ผลกระทบหากไทยโดนสหรัฐฯตัดสิทธิ GSP

ผลกระทบหากไทยโดนสหรัฐฯตัดสิทธิ GSP

ผู้อ่านหลายท่าน อาจได้ยินเรื่องที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯออกรายงานประกาศรายชื่อประเทศคู่ค้าที่เข้าข่ายเป็นผู้บิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน

 (Currency Manipulator Watchlist) ซึ่งล่าสุดหลังมีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การพิจารณาให้เข้มงวดขึ้น ทำให้มีประเทศที่ถูกจับตาเพิ่ม โดยคราวนี้มีชื่อประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างเวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ติดเข้าไปด้วย เลยอาจเกิดความกังวลว่าแล้วประเทศไทยมีโอกาสโดนด้วยหรือไม่ และหากโดนอยู่ใน Watchlist จะมีผลอย่างไร

อันนี้ต้องขอเรียนว่าประเทศไทยเราถือว่ามีความเสี่ยงที่จะโดนอยู่ใน Watchlist เช่นกัน เพราะจริงๆ ประเทศไทยก็ติด 1 ใน 21 ประเทศที่โดนสหรัฐฯตรวจสอบอย่างละเอียด เพราะมีมูลค่าการค้ากับสหรัฐฯ 43,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเกินเกณฑ์ 40,000 ล้านดอลลาร์ที่สหรัฐฯตั้งไว้ ถึงแม้ว่ายังไม่บรรลุเงื่อนไขเกิน 2 ใน 3 ข้อที่สหรัฐฯใช้พิจารณาว่าประเทศคู่ค้ามีการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งประเทศไทยบรรลุเงื่อนไขเพียง 1 ข้อที่ว่าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงกว่า 2% ต่อ GDP ซึ่งประเทศไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 7 % ของ GDP  ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่สหรัฐฯตั้งไว้มาก

และแม้จะยังไม่เข้าอีก 2 เงื่อนไขที่เหลือ แต่ก็มีโอกาสสูงที่ไทยจะเข้าเงื่อนไขเหล่านั้นในอนาคต ทั้งเงื่อนไขที่ประเทศคู่ค้ามีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯสูงกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการเกินดุลของไทยกับสหรัฐฯอยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าเกณฑ์เพียงเล็กน้อย และหากสงครามการค้าของสหรัฐฯกับจีนอาจทำให้สหรัฐฯต้องหันมาพึ่งการนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น จึงมีโอกาสที่ในอนาคต ตัวเลขการเกินดุลจะเกินเกณฑ์ที่สหรัฐฯตั้งไว้ อีกเงื่อนไขที่เกี่ยวกับการแทรกแซงค่าเงินก็เป็นที่น่ากังวล เพราะถึงแม้เงินทุนสำรองในปีที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาก แต่ความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่สูงขึ้นจากการดำเนินโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก อาจทำให้ ธปท. ต้องเข้ามาดูแลค่าเงินเพิ่มขึ้น ดันให้เงินทุนสำรองขยายตัวได้

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในรายงานการศึกษาไม่มีการระบุบทลงโทษที่ชัดเจน เพียงแต่บอกว่าจะใช้มาตรการตอบโต้ที่เหมาะสม  อีกทั้งปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดเคยถูกประกาศเป็นประเทศที่บิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน จึงทำให้ไม่มีใครทราบแน่ชัดถึงบทลงโทษที่จะเกิดขึ้น

ดังนั้น ผมเลยมองว่าหากไทยเข้าข่ายกลายเป็นประเทศที่บิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน  ทางการสหรัฐฯน่าจะใช้มาตรการที่สร้างผลกระทบได้ทันที และสามารถบังคับใช้ได้ง่ายอย่างการยกเลิกสิทธิ GSP ซึ่งอาศัยการออกคำสั่งจากประธานาธิบดีเพียงอย่างเดียว ซึ่งสิทธิ GSP เป็นสิทธิที่สหรัฐฯยกเว้นภาษีศุลกากรต่อสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งในปัจจุบันไทยใช้สิทธิ์ดังกล่าวสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชียรองจากอินเดียที่เพิ่งจะถูกสหรัฐฯยกเลิกสิทธิ GSP ไปเมื่อเร็วๆนี้

การตัดสิทธิ GSP นั้นอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากสินค้าส่งออกไทยได้รับสิทธิทางภาษีในหลากหลายกลุ่มสินค้า โดยผลกระทบของการตัดสิทธิ GSP จะมีผลมากที่สุดในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องพิมพ์ ชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องซักผ้า เป็นต้น โดยสินค้าที่ไทยได้รับสิทธิ GSP ในกลุ่มอุตสากรรมนี้มีมูลค่ารวมกว่า 2,385 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาได้แก่อุตสาหกรรมอาหารและสินค้าเกษตรที่มีมูลค่ารวม 396 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ กลุ่มเครื่องจักรอุตสาหกรรมอีก 351 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  

ซึ่งหากไทยโดนตัดสิทธิ GSP ทุกรายการ มูลค่าการส่งออกของประเทศไทยอาจหายไปกว่า 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ จากมูลค่าที่ไทยได้รับสิทธิทั้งสิ้น 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และทำให้การเติบโตของการส่งออกไทยที่ประเมินไว้ตอนแรกที่ 0.5% อาจกลายเป็นไม่ขยายตัวเลย ทำให้สถานการณ์การส่งออกไทยที่ถือว่าไม่ดีอยู่แล้วในขณะนี้ ยิ่งย่ำแย่ขึ้นไปอีก ดังนั้น การตอบโต้จากสหรัฐฯด้วยการตัดสิทธิ GSP โดยอาศัยประเด็นเรื่องการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยนจึงเป็นประเด็นที่เราควรจะให้ความสนใจและจับตามองต่อไปครับ