จะกลับมาทำ QE อีกจริงหรือ?

จะกลับมาทำ QE อีกจริงหรือ?

ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับ QE ออกมาอย่างมากมาย ว่าธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด และธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบี

จะเริ่มทำ QE หรือการผ่อนคลายเชิงปริมาณ นั่นคือซื้อพันธบัตรระยะเวลา 5-7 ปีกันอีกครั้ง บางท่านไปไกลจนถึงกระทั่งว่า QE ของเฟดในครั้งนี้ จะเป็น QE แบบที่จำกัดขอบเขตให้ส่งผลดีต่อตลาดหุ้นในสหรัฐเท่านั้น ไม่ส่งผลดีต่อตลาดเกิดใหม่ เรียกกันว่า QE Squared ผมขอใช้คอลัมน์นี้ อธิบายให้เคลียร์ว่าแท้จริงแล้วเฟดจะกลับมาใช้ QE เร็วๆ นี้จริงหรือเปล่า รวมถึงอีซีบีถึงเวลาที่จะต้องทำ QE อีกแล้วหรือ? ดังนี้

หนึ่ง ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนมากที่สุดในวงสนทนาส่วนหนึ่งของตลาดหุ้นในเมืองไทย ณ ตอนนี้ คือ ความเข้าใจผิดที่คิดว่า เจย์ พาวเวล ประธานเฟด ได้พูดว่าจะทำQE ในเร็ววันนี้ ความจริงแล้ว นายพาวเวลไม่เคยกล่าวว่าเฟดจะทำ QE ในเร็วๆนี้ แต่อย่างใด ยิ่งมีคนพูดว่าเฟดจะทำ QE แบบ squared หรือแบบที่ให้ผลดีเฉพาะในสหรัฐเท่านั้น ผมเลยถึงบางอ้อว่า มีผู้ที่เข้าใจผิดในบ้านเราไปนำคำพูดของนายอดัม โพเซ่น นักวิชาการและอดีตสมาชิกคณะกรรมการธนาคารกลางอังกฤษ ที่ให้ความเห็นดังกล่าวในงานสัมมนาที่ธนาคารกลางสหรัฐ สาขาชิคาโก เมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งนายพาวเวลก็ทำหน้าที่เป็นประธานในงานสัมมนานี้ เผอิญมีบุคคลในบ้านเราเข้าใจผิดว่านี่คือคำพูดของนายพาวเวล ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นของนายโพเซนต่างหาก

สอง สิ่งที่นายพาวเวลจริงๆ กล่าวในงานนี้ คือ หากสหรัฐเผชิญกับวิกฤติทางเศรษฐกิจอีกครั้งในอนาคต เขาจะไม่ลังเลที่จะใช้ QE อีกครั้ง หลังลดดอกเบี้ยเป็นร้อยละศูนย์แล้ว รวมถึงจะพยายามนำนาวาเศรษฐกิจสหรัฐไม่ให้ถูกสงครามการค้าชักนำไปสู่การชะลอตัวผ่านเครื่องมือทางนโยบายการเงิน โดยสรุปแล้ว ฟังช้าๆชัดๆอีกครั้งนะครับว่า ‘เฟด ณ ตอนนี้ ยังไม่มีแนวคิดในการทำ QE แต่อย่างใด’

สาม ครั้นเมื่อ นายมาริโอ ดรากิ ประธานอีซีบี ได้ยินบริบทการทำ QE จากการประชุมทางวิชาการของเฟด ในฐานะที่เขาเป็นเจ้าพ่อของการแสดงออกด้วยคำพูดโดยไม่ต้องลงมือดำเนินนโยบายการเงินจริง เพื่อให้อีซีบียังดูแล้วยังอยู่ในโหมดผ่อนคลายทางการเงินมากกว่าเฟด โดยที่จะไม่ต้องออกแรงดำเนินนโยบายการเงินให้เปลืองทรัพยากร จึงเกทับบลัฟแลกกลับในงานสัมมนาทางวิชาการที่โปรตุเกส เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ในวาระครบรอบของก่อตั้งอีซีบีครบรอบ 20 ปี โดยคุยโขมงว่ายังมีช่องว่างทางนโยบายการเงินอยู่เยอะผ่านการทำ QE อีกครั้ง

ซึ่งในกรณีของดรากิ ถือว่าเขาเอ่ยถึงการทำ QE จริงๆ เพื่อความได้เปรียบเชิงนโยบายที่ยุโรปควรจะมีบรรยากาศความผ่อนคลายทางนโยบายการเงินมากกว่าของสหรัฐและต้องห่างกันอย่างมากเสียด้วยในช่วงนี้ ทว่าด้วยการที่เขากล่าวการทำ QE ในงานสัมมนาวิชาการ น้ำหนักจึงอาจไม่มากเท่ากล่าวหลังประชุมนโยบายการเงิน แต่ก็สามารถเปลี่ยนใจไม่ทำในภายหลังได้เช่นกัน

ผมขอย้ำอีกครั้ง ต้องเข้าใจว่าการพูดในงานสัมมนาทางวิชาการนั้น ถือว่าแตกต่างจากการกล่าวหลังการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลาง ความขลังและความเป็นทางการต่อความจริงจังในการนำไปปฏิบัติถือว่ามีน้ำหนักแตกต่างกัน ซึ่งหากนายดรากิจะพลิกลิ้นว่าไม่ได้ commit ที่จะทำ QE ก็ถือว่าเป็นไปได้ ที่โดยแท้จริงแล้วเขาอาจจะไม่อยากออกแรงทำ QE ใหม่ด้วยตนเอง ทว่าผู้ที่จะมารับตำแหน่งท่านใหม่ต่างหากที่ต้องตัดสินใจในเรื่องนี้

ที่สำคัญ นายดรากิเองก็จะหมดวาระในฐานะประธานอีซีบีแล้วในอีก 4 เดือนข้างหน้า จึงไม่แปลกว่าที่เขาจะกล้าทะเลาะกับโดนัลด์ ทรัมป์ในการกล่าวถึง QE ในขณะที่ทรัมป์ก็จ่อจะเล่นงานนายพาวเวลหากไม่ยอดลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็ววัน

ในทางมารยาทของการลงจากหลังเสือของนายดรากิ การตบท้ายด้วยการไม่เริ่มโครงการอะไรใหม่ น่าจะดูเป็นสิ่งที่เขาน่าจะเลือกมากกว่า เนื่องจากหากโครงการ QE ใหม่หากจบไม่สวย เขาอาจถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุของความล้มเหลวก็ไม่น่าแปลกแต่อย่างใด

ท้ายสุด และสำคัญที่สุด ณ นาทีนี้ คือใครจะมารับไม้ต่อจากนายดรากิ โผรายชื่อล่าสุด ปรากฎว่า นาย เจนส์ วิดแมน ประธานธนาคารกลางเยอรมันเริ่มแรงขึ้นจากการที่รัฐบาลเยอรมันอาจจะยอมสละเก้าอี้ประธานคณะกรรมการยุโรป มาเน้นรับตำแหน่งประธานอีซีบีแทน ซึ่งหากเป็นจริง เราอาจเห็นอีซีบียุคใหม่ที่เน้นประเด็นเงินเฟ้อมากขึ้น ซึ่งนายทรัมป์คงจะชื่นชอบนายวิดแมน เหมือนกับที่ปลื้มนายบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ แบบเต็มตัว ณ ยุคของ Brexit นี้ครับ