เศรษฐกิจโลก 2020: ไม่แตก ไม่ตาย ไม่โต

เศรษฐกิจโลก 2020: ไม่แตก ไม่ตาย ไม่โต

2019 เพิ่งผ่านไปเพียง 8 เดือน แต่ปัจจัยลบก็ถาโถมทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มแย่ลงต่อเนื่อง ทั้งจากภาคการผลิตที่ตกต่ำทั่วโลก

เห็นได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตทั่วโลกที่ตกเข้าสู่แดนลบมาระยะหนึ่ง รวมถึงสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้นหลัง ทรัมพ์ประกาศจะขึ้นภาษีสินค้าจีนอีก 10% ใน 3 แสนล้านดอลลาร์ที่เหลือ หลังจากขึ้นภาษี 25% ในสินค้ามูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์แรกแล้ว

ความเสี่ยงต่าง ๆ ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวล และมองว่าจะวิกฤตในปี 2020 โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากเครื่องชี้ทางการเงินต่าง ๆ เช่น เส้นผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่กลับทิศ (Inverted Yield Curve) แต่ผู้เขียนมองว่า เศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะไม่เกิดวิกฤต แต่จะ ไม่แตก ไม่ตาย แต่ไม่โต โดยมี 3 เหตุผลที่ทำให้เชื่อเช่นนั้น

  1. เศรษฐกิจโลกพึ่งพาภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing) น้อยลง แต่พึ่งภาคบริการมากขึ้นโดยเศรษฐกิจโลกปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ขั้ว คือ ภาคอุตสาหกรรรมที่ถูกกดดันทั้งจากสงครามการค้า ความต้องการทั่วโลกที่ชะลอตัว และวัฐจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นขาลง

ขณะที่ภาคบริการอื่น ๆ ร้อนแรงขึ้น ทั้งจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปทำให้ความต้องการสินค้าน้อยลง แต่ความต้องการบริการ On-line และ On-demand มากขึ้น โดยเฉพาะบริการที่เป็นทรัพย์สินเชิงปัญญา (Intellectual Property: IP) ทำให้การลงทุนในอนาคตเป็นการลงทุนในด้าน IP มากขึ้น ซึ่งมีภูมิต้านทานต่อเศรษฐกิจชะลอตัว

โดยในสหรัฐ การลงทุนเป็น 14% ของ GDP โดยรวม แต่การลงทุนใน IP เพิ่มสัดส่วนมากขึ้น โดยปัจจุบันเป็น 1 ใน 3 ของการลงทุนทั้งหมด ขณะที่ในญี่ปุ่น สัดส่วนดังกล่าวประมาณ 1 ใน 4 ในยุโรป เป็น 1 ใน 5 ซึ่งการลงทุนใน IP ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่เช่น ลงทุนใน Cloud-computing ทำให้ธุรกิจอื่น ๆ ไม่จำเป็นต้องลงทุนในระบบจัดเก็บฐานข้อมูลของตนเอง และหันไปพี่งภาคบริการมากขึ้น

1.ภาคการเงินโลกผ่อนคลายลงในระดับหนึ่ง แม้หนี้โดยรวมจะอยู่ในระดับสูงขึ้น (สหรัฐ: 250% GDP; โลก: 310% GDP) แต่ดอกเบี้ยต่ำจะช่วยในระดับหนึ่งโดยนโยบายการเงินทั่วโลกจะผ่อนคลายมากขึ้นซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไม่ได้แย่มาก โดยผู้เขียนมองว่าเป็นไปได้ที่ Fed จะลดดอกเบี้ยมากขึ้นกว่าระดับปัจจุบันหากสงครามการค้ารุนแรงขึ้น โดยอาจลดอีก 1-2 ครั้งในปีนี้ และอีก 1-2 ครั้งในปีหน้า ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางชั้นนำและประเทศตลาดเกิดใหม่ต่าง ๆ หันมาทำนโยบายการเงินผ่อนคลายอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินทั่วโลกยิ่งผ่อนคลายมากขึ้น

2.เศรษฐกิจในประเทศจะเริ่มขยายตัวมากขึ้น ชดเชยภาคเศรษฐกิจต่างประเทศที่มีปัญหาได้โดยในสหรัฐ ตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่งทำให้ประชาชนมีรายได้มาบริโภคมากขึ้น โดยจาก GDP ไตรมาส 2/19 เห็นได้ว่าภาคการบริโภคเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวถึงกว่า 78% จากช่วงก่อนหน้าที่อยู่ที่ 70%

