‘ห้องเรียนหุ่นยนต์’ การศึกษาอินเทรนด์

‘ห้องเรียนหุ่นยนต์’ การศึกษาอินเทรนด์

ห้องเรียนหุ่นยนต์ ถือเป็นอีกหนึ่งในนวัตกรรมทางความคิดของการบูรณาการสหวิชาในเชิงวิทยาศาสตร์

นวัตกรรม เทคโนโลยี และแนวคิดใหม่ที่ก้าวล้ำในยุคปัจจุบันไม่ได้แค่เพียงทำลายธุรกิจดั้งเดิม (Disrupt) หรือแค่เพียงทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นต้นกำเนิดแนวคิดธุรกิจใหม่ ๆ และเอื้อต่อการพัฒนาการศึกษาที่ช่วยให้เยาวชนเข้าใจและเห็นภาพของหลักวิชาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรมและเทคโนโลยีได้อย่างไม่ยากนัก

ห้องเรียนหุ่นยนต์ ถือเป็นอีกหนึ่งในนวัตกรรมทางความคิดของการบูรณาการสหวิชาในเชิงวิทยาศาสตร์ ที่นักการศึกษาตลอดจนพ่อแม่ผู้ปกครองได้ยินติดหูอย่าง STEM อันประกอบไปด้วย

S (Science - วิทยาศาสตร์)

T (Technology - เทคโนโลยี)

E (Engineering - วิศวกรรม)

M (Mathematics - คณิตศาสตร์)

แนวคิดของ STEM คือการบูรณาการศาสตร์เหล่านี้เข้าด้วยกัน ประกอบต่อกันเป็นขั้นบันไดเพื่อมุ่งสู่ในการเรียนรู้ของเยาวชน โดยใช้ผลงานที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้เยาวชนเข้าใจว่าการจะแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งหรือการจะออกแบบชิ้นงานใดหนึ่งออกมานั้น ล้วนต้องใช้ความรู้ทั้ง 4 ประกอบหลอมรวมกัน และอาจจะเพิ่มเติมศิลปะ (A-Art) เข้าไปอีกด้วยก็ได้

ห้องเรียนหุ่นยนต์ จึงเป็นจากจับหลักการแนวคิด STEM มาแปลงให้เป็นรูปธรรม โดยที่มีชิ้นงานเป็นตัวหุ่นยนต์อันเป็นที่นิยมของเยาวชน เรียกได้ว่า เยาวชนเรียนไปสนุกไป ได้ความรู้แบบไม่รู้ตัวเลยทีเดียว

ห้องเรียนหุ่นยนต์ถือว่าเป็นเทรนด์ฮิตในปัจจุบัน สังเกตุได้จากโรงเรียนเอกชนและนานาชาติชั้นนำขนาดใหญ่หลายแห่งได้เริ่มห้องเรียนหุ่นยนต์มาสักระยะหนึ่งแล้ว ถือเป็นการพิสูจน์สมมุติฐานได้อย่างเสียงดังฟังชัดว่า ห้องเรียนหุ่นยนต์สามารถตอบโจทย์การเรียน STEM ได้และเป็นกลจักรสำคัญในการสร้างชื่อเสียงให้แก่โรงเรียน นอกเหนือสิ่งอื่นใดนักเรียนมีความสนุกสนานและเรียนรู้ได้จริง

ห้องเรียนหุ่นยนต์ถูกนำมาออกแบบเป็นวิชาย่อยในวิชาทางเลือกของหลายโรงเรียนชั้นนำ เช่น กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ตลอดจนการตั้งชมรมที่ถ่ายความรู้จากเพื่อนสู่เพื่อน จากพี่สู่น้อง ซึ่งชมรมเหล่านี้เกิดจากความรักในการเรียนและการเล่นหุ่นยนต์จนสามารถเป็นตัวแทนโรงเรียนและประเทศสู่เวทีการแข่งขันนานาชาติ

สูตรสำเร็จของห้องเรียนหุ่นยนต์ ประกอบไปด้วยผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล บุคคลากรที่มีความสามารถและเปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ซึ่งจะช่วยเป็นมือเป็นไม้ในการพัฒนา และผู้เรียนผู้ปกครองที่จะสนับสนุนส่งเสริม เรียกได้ว่าทำงานเป็นทีมเพื่อนักเรียนโดยแท้

ห้องเรียนหุ่นยนต์ที่เป็นแนวคิดใหม่นี้จึงมีความท้าทายอย่างมากต่อระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพราะระบบการศึกษาขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเรื่องนี้ สังเกตุได้จาก ห้องเรียนหุ่นยนต์นั้นกระจุกตัวอยู่แค่ในโรงเรียนเอกชนและนานาชาติชั้นนำในกรุงเทพฯ

ความท้าทายนี้ถือเป็นช่องว่างทางการตลาดแก่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหรือหลักสูตรพิเศษของสถาบันการศึกษานอกโรงเรียนที่ให้ความสำคัญโดยตรงกับห้องเรียนหุ่นยนต์ ภาพสมัยก่อนที่พ่อแม่พาลูกไปกวดวิชา เริ่มถูกทดแทนกลายเป็นภาพผู้ปกครองที่ไปนั่งดื่มกาแฟรอลูกเรียนหุ่นยนต์ในห้างในวันเสาร์ หรือพาลูกไปแข่งหุ่นยนต์ตามห้างหรือต่างจังหวัด

เพราะห้องเรียนหุ่นยนต์มีความหลากหลาย ทั้งประเภทยี่ห้อของหุ่นยนต์ และรูปแบบการใช้ที่แตกต่างกัน อาทิ หุ่นยนต์ความเร็ว หุ่นยนต์ประลองกำลัง (ซูโม่) หุ่นยนต์ประเภททีม (ทีมฟุตบอล ทีมรักบี้) และหุ่นยนต์ความคิดสร้างสรรค์ เช่น หุ่นยนต์ดับไฟ จึงตอบโจทย์ความชอบที่แตกต่างกันของเยาวชน

ห้องเรียนหุ่นยนต์ตอบโจทย์ความชอบของผู้เรียนและความต้องการของการบูรณาการ STEM ของนักการศึกษา ทำให้ห้องเรียนมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น และมีจำนวนนักเรียนมากขึ้นเรื่อย ๆ โรงเรียนที่ยังไม่มีห้องเรียนหุ่นยนต์ก็ขวนขวายแสวงหาทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อทลายขีดจำกัด หันมาให้ความสำคัญกับห้องเรียนหุ่นยนต์ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน