ภาษีการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม

ภาษีการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม

จากบทความที่แล้วที่ได้มีการพูดเกี่ยวกับเรื่องของภาษีหัก ณ ที่จ่าย ของดอกเบี้ยเงินฝาก

ที่มีการปรับเปลี่ยนจากเดิมที่ดอกเบี้ยเกิน 20,000  บาท ขึ้นไปถึงหักภาษี มาเป็นการหักภาษีตั้งแต่ดอกเบี้ยบาทแรกที่ได้รับ มาวันนี้ หลายๆท่านอาจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับเรื่องการคิดภาษีของกองทุนรวม  15%  ซึ่งในระหว่างที่มีข่าวออกมา มีหลายท่านมาสอบถามผมถึงข่าวนี้ว่าจะมีผลกระทบอะไรต่อเงินลงทุนที่มีไว้เดิมหรือเปล่า หรือถ้าจะลงทุนใหม่ช่วงนี้จะดีหรือไม่ วันนี้ผมมีบทความดีดีจากนักวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Co., Ltd. คุณธีรพัฒน์ มีอำพล CFP® ได้เขียนอธิบายรายละเอียดเรื่องนี้ไว้ครับ

สาระสำคัญ ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว คือ ถ้ากองทุนรวมมีเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ก) ให้กองทุนรวมเสียภาษีในอัตรา 15% ของรายได้ ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะดอกเบี้ยจากตราสารหนี้เพียงอย่างเดียว โดยเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ก) คือเงินได้ประเภทดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม หรือผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่าย รวมทั้งเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ย

ทั้งนี้เป็นการจัดเก็บภาษีเงินได้ในระดับกองทุน ไม่ได้จัดเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุนโดยตรง ดังนั้นจึงไม่ใช่การเก็บภาษีจากกองทุนตราสารหนี้ แต่เป็นการเก็บภาษีจากทุกกองทุนรวมที่มีเงินได้ หรือผลตอบแทนที่มีลักษณะคล้ายดอกเบี้ยทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น เงินฝากธนาคาร พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ ตั๋วแลกเงิน ตั๋วเงินคลัง กองทุนรวมมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เฉพาะในส่วนของรายได้ประเภทดอกเบี้ย ส่วนลด (Discount) และเงินได้ที่มีลักษณะเดียวกันกับดอกเบี้ย ในอัตรา 15% โดยกำหนดให้ผู้จ่ายเป็นผู้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งกรมสรรพากร และกองทุนรวมไม่ต้องมีภาระในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้อีก

เดิมการลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง ถ้าผู้ลงทุนได้รับดอกเบี้ย หรือผลต่างจากการไถ่ถอน จะถือว่าเป็นเงินได้และโดนหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% แต่การลงทุนผ่านกองทุนรวม เงินได้หรือรายได้จำนวนนี้กองทุนรวม ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี เพื่อให้การลงทุนมีความเท่าเทียมกัน จึงเป็นเหตุผลในการออกกฎหมายฉบับนี้

กองทุนรวมที่โดนผลกระทบ ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่กองทุนรวมตราสารหนี้ที่โดน แต่ทุกกองทุนรวมที่มีเงินได้จากดอกเบี้ย ส่วนลด และเงินได้ที่มีลักษณะเดียวกันกับดอกเบี้ย จะโดนหักภาษีเงินได้ 15% เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะกองทุนรวมแบบผสมที่มีการลงทุนในตราสารหนี้บางส่วน หรือกองทุนรวมหุ้นที่อาจจะเอาเงินบางส่วนไปลงทุน ถ้ามีเงินได้จากดอกเบี้ย ส่วนลด และเงินได้ที่มีลักษณะเดียวกันกับดอกเบี้ยก็โดนเหมือนกัน

ดังนั้นผลกระทบที่ผู้ถือหน่วยจะได้รับ คือผลตอบแทนจะลดลง โดยเฉพาะต่อผลตอบแทนของกองทุนตราสารหนี้ จากเดิมกองทุนรวมเคยลงทุนในตราสารหนี้ได้ดอกเบี้ยตามหน้าตั๋ว ต่อไปนี้จะต้องถูกหักภาษี 15%  เช่น กองทุนไปลงทุนในหุ้นกู้ เคยได้รับดอกเบี้ยตามหน้าตั๋ว 3.00% ต่อไปนี้จะถูกหักภาษี 15% ทำให้ได้รับดอกเบี้ยเข้ามา 2.55% ทำให้ผลตอบแทนสุทธิของกองทุนลดลง

เนื่องจากการจัดเก็บภาษีเป็นการจัดเก็บจากกองทุนรวม ดังนั้นผู้ถือหน่วยลงทุนไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลจึงไม่สามารถนำภาษีที่ถูกหัก ไปขอคืนภาษีได้แม้ว่าฐานภาษีจะต่ำกว่าร้อยละ 15 ก็ตาม

ทั้งนี้คาดว่าถ้าเป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (GPF) กองทุนประกันสังคม (SSO) ไปลงทุน แล้วมีรายได้ประเภทดอกเบี้ย ส่วนลด (Discount) และเงินได้ที่มีลักษณะเดียวกันกับดอกเบี้ย อาจจะได้รับการยกเว้นภาษี ไม่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ทั้งนี้ต้องรอกฎหมายลูกที่จะออกตามมาอีกครั้ง

หลายท่านอ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะเริ่มคิดว่า แล้วจะลงทุนต่อไปดีหรือไม่ ในมุมมองของผม ผมมองว่าในกองทุนรวมตราสารหนี้ยังมีข้อดีอื่นๆอีก  ไม่ว่าจะเป็น มีสภาพคล่องสูง , มีเงินน้อยก็ลงทุนได้ , มีการกระจายความเสี่ยง อีกทั้งยังมีมืออาชีพจัดการเงินลงทุน เพียงแต่ถ้านับรวมเรื่องภาษีหลังจากนี้ข้อได้เปรียบของการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ จะหมดข้อดีไปอีกข้อ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกฎหมายจะเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 90 วันนับแต่ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็คือ 20 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป