โซเซียลมีเดีย-ไอโอที ก้าวไกล เปลี่ยนวิธีพิสูจน์อัตลักษณ์

โซเซียลมีเดีย-ไอโอที ก้าวไกล เปลี่ยนวิธีพิสูจน์อัตลักษณ์

อัตลักษณ์การระบุตัวตนในอนาคต อาจกลายเป็นพฤติกรรมเราที่สามารถตรวจสอบและติดตามด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่

สัปดาห์นี้มีข่าวการเมืองที่ฮือฮาเกี่ยวกับการไปขุดค้นข้อมูลเก่าที่นักการเมืองที่เคยโพสต์ไว้ในเฟซบุ๊คย้อนหลังตั้งแต่ปี 2010 จนถึงล่าสุด สิ่งที่น่าสนใจในปรากฎการณ์นี้ก็คือ โซเชียลมีเดียที่ได้บันทึกเรื่องราวต่างๆ ในอดีต สามารถนำมาแสดงและอาจมีผลต่อทั้งทางบวกและลบได้ในปัจจุบันและอนาคต สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน

เร็วๆ นี้พบว่าหลายฝ่ายเริ่มให้ความสำคัญข้อมูลส่วนตัวในโซเชียลมีเดีย อาทิ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาประกาศขอข้อมูลโซเชียลมีเดียย้อนหลัง 5 ปี ของผู้สมัครขอวีซ่าเข้าประเทศเพื่อประกอบการพิจารณา ส่วนนายจ้างหลายแห่งใช้ข้อมูลโซเชียลมีเดียอย่าง เฟซบุ๊ค และลิงค์อิน (LinkedIn) ในการพิจารณาผู้สมัครเข้าทำงานให้ความสำคัญมากกว่าข้อมูลอื่นเสียอีก

มีการกล่าวไว้ว่า อัตลักษณ์การระบุตัวตนในอนาคตคงไม่ใช่เบอร์บัตรประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์ แต่อาจกลายเป็นพฤติกรรมของเราที่สามารถตรวจสอบและติดตามด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือ การใช้อุปกรณ์ไอโอที หรือการใช้โซเซียลมีเดีย เพราะข้อมูลเหล่านี้จะถูกสะสมบน คลาวด์ แพลตฟอร์ม ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ทำให้ทราบได้ว่าบุคคลนั้นมีพฤติกรรมอย่างไร อัตลักษณ์แต่ละคนย่อมไม่เหมือนกันตั้งแต่ตำแหน่งที่อยู่ การเดินทาง การใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือการแสดงความคิดเห็น ซึ่งด้วยเทคโนโลยีเอไอสามารถแยกบุคคลแต่ละคนออกมาได้โดยง่าย ยิ่งมีเทคโนโลยีอย่างการจดจำใบหน้าหรือเสียงก็ยิ่งทำให้สามารถระบุอัตลักษณ์ของแต่ละคนง่ายขึ้น

เมื่อเร็วๆนี้ ผมพบโซลูชั่นของสตาร์ทอัพรายหนึ่งในเบลเยี่ยมชื่อ Sentiance ซึ่งบริษัท DCS ในประเทศไทยนำเข้ามาพัฒนาเพื่อทำตลาด โซลูชั่นนี้ใช้เทคโนโลยีเอไอในการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้ ไอโอที โทรศัพท์มือถือ ทำให้เข้าใจพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของคนๆ นั้นได้ว่า เป็นคนขยันทำงาน ชอบเดินทาง หรือขับรถเป็นประจำ ตลอดจนคาดการณ์ถึงลักษณะการขับรถ และช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการติดต่อหรือแจ้งเตือน สามารถนำมาใช้ในทำตลาดแบบทันทีทันใดได้อย่างแม่นยำ โซลูชันดังกล่าวสามารถนำมาประยุกต์กับธุรกิจได้หลากหลาย เช่น ประกัน ค้าปลีก การขนส่ง การแพทย์ เป็นต้น

นี้เป็นเพียงตัวอย่างการพิสูจน์อัตลักษณ์ของคนจากอุปกรณ์เพียงอย่างเดียว แต่หากจินตนาการดูว่าในอนาคตเราใช้ชีวิตประจำวันด้วยเทคโนโลยีใหม่มากมายทั้ง แวร์เอเบิล ดีไวซ์ สมาร์ทวอทช์ มีการถ่ายรูปผ่านมือถือ ใช้โซเชียลมีเดียเป็นประจำ เทคโนโลยีเอไอทางด้านภาพ เสียง และภาษา สามารถวิเคราะห์และคาดการณ์พฤติกรรมต่างๆ ได้แม่นยำยิ่งขึ้น รู้ถึงทัศนคติของเราในเรื่องต่างๆ ทั้งการเมือง สังคม ตลอดจนอาจวิเคราะห์ถึงบุคลิกส่วนตัวว่าเป็นคนอย่างไร เช่น พูดจาสุภาพ หรือก้าวร้าว

กรณีสหรัฐอเมริกาจะขอตรวจข้อมูลโซเซียลมีเดียย้อนหลัง 5 ปี ในการขอวีซ่า จะเป็นวิธีตรวจสอบคนได้เป็นอย่างดี เพราะเทคโนโลยีเอไอสามารถวิเคราะห์การแสดงความคิดเห็นได้ว่าเป็นไปในทางบวกหรือลบ และอาจเช็คได้ว่าคนนี้เป็นผู้ก่อการร้ายหรือไม่ ยกตัวอย่างคือ การเห็นความสัมพันธ์ของเพื่อน หากมีเพื่อนเป็นผู้ก่อการร้าย จะตรวจสอบได้ง่ายขึ้น จึงคาดว่าจะใช้แก้ไขปัญหาอาชญากรรมก่อการร้ายได้

หลายคนอาจคิดว่าโลกโซเชียลมีเดีย คือ ชีวิตส่วนตัว โดยแยกระหว่างเรื่องงานกับชีวิตส่วนตัว ข้อสำคัญมีกฎหมายข้อมูลสิทธิส่วนบุคคลด้วย แต่เราไม่อาจปฎิเสธได้ว่าโลกของเทคโนโลยีได้ก้าวไปไกลมากทำให้เส้นแบ่งระหว่างชีวิตการทำงานและเรื่องส่วนตัวแยกจากกันยาก อีกทั้งบางครั้งเราโพสต์ข้อมูลเป็นสาธารณะ หรือยอมให้ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียนำข้อมูลไปวิเคราะห์ด้วยความต้องการใช้ระบบนั้นๆ

สิ่งสำคัญสุดจงจำไว้ว่า อะไรก็ตามที่ทำ และที่โพสต์ในวันนี้ ตลอดจนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน อาจไม่มีผลกับเราในวันนี้ แต่จะผูกผันไปถึงอนาคต และอาจมีผลในอีก 10-20 ปีข้างหน้าก็ได้ ดังนี้นจึงควรตระหนักไว้เสมอว่าเราควรมุ่งคิดดีทำดีอยู่ตลอดเวลา