ภาระบริการสุขภาพ “ชาวต่างด้าว”

ภาระบริการสุขภาพ “ชาวต่างด้าว”

ปัจจุบันชาวต่างชาติและ/หรือคนต่างด้าวทำงานในประเทศไทยจำนวนมากนับหลายล้านคน ส่วนหนึ่งเป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน

มีใบอนุญาตทำงานถูกต้อง และมีสวัสดิการจากองค์กรที่ทำงานอยู่ แต่อีกส่วนหนึ่งที่มีจำนวนมากกว่าส่วนแรกมากมายหลายเท่าคือ แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานแรงงานในประเทศไทย ทั้งพวกที่ลงทะเบียนเป็นแรงงานถูกกฎหมายและประเภทที่เข้ามาทำงานอย่างไม่ถูกกฎหมาย แฝงอยู่ในภาคแรงงานสาขาต่างๆ นับล้านๆ คน 

เมื่อเข้ามาทำงานและมีชีวิตในประเทศไทย ยามที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็จำเป็นต้องใช้บริการทางการแพทย์ภายในประเทศ ปัญหาก็คือ การให้บริการทางการแพทย์ของประเทศไทยนั้นมีทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน และโดยทั่วไปสถานบริการของรัฐนั้นดำเนินการภายใต้งบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาล ในขณะที่ภาคเอกชนนั้นเป็นเรื่องทางธุรกิจ

แต่ประเทศไทยมีปัญหาในการให้บริการคนต่าวด้าวที่เข้าเมืองทำงานทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายอย่างไม่แยกแยะ ทำให้มีจำนวนคนต่างด้าวเข้ามาร่วมใช้บริการรักษาพยาบาลภาครัฐจำนวนมาก และกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และมีผลกระทบถึงการรับบริการของประชาชนชาวไทยที่เป็นเจ้าของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องน่าคิด เพราะแค่ให้บริการประชาชนพลเมืองไทยก็ยังทำได้ไม่สมบูรณ์

จริงๆ แล้วคนต่างด้าวไม่ว่าเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ถูกกฎหมายก็เหมือนชาวต่างชาติทั่วไปที่ควรเข้ารับบริการจากสถานสุขภาพเอกชนเป็นหลัก นอกจากเรื่องฉุกเฉินเร่งด่วนสมควรได้รับการดูแลก่อนส่งต่อ ซึ่งเป็นเรื่องของการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม แต่ไม่ใช่การบริการรักษาพยาบาลอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะบริการของสถานพยาบาลรัฐนั้น ดำเนินการด้วยงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนในประเทศ จึงควรเป็นสิทธิประโยชน์ของพลเมืองไทยโดยเฉพาะ ในฐานะผู้เสียภาษีที่จะได้รับการดูแลให้ดีที่สุดเท่าที่สถานพยาบาลรัฐจะทำได้

ที่อังกฤษ เกิดปัญหานี้เมื่อไม่กี่ปีมานี้เพราะชาวต่างชาติเข้าประเทศมาทำงานและใช้สิทธิสวัสดิการของรัฐเช่นเดียวกับพลเมืองประเทศ ทำให้คนอังกฤษที่ได้รับบริการไม่พอเพียงอยู่แล้ว ต้องแบกรับทั้งภาระภาษีและอดทนรอคอยในการรับบริการจากรัฐนานขึ้น ในที่สุดก็ทนไม่ไหว จึงได้เกิดเหตุการณ์ Brexit ต้องการให้อังกฤษออกจาก EU เพราะถ้ายังอยู่ต่อไปก็ต้องยอมรับนโยบายรับการเคลื่อนย้ายแรงงานโดยเสรี ต้องเปิดประตูรับทั้งๆที่ตัวเองก็มีปัญหาในตัวเองที่แก้ไม่ตก เรื่องนี้ เป็นอุทธาหรณ์สำหรับประเทศที่บริหารจัดการแบบ... เตี้ยอุ้มค่อม...ที่น่าคิด

รัฐบาลไทยควรมีความชัดเจนในเรื่องนี้ เพราะเรื่องของมนุษยธรรมนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่เมื่อพ้นระยะที่ต้องได้รับการช่วยเหลือโดยเร่งด่วนแล้ว รัฐก็ไม่ควรจะต้องแบกรับภาระต่อไปอีกเรื่อยๆ เพราะจะกลายเป็นว่าปัญหาตนเองก็ยังแก้ไม่ตก แล้วยังเพิ่มปัญหาให้กับตัวเองทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก

สถานพยาบาลรัฐที่ได้รับงบประมาณจากภาษีประชาชนคนไทยทั้งประเทศจึงควรจำกัดการให้บริการชาวต่างชาติเท่าที่จำเป็นเร่งด่วนตามหลักมนุษยธรรมเท่านั้น เพราะไม่เช่นนั้น ก็จะยิ่งซ้ำเติมคนไทยเจ้าของประเทศที่ยากลำบากอยู่แล้วให้ต้องยากลำบากมากขึ้น ทั้งๆ ที่เป็นผู้จ่ายภาษี