7 ส่วนประสมความสำเร็จของ Silicon Valley

7 ส่วนประสมความสำเร็จของ Silicon Valley

เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักศูนย์กลางของเทคโนโลยีและนวัตกรรมของโลกอย่าง ซิลิคอนวัลเลย์ - Silicon Valley

ที่นี่ถือบ้านเกิดของบริษัทยักษ์ใหญ่ชั้นนำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของโลก และเป็นที่ตั้งของ 39 สำนักงานใหญ่ของเครือบริษัทที่ได้ชื่อว่ามีรายได้สูงสุดจำนวน 1,000 แห่งในสหรัฐ และถือเป็นศูนย์รวมของการกระจุกตัวของบริษัทรายได้สูงที่สำคัญที่สุดของแถบตะวันตกของสหรัฐ อาทิ Apple, Google และ Facebook เป็นต้น

หลายคนถกเกียงกันถึง ส่วนประสมแห่งความสำเร็จของ Silicon valley ว่ามาจากอะไร และเราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากกรณีศึกษานี้

1. ทำเลที่ตั้งของ Silicon valley ที่บริเวณอ่าวซานฟรานซิสโก ที่มีเมืองซานฟรานซิสโกและซานโฮเซ เมืองใหญ่อันดับต้น ๆ ของสหรัฐ มีประชากรหนาแน่น และที่สำคัญที่สุด มีมหาวิทยาลัย Standford และ UCLA Berkeley อันมีชื่อเสียงที่โด่งดังและมาตรฐานที่สูง คอยผลิตบุคลากรทางธุรกิจและเทคโนโลยีป้อนตลาด

ทั้งมหาวิทยาลัยยังมุ่งเน้นภาคปฎิบัติจึงตอบโจทย์ภาคธุรกิจได้ดี และเอื้อต่อการสร้างสภาวะแวดล้อมการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่

2. ภูมิอากาศที่ดี แสงแดดอุ่น ๆ ไม่ร้อนไม่หนาวเกินทำให้นักศึกษาคุณภาพจากทั่วสหรัฐที่เดินทางมาเรียนที่ 2 มหาลัยดังตัดสินใจย้ายถิ่นฐานอยู่ต่อที่นี่

3. มีงานให้เลือกทำงานมาก เมื่อคนมีคุณภาพ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีอาศัยอยู่มาก บริษัททั้งเล็กใหญ่ก็มาตั้งที่นี่ตามหลักเศรษฐศาสตร์ Demand & Supply เพื่อดึงดูดคนเก่งเหล่านี้มาช่วยพัฒนาบริษัท

คนเก่งยังดึงดูดคนเก่งให้ย้ายมาทำงานที่นี่เพิ่มเพราะต้องการพัฒนาตัวเองภายใต้สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยคนเก่ง ทำให้แรงงานมีฝีมือเฉพาะทางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นเสมือนก้อนหิมะที่ตกลงจากภูเขาสูงที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งภาษาทางธุรกิจเรียกว่าปรากฎการณ์ Snowball

4. ความคิดแบบผู้ประกอบการ Entrepreneurship เป็นที่นิยมเพราะ มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จเป็นแม่แบบ เช่น Facebook, Snapchat และมีเงินลงทุนมากมายที่พร้อมร่วมหัวจมท้ายกับไอเดียที่ใหม่และดี

5. การพัฒนาไอเดียใหม่ให้เป็นผลิตภัณฑ์นั้นไม่ยาก เมื่อมีความคิดใหม่ ๆ มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาหรือเขียนโค้ดให้ไอเดียนั้นเกิดเป็นรูปธรรม และมีคนคิดเรื่องเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ทำกำไรได้เป็นเรื่องง่าย สังเกตได้จากบริษัท Startup ชั้นนำล้วนเกิดขึ้นจากความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของคนใดคนหนึ่ง แล้วจึงมารวมกลุ่มกันเพื่อเติมเต็มในสิ่งที่ตนขาด

6. การกระจุกตัวที่หนาแน่นของคนเก่ง ทำให้ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่รวดเร็ว เกิดเป็นแนวคิด “Try fast and fail cheap - ลองทำไปก่อน แล้วค่อยพัฒนาให้ดีขึ้นไป” เพื่อพัฒนาแนวคิดที่ดีมาเป็นผลิตภัณฑ์ให้เร็วที่สุด และปรับเปลี่ยนพัฒนาตามพฤติกรรมของผู้บริโภคเมื่อได้ใช้ผลิตภัณฑ์จริงเพราะการแข่งขันดุเดือด

ผลิตภัณฑ์ที่คุณภาพพอใช้ได้แต่ออกสู่ตลาดได้เร็ว ย่อมดีกว่าผลิตภัณฑ์ที่ดีเลิศแต่กว่าจะออกสู่ตลาดนั้นใช้เวลานาน เช่น การออกแบบไอโฟน หรือแอพพลิเคชั่นที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

7. ภาวะตลาดเสรี ที่กระตุ้นการแข่งขันอย่างอิสระ ทำให้เกิดการต่อยอดทางความคิดเพื่อนำไอเดียที่ดีกว่า ไอเดียที่ช่วยแก้ไขปัญหา ตอบโจทย์พฤติกรรมหรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคได้มากกว่า สู่ตลาดเพื่อทดลองและแข่งขัน

มหาวิทยาลัย บริษัท ตลาด แนวคิด และแรงงานมีฝีมือที่กระจุกตัวรวมกันรอบอ่าวซานฟรานซิสโก คือ 5 ตัวละครหลักที่นำพาความสำเร็จสู่ Silicon valley หวังใจว่าจะได้เห็น Silicon valley ในไทยเร็ว ๆ นี้ เพราะตอนนี้มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยตื่นตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญในฐานะเรือธงและมีความพยายามที่จะเอื้ออำนวยในการสร้างสภาวะแวดล้อมสู่การพัฒนาผู้ประกอบการและเทคโนโลยีสัญชาติไทยต่อไป