200 ปีชาติกาล จอร์จ เอเลียต นักเขียนนวนิยายสตรีผู้ยิ่งใหญ่

200 ปีชาติกาล จอร์จ เอเลียต นักเขียนนวนิยายสตรีผู้ยิ่งใหญ่

จอร์จ เอเลียต (1819-1880) เป็นนามแฝงของ Mary Ann Evans ผู้เขียนนวนิยายชิ้นเอกเรื่อง มิดเดิลมารช – ศึกษาชีวิตผู้คนในหัวเมือง (1871-1872)

และเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเขียนนวนิยายชาวอังกฤษคนเดียวที่เทียบได้กับลีโอตอลสตอย เหตุที่เธอใช้นามแฝงเหมือนชื่อผู้ชาย เพราะเธอต้องการให้ผู้อ่านตัดสินนวนิยายของเธอด้วยเนื้อหาของตัวมันเอง แยกจากชื่อจริงของเธอ ในฐานะบรรณาธิการและนักวิจารณ์นิตยสารและวรรณกรรมปรัชญาและสังคม เธอไม่อยากใช้ชื่อผู้หญิง เพราะในยุคนั้นคนมองว่านักเขียนนวนิยายผู้หญิงเขียนได้แต่นวนิยายโรแมนติกเบาๆ เธออาจต้องการหลีกเลี่ยงการถูกสาธารณชนวิจารณ์ชีวิตส่วนตัวของเธอ ที่เลือกใช้ชีวิตอยู่กินเปิดเผยกับ ยอร์ช เฮนรี่ เลวิส เพื่อนนักคิดนักเขียนที่มีภรรยาแล้ว แต่แยกกันอยู่ โดยที่เขาไม่สามารถหย่าร้างได้ด้วยเหตุผลบางอย่าง

อีวานส์ เป็นลูกสาวคนสุดท้องของผู้ดูแลพวกชาวนาที่เช่าที่นาของเจ้าที่ดินใหญ่ทำกิน ในเมืองเล็กๆ ภาคกลางของอังกฤษ เป็นพวกพวกชนชั้นกลางระดับล่างที่เริ่มขยายตัว ในยุคที่อังกฤษเริ่มพัฒนาการเกษตรและอุตสาหกรรมแบบทุนนิยม เธอเป็นหนอนหนังสือ ฉลาด และหน้าตาขี้เหร่ มีโอกาสหาสามีได้ยาก (สมัยนั้นผู้หญิงมีสถานะต่ำ ต้องพึ่งพาสามี) พ่อเธอลงทุนส่งเสียให้เธอเรียนหนังสือในโรงเรียนเอกชนสำหรับผู้หญิง ซึ่งปกติมีแต่ลูกคนชั้นสูงเท่านั้นที่จะได้เรียน การที่พ่อเธอเป็นผู้ดูแลนิคมที่ดินของเจ้าที่ดิน ทำให้เธอเข้าถึงห้องสมุดของพวกเจ้าที่ดิน และอ่านหนังสืออย่างกว้างขวาง การไปเยี่ยมพ่อที่นิคมของเจ้าที่ดินทำให้เธอเห็นความแตกต่างระหว่างชาวนาที่ยากจนกับเจ้าของที่ดินที่ร่ำรวยใช้ชีวิตหรูหรา และเธอยังได้รับอิทธิพลจากนักคิด นักปฏิรูปศาสนาในยุคนั้นด้วย

เมื่อพี่ชายเธอแต่งงานและเป็นหัวหน้าครอบครัวตามธรรมเนียมในยุคนั้น เธอกับพ่อย้ายไปอยู่อีกเมืองหนึ่งใกล้เมืองโคเวนตรี้ อีวานส์มีโอกาสได้ไปสมาคมกับชาร์ล เบรย์ นักอุตสาหกรรมหัวก้าวหน้าผู้สร้างโรงเรียนและทำกิจกรรมช่วยเหลือคนจน ที่บ้านของชาร์ล เบรย์ เป็นที่ชุมนุมปัญญาชนหัวก้าวหน้า เช่น โรเบิร์ต โอเว่น (นักสหกรณ์) เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์ (นักปรัชญา, นักเขียน) ราล์ฟ วอลโด อีเมอร์สัน (นักเขียนปรัชญาอเมริกัน) และคนอื่นๆ ทำให้เธอมีทัศนะแบบเสรีนิยมก้าวหน้า และทัศนะทางศาสนาแบบพวก Agnostic คือสงสัยว่าพระเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยังพิสูจน์ไม่ได้ แต่ก็ไม่ถึงกับปฏิเสธว่าไม่มี เธอศึกษาภาษาเยอรมันและภาษายุโรปอื่นๆ เขียนบทความวิจารณ์หนังสือในหนังสือพิมพ์ที่เบรย์เป็นผู้พิมพ์ ต่อมาเธอยังแปลหนังสือบทสวดศาสนาของนักเทววิทยาและนักปรัชญาเยอรมัน เช่น เดวิด เฟเดอริค สเตราส์ และลุควิก ฟอยเออบัค ทั้งคู่ไม่เชื่อเรื่องอภินิหารในคัมภีร์ไบเบิ้ล และมองว่าเป็นเทพนิยายปรกณัมเท่านั้น

การที่เธอตั้งคำถามต่อนักศรัทธาทางศาสนา ทำให้เธอขัดแย้งกับพ่อ แต่ก็ประนีประนอม คงเป็นแม่บ้านดูแลบ้านช่องให้พ่อต่อจนพ่อเสียชีวิตตอนที่เธออายุ 30 ปี หลังจากนั้นเธอไปสวิสเซอร์แลนด์กับครอบครัวเบรย์ และต่อมาย้ายไปอยู่ลอนดอนด้วยความตั้งใจจะเป็นนักเขียน เธอไปพักที่บ้านของจอห์น แชปแมน ผู้จัดพิมพ์หัวรุนแรงและทำงานเป็นบรรณาธิการผู้ช่วย นิตยสารฝ่ายซ้ายชื่อ The Westminster Review อยู่ราว 2 ปีครึ่ง ทำหน้าที่เหมือนบรรณาธิการเอง เขียนบทความ บทวิจารณ์เอง เธอสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคนงานเพื่อการปฏิวัติในหลายประเทศในปี 1848 (ที่ล้มเหลว) แต่เธอมองว่าสำหรับอังกฤษการปฏิรูปสังคมแบบค่อยเป็นค่อยไปจะดีที่สุด

ปี 1851 อีวานส์ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับยอร์ช เฮนรี่ เลวิส (1817-1878) นักปรัชญาและนักวิจารณ์ ผู้มีภรรยาแล้วแต่แยกกันอยู่อย่างเปิดเผย ทำให้สังคมยุควิคตอเรียซึ่งมองเรื่องศีลธรรมอย่างเข้มงวด วิพากษ์วิจารณ์คนทั้ง 2 โดยเฉพาะอีวานส์มาก แต่เธอก็ใช้ชีวิตคู่อย่างมีความสุข ความพอใจตลอดมา ทั้งคู่ตระเวนไปเที่ยวยุโรปหลายประเทศ อีวานส์เบนเข็มมาเขียนวนิยายแนวสมจริง ที่เธอได้รับอิทธิพลจากยุโรปภาคพื้นทวีป (และจอห์น รัสกิน นักวิจารณ์ศิลปะหัวก้าวหน้าชาวอังกฤษ) ใช้ชื่อแฝง จอร์จ เอเลียต ซึ่งเป็นชื่อแบบผู้ชาย เลวิสเป็นตัวแทนในการหาที่พิมพ์เรื่องสั้นและนวนิยายให้เธอ นวนิยายเรื่องแรก Adam Bede พิมพ์ปี 1859 ประสบความสำเร็จมาก จนคนสนใจว่าใครเขียน และอีวานส์เริ่มเปิดเผยตัวเองและเขียนนวนิยายออกมาอีกหลายเรื่อง ในช่วง 15 ปี เธอเขียนบทกวีและงานเขียนอื่นๆ ด้วย ควีนวิคตอเรียตามอ่านนวนิยายของเธอทุกเล่ม

ในช่วงเกิดสงครามกลางเมืองอเมริกัน (1861-1863) อีวานส์เขียนสนับสนุนฝ่ายเหนือ ผู้มีนโยบายเลิกทาส ซึ่งเป็นจุดยืนของคนน้อยคนในอังกฤษเวลานั้น เธอยังสนับสนุนให้ไอร์แลนด์ปกครองตนเองและสนับสนุนข้อเขียนและการลงสมัครสส.ของของจอห์น สจ๊วต มิลล์ ผู้สนับสนุนให้สตรีมีสิทธิเพิ่มขึ้น และสนับสนุนนักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพคนอื่นๆ มิดเดิลมาร์ช (1871-1872) ศึกษาชีวิตคนในหัวเมือง ที่สะท้อนชีวิต ความคิด ความใฝ่ฝัน ของคนทั้งเมืองได้อย่างมีชีวิตชีวาและสวยงาม คือนวนิยายชิ้นเอกที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงทั้งในยุคนั้นและปัจจุบัน นักวิจารณ์บางคนเรียกว่านวนิยายอังกฤษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 19 และอาจจะยิ่งใหญ่ที่สุดในทุกยุคสมัยด้วย

อีวานส์เสียชีวิตในปี 1880 ในวัย 61 ปี แม้เธอจะมีชื่อเสียง แต่ศพของเธอไม่สามารถฝังที่โบสถ์เวสต์มินสเตอร์ ที่ฝังศพสำหรับคนมีชื่อเสียงได้ เพราะเธอปฏิเสธศรัทธาในศาสนาคริสต์และใช้ชีวิตแบบนอกสมรสกับเลวิส ศพของเธอฝังที่สุสานไฮเกต (ตะวันออก) ในบริเวณที่สงวนไว้สำหรับพวกต่อต้านสังคม พวกที่ไม่เชื่อว่าพระเจ้าพิสูจน์ได้หรือไม่ เคียงข้างกับศพของเลวิส ที่เดียวกับที่ฝังศพคาร์ล มาร์กซ์ (1818-1883) และเฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์ (1820-1903) เธอถูกจัดอยู่ในกลุ่มนักคิดเสรี (Free Thinkers) หรือพวก Secularists พวกนิยมแยกเรื่องการเมืองสังคมออกจากศาสนาในกลุ่มของจอห์น สจ๊วต มิลล์, ธอมัส คาร์ไลล์ และแมทธิว อาร์โนลด์

เฮนรี่ เจมส์ นักเขียนนวนิยายชาวอเมริกันร่วมสมัยกับจอร์จ เอเลียต เขียนถึงเธอและนวนิยายเรื่อง มิดเดิลมารชไว้ในนิตยสาร Atlantic Monthly (พ.ค.1885) ไว้ตอนหนึ่งว่า

สิ่งที่น่าสนใจ, พิเศษ - และกระบวนการยังคงสลับซับซ้อน, เข้าใจยากคือ เหตุใดผู้หญิงอังกฤษที่เงียบ, กระวนกระวาย, นั่งทำงานอยู่ในห้องส่วนใหญ่, เอาการเอางาน, ไม่ค่อยสนใจเหตุผลคนนี้, คนซึ่งไม่ได้ชอบผจญภัย, ปราศจากความโอ่อ่าหรูหรา, การสรุปอะไรไว้ล่วงหน้าหรือความโอ้อวด จึงสามารถทำให้เราเชื่อได้ว่า ในโอกาสนี้ไม่มีอะไรที่แปลกหน้าสำหรับเธอ; และสามารถสร้างภาพชีวิตที่ซับซ้อนหลายด้านของมนุษย์, ได้อย่างมั่งคั่ง, ลึกซึ้ง และมีฝีมือชั้นครูได้ขนาดนี้

มิดเดิลมารช ศึกษาชีวิตผู้คนในหัวเมือง ได้รับการยกย่องว่าเป็นนวนิยายภาษาอังกฤษที่ดีที่สุดในศตวรรษที่ 19 และเป็นนวนิยายคลาสสิกที่ยิ่งใหญ่ในยุคปัจจุบัน ฉบับแปลโดย อ.นพมาศ แววหงส์ กำลังจะจัดพิมพ์โดยมูลนิธิหนังสือเพื่อสังคมร่วมกับสำนักพิมพ์ไทยควอลิตี้บุ๊ค