหญิงซึ่งทำแท้ง โดยกฎหมายอนุญาตให้ยุติการตั้งครรภ์ได้ในกรณีที่อายุครรภ์น้อยกว่า 24 สัปดาห์ และการตั้งครรภ์นั้นอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือจิตใจของหญิงตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังกำหนดให้การทำแท้งเป็นบริการทางสาธารณสุขที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วย

ส่วนในประเทศไอร์แลนด์เพิ่งประกาศใช้กฎหมายอนุญาตให้มีการทำแท้งเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2562 หลังจากมีการลงประชามติเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ห้ามการทำแท้ง โดยกฎหมายอนุญาตให้ยุติการตั้งครรภ์ในกรณีที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ แต่ถ้าอายุครรภ์เกินกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่ถึง 24 สัปดาห์ จะสามารถทำได้ในเงื่อนไขที่การตั้งครรภ์นั้นเป็นอันตรายต่อหญิง และหากอายุครรภ์เกิน 24 สัปดาห์ จะยุติการตั้งครรภ์ได้เฉพาะกรณีที่ทารกในครรภ์มีความผิดปกติร้ายแรง

ล่าสุดในช่วงต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ประเทศนิวซีแลนด์มีการเสนอร่างกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์เข้าสู่สภา หลักการสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้คือยกเลิกความผิดทางอาญาเกี่ยวกับการทำแท้ง โดยเสนอให้การทำแท้งเป็นการรักษาทางการแพทย์และไม่ถือเป็นอาชญากรรม และอนุญาตให้หญิงสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้หากอายุครรภ์ไม่เกิน 20 สัปดาห์

เมื่อพิจารณาถึงกฎหมายของต่างประเทศเกี่ยวกับการทำแท้งข้างต้น พบว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะสร้างความสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิของหญิงตั้งครรภ์กับสิทธิของทารกในครรภ์มารดา โดยมีอายุครรภ์เป็นเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณาว่าจะสามารถทำแท้งได้หรือไม่ เนื่องจากการยุติการตั้งครรภ์เมื่ออายุครรภ์มากอาจทำให้มีความเสี่ยงจากการทำแท้งสูง และจากการสำรวจข้อมูลพบว่าตัวเลขผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยในประเทศที่อนุญาตให้มีการทำแท้งโดยชอบด้วยกฎหมายมีจำนวนต่ำกว่าประเทศที่กำหนดให้การทำแท้งเป็นความผิดทางอาญา นั่นหมายความว่าการอนุญาตให้มีการทำแท้งถูกกฎหมายจะเกิดความปลอดภัยมากกว่า

เมื่อย้อนมาดูสถานการณ์ในประเทศไทย ผู้เขียนจึงเห็นว่าควรมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้ง โดยคำนึงถึงสภาพสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย ส่วนหญิงที่ต้องการตั้งครรภ์ต่อไปแม้จะเป็นการตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อม รัฐก็ควรให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ทั้งแม่และบุตรสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือรัฐต้องเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการคุมกำเนิด ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทางและตรงจุดที่สุดด้วย.

โดย... 

ชญานี ศรีกระจ่าง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์