รัฐบาลจะอยู่สั้นหรืออยู่ยาว

รัฐบาลจะอยู่สั้นหรืออยู่ยาว

ด้วยความที่มีเพื่อนหลากหลายอาชีพ บางคนอาจเข้าใจว่าผมจะตอบคำถามเขาได้ทุกเรื่องเวลามีข้อสงสัยอะไรขึ้นมา

มักจะมีคำถามแปลกๆ ที่อาจด้วยความเป็นนักวิชาการ โดยเฉพาะทางการเมือง ย่อมถูกคาดหวังว่าจะสามารถไขข้อข้องใจให้กับเขาได้ คำถามหนึ่งที่มีคนถามมาในระยะนี้คือ สงสัยกันมากว่ารัฐบาลที่มีเสียงสนับสนุนในสภา (ในส่วนของ ส.ส.) แบบปริ่มน้ำนี้จะอยู่ยืดยาวไปได้ถึงเมื่อใด

ในเรื่องนี้เหมือนที่ได้ทำวงเล็บไว้ว่าปริ่มน้ำที่ว่านั้น เฉพาะส่วนที่เป็นจำนวน ส.ส. แต่หากมีการประชุม 2 สภา หรือเรียกว่าประชุมรัฐสภาในเรื่องสำคัญที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เช่น การอภิปรายทั่วไปในเรื่องที่มีความสำคัญต่อรัฐ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะเห็นได้ว่าตัวเลขของฝ่ายรัฐบาลจริงๆ แล้วหาได้ปริ่มน้ำแต่อย่างใด

ความ ปริ่มน้ำ ของจำนวน ส.ส. ดังได้เคยกล่าวมาก่อนหน้านี้แล้วว่าในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติไว้ชัดเจนในมาตรา 94 อธิบายได้ว่า เมื่อพ้น 1 ปีไปแล้ว หากมีการเลือกตั้ง ส.ส.กันใหม่ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง ไม่ให้มีผลกระทบต่อการคำนวณ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ

เมื่อมาพิจารณาในกรณีอันน่ากังวลใจของพรรคการเมืองที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาล หลายคนมองว่าการเข้ามามีจำนวน ส.ส.ได้เป็นกอบเป็นกำ และยังได้รับเงินทุนสนับสนุนพรรคการเมือง บางพรรคแซงหน้าพรรคที่ตั้งมาดั้งเดิมขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าได้นั้น มีหลายปัจจัยเป็นตัวหนุนนำ ไม่ต้องไปถกเถียงกันเรื่องกระแสความนิยมที่เป็นเรื่องปกติในทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ปรากฏการณ์ใครรักใครชอบใครย่อมเทคะแนนหรือเลือกฝ่ายที่ตนเองสนับสนุนอย่างไม่ต้องสงสัย 

แต่นอกเหนือจากเรื่องดังกล่าวแล้ว การพ้นไปของพรรค "ไทยรักษาชาติ" ทำให้การเลือกตั้งในหลายพื้นที่ซึ่งไม่มีตัวเลือกของฝ่ายที่มาในแนวนโยบายเดียวกัน ทำให้พรรคเกิดใหม่กลายเป็นตัวเลือก ในบางเขตบางพื้นที่ผู้สมัครในสังกัดพรรคไทยรักษาชาติเองยังออกมาช่วยหาเสียงให้กับพรรคที่เป็นกระบอกเสียงของ คนรุ่นใหม่ ให้ได้เห็นกันจะเจนตา ประกอบกับผลการเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานครที่ไม่น่าพึงพอใจของพรรคอนุรักษนิยมดั้งเดิม เลยยิ่งส่งผลเป็นตัวช่วยให้คะแนนที่หย่อนบัตรให้กับพรรคเกิดใหม่มีคะแนนท่วมท้น ส่งผลไปถึง "ผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อ" ดังได้เคยเรียนแล้วว่าหลายคนถึงกับตั้งตัวไม่ทันว่าจะได้มาเป็น ส.ส.รับเงินเดือนค่าตอบแทนเข้าถึงเกือบสองสามแสนบาทต่อเดือน

นี่คือที่มาของการทำให้พรรครัฐบาลเมื่อเทียบจำนวน ส.ส.กับฝ่ายค้านในวันนี้ดูเหมือนจะปริ่มน้ำก็จริง แต่ในระยะเวลาต่อไป หากกระบวนการตัดสินตามคำร้องหลายเรื่องที่พุ่งเป้าไปยังพรรคฝ่ายค้านดังกล่าว เป็นผลไปในทางร้ายกับพรรคนั้น เช่น ถึงขั้นยุบพรรคการเมือง รวมทั้งต้องมีการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค จำนวนตัวเลขของ ส.ส.ของฝ่ายค้านที่ลดลงย่อมจะส่งผลไปยังความแข็งแกร่งและมั่นคงยิ่งขึ้นของฝ่ายรัฐบาล เพราะแม้จะไม่ต้องยึดตามมาตรา 94 คือหากมีการยุบพรรคการเมืองดังกล่าวภายในกำหนดเวลาน้อยกว่า 1 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง ตัวเลข ส.ส.ของพรรคฝ่ายค้านย่อมลดน้อยหายไปเป็นจำนวนมาก คะเนดูแล้วน่าจะไม่ต่ำกว่า 20 ที่นั่งขึ้นไป แม้จะยังสามารถให้มีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้อยู่ แต่ก็ต้องคิดบนฐานคะแนนใหม่ที่ทุกพรรคการเมืองก็สามารถส่งผู้สมัครและมีส่วนร่วมในการเข้าคิวรอการ จัดสรรปันส่วน จำนวน ส.ส.เช่นเดียวกัน

ยิ่งการยุบพรรคเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งพ้นไปแล้ว 1 ปี ยิ่งมีผลชัดเจน เพราะจะไม่มีผลในการนำคะแนนเสียงที่ได้มาคำนวณบัญชีรายชื่อกันใหม่อีก เรียกว่า "ต้องชนะกันในเขตเลือกตั้งอย่างเดียว" ตัวเลขความปริ่มน้ำก็จะไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจของฝ่ายรัฐบาลอีกต่อไป

ส่วนข้อสงสัยที่มีบางคนสอบถามมาเช่นกันว่า ในกรณีคำร้องว่าด้วย การล้มล้างระบอบการปกครองฯ จะทำให้ศาลสั่งให้มีการยุบพรรคการเมืองได้หรือไม่ ตอบได้ไม่ยาก เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันรวมทั้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องได้ให้อำนาจ ศาลรัฐธรรมนูญ ทำการวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองหากเข้ากรณีอุกฤษฏ์โทษเช่นที่มีคนถามมานี้ได้โดยชอบ จึงไม่ต้องมีข้อสงสัยใดๆ ว่า หากมีประเด็นอื่นใดที่เข้าข่ายให้มีการยุบพรรคได้ แม้นจะไม่มีการขอให้มีการยุบพรรคการเมือง แต่กฎหมายได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญกระทำการยุบพรรคการเมืองหากเข้าประเด็นที่มีการกำหนดไว้ และยังสามารถตัดสิทธิการเมืองของผู้เกี่ยวข้องแบบไม่มีกำหนดระยะเวลา หรือการตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีพนั่นเอง