เราต้องการรัฐบาลแบบไหน

เราต้องการรัฐบาลแบบไหน

เมื่อ 30 ปีก่อน ตั้งแต่ประมาณปี 1980 ถึงปี 2008 ความคิดของนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับบทบาทของภาครัฐในระบบเศรษฐกิจค่อนข้างจะสอดคล้องกันว่า

ในการพัฒนาประเทศ บทบาทในการสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจต้องมาจากภาคธุรกิจ หรือภาคเอกชนเป็นหลัก มาจากการแข่งขันในภาคธุรกิจและความต้องการของประชาชนที่อยากให้ชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองดีขึ้น นำไปสู่การขวนขวายและการพัฒนา ขณะที่บทบาทภาครัฐในระบบเศรษฐกิจควรมีน้อยที่สุด จากความเชื่อที่ว่า กลไกตลาดจะเป็นเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและดีกว่าภาครัฐ ทั้งทรัพยากรในภาคเศรษฐกิจจริง และในภาคการเงิน รวมถึงการใช้ประโยชน์ของเงินทุนต่างประเทศ โดยมีความเชื่อว่า โลกาภิวัฒน์จะให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจสูงสุด เมื่อบทบาทของภาครัฐมีน้อยที่สุด เป็นแนวคิดที่เป็นพื้นฐานให้กับการเติบโตและการพัฒนาเศรษฐกิจช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

แต่ช่วง 10 ปีหลังนี้ แนวคิดดังกล่าวได้ถูกท้าทาย เพราะมีหลายกรณีที่ชี้ว่า บทบาทภาครัฐที่น้อยเกินไปในระบบเศรษฐกิจอาจไม่ใช่คำตอบ ตัวอย่างเช่น หนึ่ง การเกิดขึ้นของวิกฤติเศรษฐกิจโลก ปี 2008 ที่ชี้ว่า ตลาดการเงินที่ไร้การกำกับดูแลอย่างที่ควรสามารถสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลให้กับระบบเศรษฐกิจได้ สอง การเติบโตของธุรกิจที่ใหญ่เกินไป และไม่มีการควบคุม อาจนำไปสู่การผูกขาดทางธุรกิจที่สร้างปัญหาในเรื่องประสิทธิภาพและความเหลื่อมล้ำในสังคม สาม การเติบโตของเทคโนโลยีที่แสดงให้เห็นว่า บริษัทเทคโนโลยี เช่น กูเกิล เฟซบุ๊ค ไมโครซอฟท์ อาจเติบโตและใหญ่จนเกินความสามารถของภาคทางการ หรือภาครัฐที่จะกำกับดูแลบริษัทเหล่านี้ นำไปสู่ประเด็นเรื่องความเหมาะสมและเรื่องจริยธรรมในการทำธุรกิจ เช่น บริษัทเป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าที่ใช้บริการ และนำข้อมูลเหล่านี้ไปหาประโยชน์เชิงพาณิชย์

นอกจากนี้ ความสำเร็จของการพัฒนาเมืองในหลายประเทศ(urbanization)ที่ถูกใช้เป็นโมเดลขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ที่มีการวางแผนระยะยาวเพื่อพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบโดยภาคทางการ เช่น จีน ก็ชี้ให้เห็นถึงบทบาทที่เป็นประโยชน์ของภาครัฐที่สามารถสร้างสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นระเบียบและต่อเนื่อง ที่กลไกตลาดอาจไม่สามารถทำได้ และล่าสุด กรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ก็มีคำถามว่าบทบาทที่เหมาะสมของภาครัฐควรอยู่ตรงไหน ควรหรือไม่ที่การตัดสินใจของภาครัฐด้วยเหตุผลทางการเมืองสามารถทำให้ประโยชน์ที่จะมีต่อเศรษฐกิจและประชาชนในประเทศจากการจัดสรรทรัพยากรตามกลไกตลาดพังทลายลง

ประเด็นเหล่านี้ นำมาสู่คำถามเกี่ยวกับบทบาทที่เหมาะสมของภาครัฐในระบบเศรษฐกิจว่า เราในฐานะประชาชนของประเทศต้องการหรืออยากเห็นบทบาทภาครัฐหรือบทบาทรัฐบาลแบบไหน แบบปล่อยวาง หรือแบบแทรกแซงหนัก หรือแบบสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ห่างๆ และเข้ามาแก้ไขปัญหา หรือมีบทบาทเมื่อจำเป็น

ต้องยอมรับขณะนี้ คำตอบของนักเศรษฐศาสตร์ในเรื่องนี้ ยังไม่ชัดเจน คือ ยังไม่มีความเห็นพ้องร่วมกัน หรือมีความเห็นไปในทางเดียวกันชัดเจน แต่จากที่โลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่กระทบทั้งการผลิตและการบริโภคของประชาชน ทำให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัว ต้องค้นหาตัวเอง และต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง(transform) ตลอดเวลา เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและเพื่อความอยู่รอด ในลักษณะนี้ ภาครัฐเองก็ควรต้องปรับเปลี่ยนเช่นกัน ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองในบทบาทหน้าที่และวิธีการทำงาน เพื่อสร้างความมั่นใจต่อภาคธุรกิจและประชาชนว่า บทบาทภาครัฐในระบบเศรษฐกิจยังเป็นประโยชน์และยังจำเป็น ทั้งบทบาทในการกำกับดูแล ในการรักษากฎหมาย การสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ และในการลดความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจมีต่อเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น

ที่สำคัญ ในระดับผู้นำ ผู้นำภาครัฐหรือผู้นำประเทศก็ต้องสร้างความไว้วางใจหรือTrust ระหว่างประชาชนกับภาครัฐให้เกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถมั่นใจในบทบาทหน้าที่ของภาครัฐว่าจะทำเพื่อประโยชน์ของประเทศและรักษาประโยชน์ของส่วนรวม และตัวผู้นำประเทศเองหรือผู้นำภาครัฐก็ต้องเป็นตัวอย่างของบทบาทการเป็นประชาชนที่สังคมอยากเห็น ด้วยค่านิยมและความจริงใจ ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนในประเทศพร้อมทำตามเพื่อเติมเต็มบทบาทของตนเองในฐานะประชาชนของประเทศ เป็นบทบาทภาครัฐที่จะช่วยภาคธุรกิจและประชาชนให้สามารถอยู่ได้อย่างสง่างาม และอย่างประสบความสำเร็จในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง

แล้วอะไรคือบทบาทภาครัฐหรือบทบาทรัฐบาลที่ประชาชนอยากเห็นในโลกยุค 4.0

ผมคิดว่าคำตอบคงไม่พ้นสามเรือง หนึ่ง อยากเห็นภาครัฐจำกัดบทบาทของตนเองเฉพาะในเรื่องที่สำคัญๆ เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนซึ่งก็คือเป้าหมายหลักของการบริหารประเทศ สอง อยากเห็นภาครัฐมีความเข้มแข็งและกล้าที่จะใช้อำนาจที่มีบังคับใช้กฎหมายอย่างที่ควรจะเป็นเพื่อรักษากติกาและความถูกต้องให้เกิดขึ้นในสังคม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจและรักษาความเป็นธรรมในสังคม สาม อยากเห็นการออกนโยบายและกฎระเบียบต่างๆ เป็นไปอย่างชาญฉลาด(Smart Regulation) ที่ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป แต่เพียงพอเพื่อให้เกิดผลตามที่ต้องการ เป็นการทำนโยบายสาธารณะหรือออกกฎเกณฑ์อย่างมีเหตุมีผล มองไปข้างหน้า และเจาะลึกในรายละเอียดต่างๆ อย่างระมัดระวัง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและผลประโยชน์ของส่วนรวมที่ประชาชนมีร่วมกัน

นี่คือ สามบทบาทของภาครัฐที่ผมคิดว่า ประชาชนอยากเห็น ซึ่งเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ทั้งสามบทบาทนี้เกิดขึ้นก็คือ ผู้นำภาครัฐ หรือผู้นำรัฐบาลต้องเข้าใจประชาชน เข้าใจปัญหาที่ประชาชนประสบ เข้าใจความรู้สึกและการคาดหวังของประชาชน ไม่ใช่ทำตามอำเภอใจ หรือทำตามสิ่งที่พรรคการเมืองต้องการ หรือตามที่ระบบราชการและบริษัทขนาดใหญ่อยากให้ทำเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขา ซึ่งถ้าความเข้าใจนี้ไม่มี คือ รัฐบาลไม่เข้าใจประชาชน รัฐบาลก็จะอ่อนแอในสายตาประชาชน เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาและทำได้ตามความคาดหวังของประชาชน ซึ่งผลที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ หลักความถูกต้องต่างๆ ในสังคมที่รัฐบาลควรต้องปกป้องและควรรักษาไว้ ก็จะถูกทำลายลงโดยรัฐบาลเอง เพราะรัฐบาลอ่อนแอเกินไปที่จะดูแลประโยชน์ของส่วนรวม

ในหลายประเทศ เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เช่น สหรัฐ ประชาชนบางกลุ่มก็จะมองหาผู้นำที่เข้มแข็งในแง่ประชานิยมแทน ที่พร้อมให้และพร้อมตอบสนองความต้องการของพวกเขา แม้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ซึ่งจะทำลายความเข้มแข็งของประเทศให้อ่อนแอลงไปอีก นี่คือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลวางบทบาทภาครัฐในระบบเศรษฐกิจผิดพลาด ผลักดันให้ประชาชนมองหาผู้นำที่ดูเข้มแข็ง และให้ประโยชน์ตน เช่น กรณี เวนีซูเอลล่า แทนที่จะได้ผู้นำที่มุ่งสร้างประเทศ สร้างชาติ และสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง