ทางสู่ความสำเร็จ

ทางสู่ความสำเร็จ

ความล้มเหลวจะกลายเป็นต้นทุนของการเรียนรู้ไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำ

แม้คนเราจะมีฐานะ ความเป็นอยู่ สติปัญญา ความรู้ ความสามารถที่แตกต่างหลากหลาย แต่ทั้งหมดนั้นล้วนเกิดจากแต่ละคนที่มีดีเอ็นเอเหมือนกันถึง 99.99% ซึ่งความแตกต่างเพียงน้อยนิดนี้

กลับทำให้ลักษณะเฉพาะของแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย ทั้งสีผิว รูปร่างหน้าตา ไปจนถึงระดับสติปัญญา

การบ่งชี้ว่าใครจะประสบความสำเร็จได้หรือไม่นั้นจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับดีเอ็นเอแต่เพียงอย่างเดียว เพราะสภาพแวดล้อมที่แต่ละคนเกิดมาแตกต่างกันทำให้แต่ละคนมีโอกาสไขว่คว้าความสำเร็จได้ไม่เท่ากัน เช่นสถานการณ์ ช่วงเวลา สถานที่ และยุคสมัย

ดังภาษิตจีนโบราณที่กล่าวว่า “เทียนสือ ตี้ลี่ เหยินเหอ” อันหมายถึงจังหวะของเวลา (เทียนสือ) กับสถานที่ที่เอื้ออำนวย (ตี้ลี่) และคนรอบข้างให้ความร่วมมือสนับสนุน (เหยินเหอ) บวกกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความยากลำบากมากกว่าผู้อื่น ก็ย่อมเอื้อให้ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่กว่าคนทั่วไป

เจ้าแห่งสัตว์บนภูเขาอย่างเช่นเสือ ซึ่งสมบูรณ์พร้อมทั้งความยิ่งใหญ่ น่าเกรงขาม และพละกำลังที่สยบศัตรูได้เพียงพลิกฝ่ามือ แม้จะผ่านช่วงของการมีชีวิตไปแล้ว หนังเสือก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจที่เหลือทิ้งเอาไว้ เป็นสิ่งที่คนโบราณใช้เป็นสัญลักษณ์ของการพิชิตสรรพสิ่งที่ท้าทายให้ผู้อื่นได้รับรู้

ซึ่งเรื่องราวดังกล่าว ทำให้ผมกับมาคิดทบทวนหลังจากงานสวดพระอภิธรรมและฌาปนกิจคุณพ่อเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ถึงแม้จะรู้ซึ้งถึงสัจธรรมเกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่ก็ยังไม่อาจห้ามความโศกเศร้าเสียใจและความอาลัยไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 20 ปีหลังที่ได้ดูแลสุขภาพท่านใกล้ชิดกว่าเดิมก็ยิ่งผูกพันมากขึ้น

เมื่อพบแล้วก็ต้องมีจากตามความเป็นไปของธรรมชาติ ไม่มีใครสามารถเอาทรัพย์สินเงินทองหรือสิ่งต่าง ๆ มายืดเวลาออกไปได้ ผมและครอบครัวหวังว่าคุณพ่อคงไปสู่ภพภูมิที่ดีและไปพบกับคุณแม่ที่รออยู่บนสวรรค์เมื่อ 9 ปีที่แล้ว โดยแง่มุมชีวิตของท่านถือว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งผมจึงขอนำมาถ่ายทอดให้ผู้อ่านทุกท่านในฉบับนี้ โดยเฉพาะประเด็นของการสร้างโอกาสจากทางเลือกที่มีอยู่อย่างจำกัด

เพราะประสบการณ์ชีวิตไม่มีคำว่าถูกหรือผิด ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความพยายามและความรักในสิ่งที่ทำ การให้กำลังใจตนเอง เรียนรู้ด้วยตนเอง จนทำให้กระบวนความคิดนั้นมีพัฒนาการในการสร้างและนำไปสู่ความสำเร็จมากกว่าล้มเหลว สิ่งที่ทำแล้วสำเร็จก็จะขยายผลออกไป และความล้มเหลวก็จะกลายเป็นต้นทุนของการเรียนรู้เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำ

การเอาชนะปัญหาไม่ใช่เรื่องง่าย แต่นั่นก็เป็นความท้าทายและทำให้ปัญหายากๆ เหล่านั้นมีความหมาย ท้ายที่สุดถึงแม้เราจะไม่สามารถแก้ปัญหา ณ จุดนั้นได้ ก็ยังถือว่าเราทำเต็มที่

จนได้ประสบการณ์และการเรียนรู้มาเป็นทุนชีวิต

มีคนอีกจำนวนมากที่มีส่วนร่วมอยู่ในประวัติศาสตร์เพื่อให้สมัยนั้นๆ มีเรื่องน่าจดจำ และถ่ายทอดมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ก็อาจไม่ได้ถูกจารึกชื่อไว้ การใช้ชีวิตให้มีค่าสูงสุดจึงขึ้นอยู่กับการสร้างคุณค่าให้กับครอบครัวและคนรอบข้างได้อย่างสมบูรณ์แล้วหรือไม่

เพราะค่านิยมที่แต่ละครอบครัวต้องการ ไม่ใช่เพียงการศึกษาที่ดี หรือการกินดีอยู่ดี แต่เป็น “วัฒนธรรมและบุคลิกที่ดี” ที่แสดงถึงพลังแห่งการต่อสู้ การปรับตัวตามสถานการณ์และสภาพแวดล้อม รวมถึงจรรยาบรรณที่มีต่อตนเอง เพื่อให้ลูกหลานได้เรียนรู้ต่อไป

ยิ่งเวลาผ่านไป หลายอย่างที่เรามองย้อนกลับมา ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำของเราทั้งในแง่ความสุขและความทุกข์ จะขาดด้านใดด้านหนึ่งไปไม่ได้ เช่นเดียวกับชีวิตของมนุษย์ที่เหมือนประวัติศาสตร์ที่มีทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต 

หากเรามีความทรงจำถึงอดีตที่ดีก็ย่อมมีชีวิตปัจจุบันที่มีคุณค่า ขณะเดียวกันย่อมส่งผลต่อความหวังและความฝันที่ดีในอนาคต และนั่นคือเหตุผลที่เราควรเรียนรู้จากอดีตของผู้คนรอบข้างเพื่อหาวิทยาทานที่สามารถนำมาต่อยอด พร้อมสร้างเป็นค่านิยมที่ถูกต้องเหมาะสมในการดำเนินชีวิต

ภาพของผู้ใหญ่ใจดีที่โอบอ้อมอารีต่อคนรอบข้าง จึงมีอีกมิติหนึ่งในการเป็นจิตวิญญาณของนักสู้คนหนึ่งที่ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรครอบข้าง เป็นตัวอย่างให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไปในอนาคต…