เมื่อเทคโนโลยีกระทบ "มหาวิทยาลัยไทย"

เมื่อเทคโนโลยีกระทบ "มหาวิทยาลัยไทย"

สิ่งที่เรียนในมหาวิทยาลัยทุกวันนี้ก็อาจจะล้าสมัยไปก่อนเรียนจบสิ่งที่เรียนในมหาวิทยาลัยทุกวันนี้ก็อาจจะล้าสมัยไปก่อนเรียนจบ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้เข้ารับฟังการบรรยาย คือ ผู้บริหารและอาจารย์ของเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นปัญหาของมหาวิทยาลัยในการรับนักศึกษาปีนี้ คือ หลายสถาบันและหลายสาขาวิชา ไม่สามารถรับนักศึกษาเต็มตามจำนวนที่ต้องการได้ บางสาขาอยู่ในสถานการณ์ที่มีนักศึกษาน้อยมากจนน่าเป็นห่วงว่าจะสามารถเปิดสอนต่อไปได้หรือไม่

ผมคิดว่าสถานการณ์นี้มีปัจจัยอยู่หลายประการ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจำนวนนักศึกษาที่เปิดรับมีมากกว่าจำนวนนักเรียนที่ต้องการศึกษาต่อ ทั้งนี้เนื่องจากในอดีตมหาวิทยาลัยเปิดมากเกินไป ขณะที่จำนวนประชากรรุ่นใหม่ลดลง แต่ส่วนหนึ่งอาจเพราะะสาขาที่เปิดสอนไม่ตรงความต้องการของอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง จึงทำให้นักศึกษาจำนวนมากที่จบออกมาแล้วไม่สามารถหางานทำได้ตามที่ต้องการ ทำให้ไม่เลือกเรียน

แต่ประเด็นสำคัญที่สุดอันดับหนึ่งคือเรื่อง ดิจิทัล ดิสรัปชั่น ชึ่งมีผลกับอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง อย่างสื่อสิ่งพิมพ์ ทีวี หรือธนาคาร คนอาจยังต้องการบริการเหล่านั้นอยู่แต่ผ่านตัวกลางที่เปลี่ยนไป โดยมหาวิทยาลัยก็เป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้เรียนและผู้สอน ในอดีตผู้เรียนจะต้องเรียนในมหาวิทยาลัยที่ผู้สอนใช้เป็นสถานที่ในการสอนแบบเห็นหน้ากันสนทนาและเปลี่ยนความรู้กันได้ แต่ด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยี ทำให้ผู้เรียนและผู้สอนในปัจจุบัน สามารถใช้สถานที่ใดก็ได้ ใช้เครื่องมือใดก็ได้ หรือจะใช้เวลาใดก็ได้ โดยอาจจะเรียนออนไลน์ผ่านสื่อต่างๆ ที่มีความรวดเร็วและสามารถโต้ตอบกันได้

ผมได้บอกกับผู้เข้าฟังบรรยายว่า ผมเรียนจบวิศวกรรมไฟฟ้าเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ตอนนั้นตั้งเป้าว่าจะมาทำงานเป็นวิศวกรไฟฟ้า แต่ทันทีที่ผมจบ สิ่งที่พบคือ เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) ที่เพิ่งเข้ามา ทำให้ผมทราบว่าสิ่งที่ผมเรียนมา 4 ปีนั้น เริ่มล้าสมัยไปแล้ว และหลังจากจบการศึกษาผมมีโอกาสประกอบอาชีพที่หลากหลายทั้งในภาครัฐและเอกชน ผมเป็นทั้งอาจารย์ โปรแกรมเมอร์ ฝ่ายขายซอฟต์แวร์ เป็นผู้บริหารบริษัท กรรมการตรวจสอบ และทำงานอีกหลากหลายอาชีพ ในสิ่งที่ไม่เคยเรียนมาในรั้วมหาวิทยาลัย และสิ่งที่ผมพบตลอดระยะเวลาการทำงานคือผมไม่เคยประกอบอาชีพเป็นวิศวกรไฟฟ้าอย่างที่ตั้งใจไว้ในตอนต้น

ยิ่งทุกวันนี้ความรู้ยิ่งสั้นลงกว่าเมื่อ 30 กว่าปีก่อนมาก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยี สิ่งที่เรียนในมหาวิทยาลัยทุกวันนี้ก็อาจจะล้าสมัยไปก่อนเรียนจบ หากผู้สอนไม่สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้ ความรู้ที่ได้รับก็อาจจะเก่าไปทันทีในทุกๆ สาขาวิชาไม่ใช่เพียงแค่สาขาทางเทคโนโลยี แต่ยังรวมถึงทางสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และการแพทย์ ซึ่ง ศาสตราอาจารย์เฮนรี่ มินทซ์เบิร์ก แห่งมหาวิทยาลัยแมคกิวส์ กล่าวไว้ว่า “เมื่อโลกพยากรณ์ได้ เราต้องการคนฉลาด แต่เมื่อโลกพยากรณ์ไม่ได้ เราต้องการคนที่ปรับตัวได้”

การเรียนรู้วันนี้เป็นไปแบบตลอดชีวิต เราต้องสอนให้คนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา และทุกอุปกรณ์ ทุกวันนี้ผมสามารถเรียนหนังสือได้โดยไม่ต้องไปมหาวิทยาลัยอาจจะเรียนจากอาจารย์เก่งๆ ในสถาบันฝึกอบรมระยะสั้น 3-4 วัน บางครั้งก็เรียนออนไลน์จากสถาบันต่างประเทศ เช่น Columbia Business School และเรียนหลักสูตรในสาขาใหม่ๆ จาก Coursea ล่าสุดผมสนใจที่จะเรียนภาษาจีนแบบเบื้องต้นผมก็เลือกเรียนผ่าน Udemy

ถึงเวลาแล้วที่มหาวิทยาลัยจะต้องปรับตัวเอง วันนี้ผู้เรียนไม่จำเป็นจะต้องเป็นนักศึกษาที่เพิ่งจบมัธยมศึกษา แล้วเข้าเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย 4 ปี มหาวิทยาลัยต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกวัย ที่อาจเรียนจากที่ใดก็ได้ ออนไลน์ก็ได้ เวลาใดก็ได้ นานแค่ไหนก็ได้ มีวิชาที่หลากหลายจากหลายสถาบันที่ได้รับการรับรอง และอาจจะเป็นสหสาขาวิชามาเพื่อให้ประกาศนียบัตรหรือปริญญา ที่ก็ไม่แน่ใจว่าอนาคตข้างหน้ายังเป็นที่ต้องการหรือไม่แต่อย่างน้อยก็เห็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงในมหาวิทยาลัย คนยังต้องการเรียนรู้ ต้องสร้างทักษะ แต่มหาวิทยาลัยอาจไม่ใช่คำตอบหากยังไม่ปรับตัว