กฎหมายจัดตั้งฯ-เลือกตั้งฯท้องถิ่น ยิ่งแก้ยิ่งล้าหลัง

กฎหมายจัดตั้งฯ-เลือกตั้งฯท้องถิ่น ยิ่งแก้ยิ่งล้าหลัง

จากการที่พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)จัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่น(อปท.) จำนวน 5 ฉบับและพ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

จำนวน 1 ฉบับ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 เม.ย.2562 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป นั้น

เมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้วเห็นว่าจากวิวัฒนาการของการปกครองท้องถิ่นไทยได้มีพัฒนาการคืบหน้ามาโดยลำดับ แม้ว่าจะสะดุดหยุดลงในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ได้มีการออกประกาศและคำสั่งหลายฉบับที่ริดรอนอำนาจของ อปท. และที่ร้ายที่สุดคือการระงับการเลือกตั้งสมาชิกสภาและผู้บริหารท้องถิ่นมาเกือบ 5 ปีแล้ว แต่เมื่อได้มีพ.ร.บ.ทั้ง 5 ฉบับดังกล่าวออกมา แทนที่จะมีความก้าวหน้า แต่กลับเป็นการรวบอำนาจถอยหลังไปจนผิดหลักการของการปกครองท้องถิ่นที่แท้จริงและบางประเด็นก็ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯปี 60 อย่างชัดแจ้ง คือ

1) ในบทเฉพาะกาลของพ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่นฯมาตรา 142 บัญญัติให้การเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังจากที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับเมื่อคสช.เห็นสมควรให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นของอปท.ใด ให้แจ้งคณะกรรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ทราบ โดยได้บัญญัติไว้ว่า กรณีที่ไม่มีคสช.แล้วให้อำนาจคสช.เป็นของครม. ซึ่งจะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งฯ จะมีขึ้นได้หรือไม่จะต้องขึ้นอยู่กับคสช.และครม. แทนที่จะเป็นอำนาจหน้าที่ของอปท.หรือกกต.โดยตรง

2)มีการกำหนดอายุในคุณสมบัติของผู้บริหาร อปท.ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง(เดิม 25 ปี) โดยใช้การเทียบเคียงกับคุณสมบัติรัฐมนตรี ซึ่งเห็นว่าเป็นการกำหนดเกณฑ์อายุที่สูงเกินไป และเป็นการปิดโอกาสคนรุ่นใหม่ที่จะเริ่มทำกิจกรรมทางการบริหาร อปท.

3)มีการลดจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)เหลือเพียงหมู่บ้านละ 1 คน(เดิม 2 คน) ทำให้ประชาชนมีโอกาสเลือกตัวแทนของตนเองเพื่อไปเป็นปากเสียงน้อยลง

4)ผู้บริหารอปท.จะดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระๆละ 4 ปีไม่ได้ หากดำรงตำแหน่งวาระติดต่อกันแล้วจะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลา 4 ปี(ไม่ว่าจะกี่สมัยก็ตาม-บางสมัยอาจอยู่ไม่ครบวาระ 4 ปี)นับแต่วันพ้นตำแหน่ง ซึ่งเป็นการปิดโอกาสของ อปท.เล็กๆ ที่ขาดแคลนผู้ที่มีความรู้ความสามารถเป็นผู้บริหารฯและประชาชนยังพึงพอใจอยู่ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งฯได้

5)บทบัญญัติของพ.ร.บ.จัดตั้งอปท.ฯ ขัดแย้งกับมาตรา 6 ของพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตามแนวทางของ พ.ร.บ.ฯ นี้ และกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศที่ออกตามความใน พ.ร.บ.ฯนี้ และบทบัญญัติของพ.ร.บ.จัดตั้ง อปท.ฯนี้ ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญฯปี 60 มาตรา 250 วรรคห้า ที่บัญญัติให้ อปท. มีอิสระในการบริหาร การจัดทำบริการสาธารณะ การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา การเงินและการคลังและการกำกับดูแล อปท.ซึ่งต้องทำเท่าที่จำเป็น เพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม ฯลฯ และต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์และการป้องกันการก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการส่วนท้องถิ่นด้วย

แต่พ.ร.บ.อบจ.ม.76 พ.ร.บ.เทศบาล ม.69 และพ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ม.88  ยังคงบัญญัติให้บังคับตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด ซึ่งขัดแย้งกับมาตรา 6 ของพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยมิได้มีการแก้ไขแต่อย่างใด

ในส่วนของหลักการที่ให้อปท.มีอิสระในการบริหาร การจัดทำบริการสาธารณะตาม รัฐธรรมนูญฯปี 60 ม.250 วรรคห้า นั้น อบจ.,เทศบาล และอบต.จะต้องให้กระทรวงมหาดไทย(มท.)ออกระเบียบให้เท่านั้น จึงจะเบิกจ่ายได้ นอกจากนั้น มท.ยังออกระเบียบจำกัดความเป็นอิสระของท้องถิ่นโดย “อปท.จะจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันได้เฉพาะที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือหนังสือสั่งการที่มท.กำหนดเท่านั้น(ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงินฯ พ.ศ.๒๕๔๗ ข้อ ๖๗) ซึ่งหากมีกรณีที่ท้องถิ่นมีความจำเป็นต้องทำโครงการต่างๆเพื่อจัดบริการสาธารณะและมีรายจ่ายที่จำเป็น กลับต้องมาทำตามระเบียบฯ ที่ไม่สอดคล้องในทางปฏิบัติที่กำหนดให้ต้องทำเหมือนกันทั่วประเทศ หากขืนทำไปก็อาจต้องถูกสตง.ทักท้วง ทำให้อปท.ที่แม้เห็นว่าเป็นความต้องการที่แท้จริงของประชาชน แต่ก็ไม่กล้าตัดสินใจดำเนินการ

กล่าวโดยสรุปว่าการแก้ไขกฎหมายจัดตั้งฯและเลือกตั้งฯอปท.ครั้งล่าสุดนี้ นอกจากจะไม่ได้แก้ไขบทบัญญัติที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแล้ว ยังได้เพิ่มบทบัญญัติที่ให้ข้าราชการส่วนกลางและภูมิภาคทำหน้าที่ สั่งการบังคับบัญชา มิใช่เพียง “กำกับดูแล”ตามหลักการปกครองท้องถิ่นดังเช่นนานาอารยประเทศทั้งหลาย 

ตัวอย่างเช่น การสอบสวนและวินิจฉัยเกี่ยวกับสมาชิกภาพของสมาชิกสภาท้องถิ่น นายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น/นายกเทศมนตรี และการวินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติการของอปท. โดยกทม.อยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อบจ.เทศบาลและเมืองพัทยาอยู่ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด(โดยเทศบาลเมืองและเทศบาลตำบลผวจ.สามารถมอบหมายนายอำเภอได้) และอบต.อยู่ในอำนาจของนายอำเภอ แทนที่จะเป็นการตรวจสอบถ่วงดุลกันระหว่างฝ่ายบริหารกับสภาท้องถิ่นที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง

ฉะนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันและเสนอให้มีการแก้ไขบทบัญญัติแห่งกฎหมายในทุกระดับให้สอดคล้องกับหลักการปกครองท้องถิ่นที่อยู่บนพื้นฐานที่ว่า “ไม่มีใครรู้ปัญหาท้องถิ่น ดีกว่าคนท้องถิ่น” ด้วยการกระจายอำนาจเพื่อยุติรัฐราชการรวมศูนย์ในที่สุดนั่นเอง