จริงจังแค่ไหน?... การขับเคลื่อนการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน

จริงจังแค่ไหน?... การขับเคลื่อนการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน

ต้นเดือนส.ค.นี้ คนไทยเจอกับพายุ “วิภา” ทำเอาฝนตกหนักกว่า 31 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพฯ ที่ชุ่มฉ่ำไปด้วยฝน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงบ่อยครั้ง เป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่ต่างจากประเด็นอื่น ๆ ในสังคม ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมโดยมุ่งเน้นเทคโนโลยีการผลิต และการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินทำให้ทุกภาคส่วนต่างมีความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม จึงเกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนผ่านกลไกต่างๆ โดยทางภาครัฐได้จัดทำแผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน พ.ศ. 2560-2579 (Sustainable Consumption and Production Roadmap 2017-2036: SCP Roadmap 2017-2036) ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อยอดจากโรดแมปเพื่อการส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2560-2579 ที่จัดทำขึ้นภายใต้ Thailand – EU Policy Dialogues Support Facility (PDSF) โดยพิจารณาเพิ่มเติม และปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับนโยบายและแผน ยุทธศาสตร์ระดับประเทศและรายสาขา

รวมทั้งเป้าหมายและแผนการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สอดคล้องกับเป้าประสงค์และตัวชี้วัด ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 12 สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน โดยกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานภายใต้แผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน พ.ศ. 2560-2579 ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก ครอบคลุมเรื่องการผลิตที่ยั่งยืน การบริโภคที่ยั่งยืน และการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยแผนขับเคลื่อนดังกล่าวจะให้ความสำคัญทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ ที่มีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐและฉลากสิ่งแวดล้อม ซึ่งเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ของภาครัฐได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินงานในช่วงระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) โดยมีการเพิ่มกลุ่มเป้าหมายในหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ มหาวิทยาลัย และหน่วยงานในกำกับของรัฐ รวมทั้งขยายความร่วมมือไปยังภาคเอกชน

จากการที่ภาคส่วนต่างๆ ได้มีการเลือกซื้อเลือกใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่างๆ ซึ่งได้รับการรับรองฉลากสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าฉลากเขียว (Green Label) ฉลากลดคาร์บอน ( Carbon Reduction Label) อาคารลดคาร์บอน (Building Reduction Certification) หรือฉลากอื่นๆ นับเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่า หน่วยงานหรือผู้บริโภคจะได้รับผลิตภัณฑ์ที่สามารถลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในแง่การใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดของเสียและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการกำจัดซากผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุการใช้งาน ดังนั้น การขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยังยืน ผ่านกลไกการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ความสำเร็จตามเป้าหมายจะเกิดขึ้นได้เมื่อทุกภาคส่วนของสังคมร่วมมือกันขับเคลื่อนโดยเฉพาะทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคต้องก้าวไปพร้อมกันเพื่อสู่ความยั่งยืน

โดย... 

พรนภา ยะปาน

ฝ่ายส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย