ส.ส.ฝึกงาน

ส.ส.ฝึกงาน

การเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมาทำให้เกิดปรากฎการณ์ ส.ส.หน้าใหม่จำนวนมากเข้าสู่สภาในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

 จริงๆ แล้ว ทุกการเลือกตั้งทั่วไปทุกครั้งก็มี ส.ส.หน้าใหม่เข้าสู่สภา แต่จำนวนส.ส.เดิม มักจะคงได้รับการเลือกตั้งเข้ามาใหม่เป็นหลัก ฉะนั้นจำนวน ส.ส.ใหม่จึงไม่มากนัก และมีโอกาสเรียนรู้จาก ส.ส.รุ่นพี่ที่ทำงานในสภาฯมาอย่างโชกโชน 

แต่การเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมานี้ เกิดปรากฎการณ์ที่ผู้ได้รับการเลือกตั้งจำนวนมากมาจากพรรคการเมืองตั้งใหม่ เกือบจะไม่มี ส.ส.รุ่นพี่ให้เรียนรู้ฝึกงาน และที่สำคัญก็คือเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ไม่เคยลงพื้นที่พบปะประชาชน ไม่ได้เป็นผู้แทนของประชาชนในเขตใด และไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับประชาชน ได้เป็นผู้แทนราษฎรเพราะระบบเลือกตั้งกำหนดไว้เช่นนั้น 

เท่าที่เห็นจากการประชุมสภาหลายครั้งที่ผ่านมา ก็พยายามมองว่านักการเมืองรุ่นใหม่เหล่านี้มีการเตรียมตัวมาอย่างไรหรือไม่ มีความพร้อมในการทำงานในสภาแค่ไหน และมีแววที่จะทำหน้าที่สมาชิกสภาได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหนเพียงไร แต่ก็ยังไม่พบว่าจะมีใครบ้างที่น่าสนใจ 

ส.ส.หน้าใหม่ ไร้ประสบการณ์เหล่านี้จำเป็นต้องเรียนรู้อย่างหนักและรวดเร็ว และจำเป็นต้องมีตัวช่วย เพราะไม่มีพี่เลี้ยงในพรรค ทุกคนใหม่หมด ตัวช่วยที่น่าจะทำได้คือการตั้งทีมงานผู้ช่วย ส.ส.ขึ้นมาตามที่กำหนดไว้ในระเบียบระบบของรัฐสภา ซึ่ง ส.ส. และ ส.ว. แต่ละคนสามารถตั้งทีมงานที่ประกอบด้วย ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ รวมทั้งเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ สูงสุดได้ถึง 7 คน

ในต่างประเทศนั้น ทีมงานผู้ช่วย ส.ส.จะมีบทบาทมากในการค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อการอภิปรายในประเด็นต่างๆ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประวัติความเป็นมาของเรื่องราวต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับ ส.ส.ในการทำงานในสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอภิปรายที่เกี่ยวกับการเงินการงบประมาณของภาครัฐในมิติต่างๆ ที่เป็นเรื่องต้องลงลึกและใช้เทคนิคในการอภิปรายให้เห็นภาพ สร้างความน่าเชื่อถือ พร้อมข้อมูลสถิติ สมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.อาจไม่ได้แต่งตั้งทีมงานผู้ช่วยครบ เพราะผู้ที่มีประสบการณ์มานาน อาจไม่ต้องการทีมงานที่ไม่จำเป็น แต่สำหรับ ส.ส.หน้าใหม่น่าจะเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง

ปัญหาเรื่องทีมงานผู้ช่วยสมาชิกรัฐสภานี้ นอกจากเรื่องของความรู้ความสามารถแล้ว ก็คงต้องเป็นเรื่องของความไว้วางใจ ไม่กลายมาเป็นไส้ศึกหรือสายลับล้วงเอาความลับของนักการเมืองและพรรคการเมืองออกไปให้ฝ่ายตรงข้าม ตรงนี้เป็นเรื่องที่ทุกสมาชิกรัฐสภาต้องใช้ความรอบคอบในการสรรหาเอง เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน

ความคุ้มค่าของการมีทีมงานก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะทุกคนจะได้รับเงินเดือนจากรัฐสภา ซึ่งถ้าตั้งทุกตำแหน่งก็อาจใช้เงินประมาณเดือนละ 100,000 บาท และถ้าสมาชิกรัฐสภาทั้ง 750 คนมีทีมงานเต็มอัตราก็จะเป็นค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 75 ล้านบาท หรือปีละ 900 ล้านบาท นอกเหนือจากตัวสมาชิกรัฐสภาที่ได้เงินเดือนในฐานะที่เป็น ส.ส. หรือ ส.ว.เดือนละประมาณ 120,000 บาท หรือปีละ 1,080 ล้านบาท เมื่อรวมเงินเดือนทีมงานทั้งปีก็ประมาณ 1,980 ล้านบาท และถ้าอยู่ครบเทอม 4 ปี ก็จะเป็นเงินเดือนค่าจ้างทั้งหมดประมาณ 7,920 ล้านบาท ทั้งนี้ไม่รวมค่าเบี้ยประชุม ค่าเดินทาง ค่าดูงานต่างประเทศ และสิทธิประโยชน์อื่นๆอีกประมาณเท่าตัว นั่นหมายความว่าจะต้องใช้งบประมาณคร่าวๆ ร่วม 20,000 ล้านบาท ถ้าทำงานครบ 4 ปี ซึ่งไม่น้อยเลย

ระบบรัฐสภามีค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนที่สูงมาก การทำงานของสมาชิกรัฐสภาและทีมงานจึงต้องทำงานให้คุ้มค่ากับเงินเดือนค่าจ้าง เพราะเงินทั้งหมดมาจากงบประมาณแผ่นดินที่มาจากการเก็บภาษีประชาชน

เหนือสิ่งอื่นใด อยากให้เหล่าสมาชิกรัฐสภาทำงานให้เต็มที่สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน หลายเรื่องที่เป็นที่ครหาในอดีต ควรที่จะหลีกเลี่ยง เช่น การตั้งทีมงานที่ไม่ได้มาช่วยงานแต่เป็นคนใกล้ชิดที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรับเงินเดือน การไม่ทำหน้าที่สมาชิกรัฐสภาอย่างเต็มกำลัง การขาดการประชุมทั้งในการประชุมสภาและการประชุมกรรมาธิการ ที่มักมีปัญหาเรื่ององค์ประชุมไม่ครบอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเช่นเข้ามาประชุมกรรมาธิการเพียงเพื่อรับเบี้ยประชุม เซ็นชื่อแล้วก็เดินออกจากห้องประชุม ไม่ได้ร่วมการประชุมเต็มเวลาแต่รับเบี้ยประชุมครบ

ฝากให้เหล่าท่านสมาชิกรัฐสภาผู้ทรงเกียรติได้ระลึกไว้เสมอว่า ต้องทำงานให้สมกับความไว้วางใจจากประชาชน เพราะเงินเดือน เบี้ยประชุมและสิทธิประโยชน์ทั้งหลายที่ท่านได้รับนั้น ล้วนแล้วแต่มาจากงบประมาณแผ่นดินที่เก็บภาษีมาจากประชาชนทุกคนในแผ่นดิน