หวังดีแต่โดนเล่นงาน เพราะไม่คิดตาม

หวังดีแต่โดนเล่นงาน เพราะไม่คิดตาม

เมื่อเกือบ 50 ปีมาแล้ว มีนักจิตวิทยาคนหนึ่งพบว่าคนรุมเล่นงานกันแรงๆ ในหลากหลายรูปแบบกับคนที่ไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยกับการงานขององค์กร

 ในทางตรงข้ามคนที่ถูกรุมเล่นงานนั้นส่วนใหญ่หวังดีอย่างยิ่งกับองค์กร ต่างฝ่ายต่างหวังดีต่อองค์กร แต่ทำไมรุมเล่นงานกันจนได้ ซึ่งไม่ได้ให้ผลดีใดๆ กับองค์กร ตรงข้ามกลับทำให้องค์กรอ่อนแอลงเพราะสูญเสียเรี่ยวแรงไปโดยเปล่าประโยชน์กับการเล่นงานกันเอง พร้อมกับขาดคนหวังดีที่มีฝีมือมาช่วยงานไปมากบ้างน้อยบ้าง

เออวิน เจนนิส ตั้งชื่ออาการนี้ว่า Groupthink เขาบอกว่า อาการนี้มีสาเหตุมาจากความกลัวที่จะถูกทอดทิ้งออกไปจากกลุ่ม มักปรากฎให้เห็นชัดเจนเมื่อมีความท้าทายที่สามารถสร้างความยากลำบากให้เกิดขึ้นกับกลุ่ม โดยเฉพาะเมื่อมีมโนขึ้นมาในระหว่างสมาชิกของกลุ่มว่า ความท้าทายเหล่านั้นจะสร้างผลร้ายกับสมาชิกแต่ละคน เมื่อกลุ่มแตกสลายมากกว่าการกระทบเมื่อกลุ่มยังคงอยู่ ดังนั้นสมาชิกในกลุ่มจึงพร้อมจะทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างการเซนเซอร์ความคิดของตนเอง ที่แตกต่างไปจากความคิดที่กลุ่มเชื่อกันอยู่ หรือพร้อมที่จะรุมเล่นงานสมาชิกที่แสดงความคิดที่แตกต่างไปจากกลุ่ม เพื่อพิทักษ์ความคิดของกลุ่ม โดยเชื่อว่าถ้าคิดเหมือนกันทั้งกลุ่มแล้ว กลุ่มจะคงอยู่ได้

ผลจากการที่คิดเหมือนกัน เชื่อเหมือนกัน โดยไม่เปิดโอกาสให้มีการคิดนอกกรอบ ทำให้เหมือนกับทุกคนมองเห็นแต่หางงู ใครบอกว่างูมีหัว มีเขี้ยวมีพิษกัดได้ ก็โดนเล่นงานและบังคับให้มองแต่หางงู ทำให้กลุ่มเสี่ยงกระทำในเรื่องที่ไม่ควรกระทำ เพราะไม่ยอมมองเห็นความเสี่ยงใดๆ สุดท้ายคือทุกคนในกลุ่มเสี่ยงจะถูกงูกัดได้ทั้งหมด คนในกลุ่มเสี่ยงมากขึ้นจากอาการGroupthink

กลุ่มไม่ให้ความสำคัญกับความรู้สึกนึกคิดของคนในกลุ่ม ขอเพียงแค่ทุกคนต้องคิดเหมือนกัน ไม่ว่าใครก็ตามที่คิดแบบนั้น เชื่อแบบนั้นแล้วคนนั้นจะทุกข์ จะลำบากใจมากแค่ไหนก็ตาม ความรู้สึก ความทุกข์ยาก ความขมขื่นไม่ใช่เรื่องที่กลุ่มให้ความสนใจ แม้ว่าคนที่หวังดีต่อองค์กรจะรู้สึกย่ำแย่อย่างยิ่ง เมื่อไม่สามารถนำเสนอ สิ่งที่เขาคิดว่าเมื่อทำแล้ว องค์กรจะดีขึ้น และที่หนักขึ้นไปอีกคือ เมื่อคนหวังดี กล้าเสนอเรื่องดีๆ ที่อาจสร้างความก้าวหน้าให้กับองค์กร แต่กลับถูกรุมเล่นงานต่าง ๆนานา จากสมาชิกที่ทำตนเป็นองค์รักษ์พิทักษ์ความคิดของกลุ่ม Groupthinkสร้างระเบิดเวลาไว้ให้กับองค์กร รอเวลาระเบิดเมื่อคนคิดนอกกรอบเริ่มตอบโต้องค์รักษ์พิทักษ์กลุ่มด้วยวิธีการนอกกรอบ ในทำนองเดียวกับที่พวกเขาเคยถูกกระทำ เพราะปรากฎเสมอว่าเมื่อความคิดที่เสนอใหม่ๆ นั้นมีตรรกะและมีประโยชน์สามารถพิสูจน์ได้เป็นที่ประจักษ์ ทำให้ปิดทางที่องค์รักษ์พิทักษ์ความคิดของกลุ่มจะหาข้อโต้แย้งที่มีหลักการ มีตรรกะมาได้ ทางเดียวที่ทำได้ง่ายคือเล่นงานเรื่องส่วนตัวของคนที่กล้าคิดแตกต่างไปจากความคิดดั่งเดิมของกลุ่ม

ไม่เพียงแต่เพิ่มความเสี่ยง และสร้างระเบิดเวลาทิ้งไว้ Groupthink ยังสร้างศัตรูนอกกลุ่มรอไว้ย้อนมาเล่นงานกลุ่มได้ทุกเวลา เพราะทุกคนในกลุ่มมองคนนอกกลุ่มว่าแตกต่าง และมักมองความคิดของคนนอกกลุ่มว่าเป็นความคิดที่คุกคามกลุ่มของตนเสมอ ใครในกลุ่มจะมองใครนอกกลุ่มแตกต่างไปจากที่สมาชิกในกลุ่มมองไม่ได้ ทำให้กลุ่มมีท่าทีโดยรวมต่อคนนอกกลุ่มในลักษณะที่ไม่เป็นมิตร ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครอยากเป็นมิตรกับใครที่มองตนเองอย่างไม่เป็นมิตร

Groupthink มีข้อดีอยู่บ้างตรงที่ตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้รวดเร็ว พราะทุกการตัดสินใจมีแต่กองเชียร์ ไม่มีใครค้าน ว่าไงว่ากัน แต่ความรวดเร็วนั้นได้มาพร้อมกับต้นทุนที่มหาศาล จากการตัดสินใจที่ผิดพลาด เพราะไม่มีโอกาสได้ถกเถียง คิดค้นกันอย่างรอบครอบ โอกาสพลาดมีเยอะ และพลาดแรงเสมอ Groupthinkจึงใช้ได้ดีเฉพาะเมื่อองค์กรนั้นมีพลวัตน้อย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆเกิดขึ้น

เออวิน เจนนิสไม่ได้บอกว่า ขนาดของกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดที่ยังเกิดอาการGroupthinkขึ้นได้นั้น มีแค่ไหน และไม่มีการวิจัยสืบต่อไปว่าผลเสียกับกลุ่มขนาดใหญ่นั้นรุนแรงกว่ามากน้อยเพียงใด ใครอยากอยู่กับGroupthinkก็ต้องเสี่ยงเอาเอง