ตัวเลขเศรษฐกิจไทย Q1/62 ส่งสัญญาณ 'อ่อนแอ'

ตัวเลขเศรษฐกิจไทย Q1/62 ส่งสัญญาณ 'อ่อนแอ'

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีแรกอาจจะเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง

นักเศรษฐศาสตร์ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) ประเมินอัตราการขยายตัวของ GDP 1Q62 มีโอกาสที่จะเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่า 4Q61 หลังจากที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานเศรษฐกิจไทยเดือน มี.ค.2562 ชะลอตัวลง และแย่กว่าที่คาดในเกือบทุกมิติ อย่างไรก็ดีฝ่ายวิจัยฯยังประเมิน SET index น่าจะแกว่งตัว Sideway ได้เนื่องจากยังมีปัจจัยบวกจากต่างประเทศมาหักล้าง และรวมถึงเม็ดเงิน Fund flow จากต่างประเทศ 

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือน มี.ค.2562 สรุปได้ดังนี้ i) ตัวเลขที่ชะลอตัวลงได้แก่ ผลผลิตและรายได้ภาคเกษตร, ผลผลิตอุตสาหกรรม, การลงทุนภาคเอกชน, และจำนวนนักท่องเที่ยว ii) ตัวเลขที่ยังขยายตัวได้แก่ การบริโภคภาคเอกชน และ iii) ดุลบัญชีเกินสะพัดเกินดุล สูงกว่าที่คาด โดยฝ่ายวิจัยฯ ประเมินตัวเลขนำเข้า-ส่งออกใน 2Q62 (เม.ย.-มิ.ย.) จะยังคงใกล้เคียงกับหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่สืบเนื่องจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และ จีน ซึ่งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจไทยตราบใดที่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางค้าได้ การค้าโลกก็จะยังคงซบเซาเหมือนช่วงที่ผ่านมา และจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้

อัตราการขยายตัว GDP ไทยช่วงครึ่งแรกของปีมีแนวโน้มชะลอตัวลงเป็นผลจากฐานสูงและปริมาณส่งออกที่หดตัวลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ก.ย. 2561 บวกกับการใช้จ่ายและการลงทุนใหม่ภาครัฐชะลอตัวระหว่างหลังการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ คาดว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทย จะเพิ่มน้ำหนักต่อการคาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัว GDP ปี 2562 จะชะลอตัวลงจาก 3.8% ในการประมาณการฯ ครั้งก่อน ซึ่งทำให้ฝ่ายวิจัยฯเชื่อว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ไปจนถึงช่วงปลายปี ในเบื้องต้นฝ่ายวิจัยฯประเมินตัวเลข GDP 1Q62 ของไทยจะขยายตัวเพียง 3.2% YoY

อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้นั่น ผมยังประเมินว่าอาจจะเป็นความหวังที่ช่วยกระตุ้นตัวเลขเศรษฐกิจภาคการเกษตรให้ฟื้นตัวได้ ดังที่ได้เคยเขียนอธิบายผลของปรากฏการณ์นี้ไปในบทความก่อนๆหน้า ว่าผลการศึกษาโดย IMF (Cashin P et al., 2015, Fair Weather or Foul? The Macroeconomic Effects of El Niño, IMF Working paper) พบว่า GDP ไทยมีความสัมพันธ์เชิงบวก หลังการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) 3-4 ไตรมาสติดๆ โดยผมประเมินว่าน่าจะเป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรที่จะปรับตัวขึ้นจากปัญหาภัยแล้ง และหากรัฐบาลใหม่สามารถบริหารจัดการน้ำสำหรับการเกษตรได้ดี น่าจะเป็นโอกาสในการตักตวงผลประโยชน์ของเกษตรกรไทยได้

แม้ตัวเลขเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีแรกอาจจะเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงก็ตาม แต่ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทย น่าจะยังมีโอกาสสำหรับการลงทุนในช่วงเดือน พ.ค.2562 อยู่ เนื่องจากเราประเมินว่า i) นักลงทุนจะเริ่มคลายความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ii) ความเป็นไปได้ที่จะมีการประกาศบรรลุข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และ จีน, iii) การจัดตั้งรัฐบาลของไทย นอกจากนี้แม้ว่า Valuation ของตลาดหุ้นไทยจะไม่ได้ถูกมากนัก (ผลจากการถูกปรับลดประมาณการกำไรมาต่อเนื่อง) แต่เราเชื่อว่าความเสี่ยงการลงทุนต่างๆของไทยที่ไม่สูงในขณะนี้ (สะท้อนมาจาก CDS Spread ของไทยที่ทำจุดต่ำใหม่ต่อเนื่อง) จะเป็นปัจจัยที่ค้ำยัน Valuation ของตลาดหุ้นไทย ดังที่ได้อธิบายไว้ในบทความก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ดีโอกาสทางขึ้นของ SET index อาจจะไม่มากนัก เนื่องจากมีโอกาส 'ต่ำ' ในการปรับประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนในสถานการณ์ในขณะนี้ และ ii) ความไม่แน่นอนของการกระตุ้นเศรษฐกิจจีน ที่อาจทำให้ตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว กลับมาดูน่าสนใจกว่าตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ในเอเชีย ได้ในระยะสั้น    

โดยสรุป ตลาดหุ้นไทยในขณะนี้ อาจจะไม่ใช่สถานการณ์ที่เป็นใจสำหรับนักเก็งกำไรมากนัก เนื่องจากมีปัจจัย 'ลบ' สลับ 'บวก' เข้ามา และอาจมีการเปลี่ยนแปลงพลิกกลับไปมาได้ตลอดเวลา อย่างไรก็ดีสำหรับมุมมองระยะกลาง 1-2 เดือนผมเชื่อว่าน่าจะยังเป็นโอกาสดีสำหรับการเข้าซื้อหุ้นพื้นฐานดีในขณะนี้ เพื่อหวังการปรับขึ้นของ SET index ตามปัจจัยบวกต่างๆที่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้ และรวมทั้งการปรับเพิ่มน้ำหนักดัชนี MSCI ของหุ้นไทยในเดือนนี้ น่าจะเป็นอีกปัจจัยหนุน ที่นอกเหนือจากปัจจัยพื้นฐานที่กล่าวมาข้างต้น จึงแนะนำ ย่อซื้อสะสมหุ้นพื้นฐานดี และอาจจะเน้นไปที่หุ้นในกลุ่มที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว อาทิ หุ้นกลุ่มค้าปลีก, อสังหาฯ, และท่องเที่ยว ที่คาดจะได้รับอานิสงส์บวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐฯ เป็นต้น