ในยุโรป เริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้นใน 2 ประเทศหลัก คือ (1) สเปนที่ฟื้นตัวหลังวิกฤตหนี้สาธารณะในปี 2012 โดยภาคอสังหาฯ ฟื้นตัวจากความต้องการของนักธุรกิจและนักเรียนต่างชาติ ภาคการลงทุนจากต่างชาติเริ่มเพิ่มสูงขึ้น และภาคสินเชื่อที่ขยายตัวดีขึ้นจากการปฏิรูปภาคธนาคารหลังวิกฤตทางการเงิน และ (2) ฝรั่งเศส ที่การใช้จ่ายในประเทศเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวหลังการประท้วงเสื้อกั๊กเหลือง ผลจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งขึ้น โดยการว่างงานต่ำสุดตั้งแต่ช่วงวิกฤต ขณะที่ค่าจ้างที่แท้จริง (หักเงินเฟ้อ) เพิ่มขึ้น

ในภาพรวม แม้ว่าภาคอุตสาหกรรรมของยุโรปหดตัวกว่า 1% ในช่วง 2 ปี แต่ภาคบริการ เช่น ค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจบริการมืออาชีพ (Professional service) รวมถึงธุรกิจก่อสร้างเติบโต 2-4% ในช่วงดังกล่าว นอกจากนั้น นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายก็มีส่วนช่วยให้เงินยูโรอ่อนและสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวของยุโรปด้วยเช่นกัน

ในจีน แม้ว่าเศรษฐกิจจะยังคงชะลอลงต่อเนื่อง โดยเติบโตเพียง 6.2% ในไตรมาส 2 ต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ทศวรรษ ซึ่งผลจากภาคส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศมูลค่า 6.3 ล้านล้านหยวนก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจจีนได้ในระดับหนึ่ง เห็นได้จากตัวเลขเศรษฐกิจจริงต่าง ๆ เช่น การลงทุน การผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดค้าปลีกที่ยังเติบโตได้แข็งแกร่ง

อีกส่วนเห็นจากการเพิ่มการอัดฉีดภาคการเงิน ทำให้อัตราความเข้มข้นของภาคการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Credit intensity) เพิ่มสูงขึ้น บ่งชี้ว่าจีนหันกลับมาผ่อนคลายด้านการเงินอีกครั้ง หลังจากเข้มงวดภาคการเงินเพื่อลดความเสี่ยงหนี้เสียในช่วงที่ผ่านมา

ภาพทั้งสามบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้าไม่น่าจะเข้าสู่ภาวะวิกฤตหรือถดถอย แต่ก็จะไม่โตมาก เนื่องจากเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจาก

1.สงครามการค้าที่จะรุนแรงขึ้นและจะกระทบต่อภาคการค้าโลก โดยผู้นำโลกในยุคปัจจุบันมีแนวโน้มจะนำสงครามการค้าและเศรษฐกิจมาเป็นหนึ่งในเครื่องมือกดดันประเทศอื่นเพื่อผลเชิงการเมือง ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนห่วงโซ่การผลิต (Supply chain) จากที่ ๆ มีประสิทธิภาพสูงสุด ต้นทุนต่ำสุด และ/หรือเป็นตลาดใหญ่ไปสู่ประเทศที่แม้ไม่ถูกเก็บภาษีแต่ประสิทธิภาพการผลิตต่ำกว่า ซึ่งในระยะสั้นจะกระทบการบริโภคและลงทุนในประเทศที่ถูกย้ายฐานการผลิตออกไป และในระยะยาวจะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านขีดความสามารถแข่งขันในระดับโลก

2.ดอกเบี้ยต่ำทำให้สถาบันการเงินโลกประสบปัญหาโดยภาครัฐในประเทศตลาดเกิดใหม่จะหันมากู้เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น ขณะที่ภาคเอกชนในประเทศพัฒนาแล้วจะเริ่มกู้เพื่อเพิ่มการลงทุนมากขึ้น (โดยจะหันไปออกหุ้นกู้มากขึ้น) ซึ่งการที่ดอกเบี้ยต่ำ ประกอบกับภาคเอกชนในประเทศพัฒนาแล้วระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้มากขึ้น รวมถึงกฎระเบียบภาคการเงินในระดับโลกและแต่ละประเทศที่ยังคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ทำให้ตัวกลางทางการเงินอย่างสถาบันการเงินประสบปัญหาทางการเงินมากขึ้นในปีหน้า

3.ความเสี่ยงด้านอื่น ๆเช่น นโยบายของรัฐที่กดดันภาคธุรกิจ รวมถึงความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์จะมีมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การวางแผนจัดการด้านธุรกิจในอนาคตยากลำบากขึ้น

เศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะไม่แตก ไม่ตาย แต่ก็จะไม่โต และมีความเสี่ยงมากขึ้น นักธุรกิจและนักลงทุนพร้อมที่จะอยู่ในโลกแบบนี้แล้วหรือยัง

[ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ ]