กูเกิลกลัวโอเอสของหัวเว่ย ?

กูเกิลกลัวโอเอสของหัวเว่ย ?

มีกระแสข่าวในสหรัฐว่า กูเกิลกำลังถกเถียงกับรัฐบาลสหรัฐ ขอให้ยกเว้นแอนดรอยด์จากการขึ้นบัญชีดำหัวเว่ย 

โดยให้เหตุผลว่า การตัดขาดหัวเว่ยจากกูเกิล จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐเอง เพราะจะทำให้ระบบนิเวศของแอนดรอยด์แตกกระจายออกเป็นสองส่วน ส่วนที่กูเกิลสามารถควบคุมได้ และส่วนที่กูเกิลไม่สามารถควบคุมได้

ซึ่งส่วนที่กูเกิลไม่สามารถควบคุมได้ จะเกิดจากความพยายามของหัวเว่ย ที่จะพัฒนาโอเอสขึ้นมาเอง ซึ่งกูเกิลเชื่อว่า จะถูกดัดแปลงมาจากแอนดรอยด์ เพียงแต่ว่าจะไม่สามารถเข้าถึงการอุดช่องว่างทางความปลอดภัยที่มาจากอัพเดทของกูเกิล ดังนั้นเครื่องสมาร์ทโฟนที่ผลิตโดยหัวเว่ยเหล่านี้ จะสามารถถูกแฮกได้อย่างไร้การคุม และนำไปสู่ปัญหาด้านความมั่นคงของสหรัฐในที่สุด

ข้อถกเถียงของกูเกิลตามที่อยู่ในกระแสข่าว จะดูแปลกๆ อยู่ เพราะว่าสมาร์ทโฟนที่ผลิตโดยหัวเว่ย แม้จะถูกแฮกได้ แต่จะนำไปสู่ปัญหาด้านความมั่นคงของสหรัฐได้อย่างไร ในเมื่อเครื่องเหล่านี้ก็จะถูกห้ามขายในสหรัฐอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี สาระสำคัญที่แท้จริงของข้อถกเถียงนี้ อาจเป็นแนวคิดที่ว่า โอเอสของหัวเว่ยจะทำให้ระบบนิเวศของแอนดรอยด์แตกกระจายออกเป็นสองส่วน โดยส่วนที่กูเกิลไม่สามารถควบคุมได้ ย่อมหมายความว่า สหรัฐไม่สามารถควบคุมได้เช่นกัน

ในปัจจุบัน เกือบ 100% ของสมาร์ทโฟนทั่วโลก ต่างก็ใช้โอเอส ที่เป็นของบริษัทสัญชาติอเมริกัน กล่าวคือ กูเกิล หรือ แอปเปิล นั่นหมายความว่า สหรัฐอเมริกาผูกขาดโอเอสที่ใช้ในสมาร์ตโฟนของทั้งโลก

แต่หากหัวเว่ยทำได้สำเร็จ ในการดัดแปลงแอนดรอยด์ ด้วยศักยภาพของหัวเว่ยและด้วยขนาดของตลาดประเทศจีน อาจเป็นไปได้ว่าการผูกขาดโอเอสโดยสหรัฐจะต้องถูกสั่นคลอน ผู้ที่ได้ผลกระทบหลักอาจต้องเป็นกูเกิลผู้มีส่วนแบ่งการตลาดถึง 86.6%

ในช่วงทศวรรษก่อนหน้านี้ ในฝั่งของจีนเอง ก็ได้แบนบริการออนไลน์จากสหรัฐ อาทิเช่น กูเกิล เฟสบุ๊ค ยูทิวบ์ และกระทั่ง เพลย์สโตร์ ทำให้ชาวจีนไม่สามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้จากสหรัฐได้

การแบนดังกล่าว ส่งผลให้สตาร์ทอัพของจีน สามารถสร้างบริการขึ้นมาทดแทนบริการเหล่านี้ของสหรัฐ จนกระทั่งสตาร์ทอัพเติบโตเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ

การที่สหรัฐจะให้กูเกิลตัดขาดกับหัวเว่ยเสียเอง ย่อมส่งผลที่คล้ายกับหากรัฐบาลจีนจะแบนแอนดรอยด์ ซึ่งในที่สุดธุรกิจของจีนต้องดิ้นรนสร้างโอเอสขึ้นมาทดแทน

ความเป็นไปได้ที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับกูเกิล คือการแบนหัวเว่ยของรัฐบาลอเมริกา อาจทำให้หัวเว่ยต้องมาลำบากได้ระยะสั้น แต่หากหัวเว่ยทำได้สำเร็จ และสามารถผลิตโอเอสขึ้นมาอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะด้วยการดัดแปลงแอนดรอยด์หรือไม่ก็ตาม ก็จะเป็นการทำลายการผูกขาดของสหรัฐ ซึ่งมาเก็ตแชร์เกือบทั้งหมดเป็นของกูเกิล และนำไปสู่ชัยแลนด์สเคปใหม่ของการแข่งขัน

จีนและสหรัฐ เป็นคู่ชกที่สมศักดิ์ศรี ประเทศส่วนใหญ่ในโลก ไม่สามารถต่อกรกับสหรัฐ ซึ่งในที่สุดจะต้องเลือกอยู่ภายใต้ร่มเงาของประเทศใดประเทศหนึ่ง

โลกของเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านของซอฟต์แวร์อาจจะกำลังเข้าสูการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อจีนเริ่มสั่นคลอนการผูกขาดของสหรัฐ