‘ข้อดี’ ของซัมเมอร์แคมป์

‘ข้อดี’ ของซัมเมอร์แคมป์

ผมเคยเล่าถึงซัมเมอร์แคมป์ที่ผู้ประกอบการของไทยสามารถนำโอกาสทางธุรกิจและจุดแข็งของไทยหลอมรวมพัฒนาให้เป็นรายได้เข้าประเทศได้

การที่ผู้ปกครองคนไทยนิยมส่งบุตรหลานไปเปิดประสบการณ์ช่วงสั้น ๆ ในซัมเมอร์แคมป์ ณ ต่างประเทศนั้น ช่วยฝึกทั้งภาษา เพิ่มพูนทักษะการเอาตัวรอดด้วยตนเอง เพิ่มพัฒนาการทางอารมณ์ นอกจากนี้ยังทำให้บุตรหลานได้เปิดโลกกว้าง กระตุ้นจินตนาการและเพิ่มแรงบันดาลใจอีกด้วย

หลายประเทศใช้ซัมเมอร์แคมป์เป็นหนึ่งในเรือธงเพื่อนำรายได้ด้านการท่องเที่ยวเข้าประเทศ อาทิ สหรัฐ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อังกฤษ ประเทศไทยสามารถเรียนรู้จากผู้นำตลาดเหล่านี้ได้ไม่ยาก

ตัวเลขจาก The American Camp Association เล่าถึงรายได้เฉลี่ยของซัมเมอร์แคมป์ในสหรัฐที่ 1.28 ล้านดอลลาร์ต่อปี ขณะที่รายจ่ายอยู่ที่ 1.16 ล้านดอลลาร์ พูดได้ว่าอัตรากำไรที่ 9% ถือว่าไม่แย่เลยสำหรับธุรกิจนี้

ส่วนประสมแห่งความสำเร็จของค่ายในต่างประเทศเหล่านี้ คือ ความปลอดภัย คุณภาพ และการนำเสนอการบริการที่บูรณาการทั้งภาษา ความสนุก ทักษะและการพัฒนาการทางอารมณ์เข้าด้วยกัน กิจกรรมที่สนุกสนานมากมายถูกนำเสนอและควบคุมโดยผู้ควบคุมกิจกรรมที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง

กลยุทธ์ทางการตลาดที่ช่วยให้แคมป์ถึงเส้นชัยคือ การบอกต่อ เพราะคุณภาพดีจึงมีการบอกต่อ และการประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ หรืออีเมลก็เป็นเครื่องมือชั้นดีเช่นกัน

ย้อนกลับมาที่ไทยที่มีภูมิประเทศและภูมิอากาศเอื้ออำนวย เหมาะสมแก่การจัดกิจกรรมซัมเมอร์แคมป์ที่มีมากมายตั้งแต่ ค่ายภาษาอังกฤษ ค่ายศิลปะ ค่ายวิทยาศาสตร์ ค่ายเฉพาะทางด้านคอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ เกม ที่ล้วนแต่นำเสนอเนื้อหาที่สนุกสนานท่ามกลางบรรยากาศที่ผ่อนคลายนอกชั้นเรียน

กิจกรรมแนวผจญภัยที่เน้นการพัฒนากล้ามเนื้อและการออกกำลังกายก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เพราะช่วยพัฒนาทักษะอื่น ๆ การพัฒนาทางอารมณ์ การเข้าสังคม และการทำงานเป็นทีม อาทิ ค่ายแล่นเรือใบ ขี่ม้า ยิงปืน เล่นกอล์ฟ หรือกีฬาเฉพาะทางอีกมากมาย เช่น ไอซ์สเก็ต ฮอกกี้ เป็นต้น ซึ่งจัดขึ้นโดยภาคเอกชนและหน่วยงานของรัฐบางแห่ง

งานวิจัยในต่างประเทศเห็นตรงกันว่าการเข้าแคมป์นั้นส่งผลให้เยาวชนเรียนรู้ในการพึ่งพาตนเอง ทักษะการเอาตัวรอด การพัฒนาการทางอารมณ์และความสัมพันธ์กับผู้อื่น และความมั่นใจในตนเอง เนื่องจากจำเป็นต้องอยู่ในแคมป์โดยปราศจากครอบครัว เยาวชนจึงต้องปรับตัวเพื่อหาเพื่อนใหม่และเอาตัวรอด

งานวิจัยยังพูดถึงการเข้าแคมป์ค้างคืนส่งผลต่อพัฒนาการได้ดีกว่าแคมป์แบบไปเช้าเย็นกลับอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเยาวชนต้องสร้างต้นทุนทางสังคมกับเพื่อนใหม่ในแคมป์เพื่อปรับตัวให้เป็นที่ยอมรับ ดังนั้นการพัฒนาทางอารมณ์และความมั่นคงทางอารมณ์จึงจำต้องถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว

สิ่งที่ผลวิจัยสร้างความแปลกใจคือ อายุของเยาวชนผู้เข้าร่วมแคมป์ไม่ได้ทำให้การเรียนรู้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ หมายความว่า ไม่ว่าเยาวชนอายุเท่าใดก็จะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นตามที่ได้กล่าวข้างต้น และเด็กผู้หญิงมักมีพัฒนาการดีกว่าเด็กผู้ชายอีกด้วย

พูดได้อย่างเสียงดังฟังชัดว่าซัมเมอร์แคมป์เหล่านี้ทำให้เวลาช่วงปิดเทอมนั้นมีความหมาย ทั้งในเชิงความสนุกสนานเป็นความทรงจำที่ดีของเยาวชน และเพิ่มพัฒนาการด้านต่าง ๆ ตามที่ผู้ปกครองเห็นควร เหนือสิ่งอื่นใดการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันในสังคมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขนับเป็นโอกาสที่หาได้ยากสำหรับเยาวชนในปัจจุบันที่โลกออนไลน์ส่งอิทธิพลอย่างมากต่อการใช้เวลาของเยาวชน