การดำเนินชีวิตให้อายุยืน (1)

การดำเนินชีวิตให้อายุยืน (1)

ในช่วงหลังนี้หลายท่านที่ผมได้มีโอกาสพบปะมักจะอยากคุยเรื่องสุขภาพมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะว่าปัจจุบัน

มีนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความสามารถเป็นจำนวนมากที่ได้เขียนบทความวิจารณ์ประเด็นทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพและทันท่วงที ทำให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจโดยทั่วไปเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์จานร้อน” ที่คุณวีระศักษ์ พงษ์อักษร (บรรณาธิการบริหาร กรุงเทพธุรกิจ) ได้กรุณาตั้งชื่อให้ผมเมื่อหลายปีก่อน อาจต้องปรับเปลี่ยนไปเพื่อสะท้อนสาระที่จะมีเรื่องสุขภาพเพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบันผมก็ยังนึกไม่ออกว่าจะเปลี่ยนเป็นชื่ออะไร

ครั้งนี้ผมขอนำเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่อีกครั้ง เพราะว่าเมื่อกลับมาทบทวนอ่านเรื่องนี้เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกับการแก่ตัวอย่างมีคุณภาพและยังมีรายละเอียดที่เป็นประโยชน์อย่างมากในการดำเนินชีวิตในยามแก่ตัวที่ผมไม่ได้กล่าวถึงในครั้งก่อน งานวิจัยที่ว่านี้คืองานวิจัยของทีมจากมหาวิทยาลัย Harvard ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Circulation เมื่อ 30 เมษายน 2018 ชื่อ “Impact of Healthy Lifestyle Factor on Life Expectancies in the US Population” งานวิจัยนี้จัดทำขึ้น เพราะผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพที่สหรัฐตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมสหรัฐซึ่งเป็นประเทศที่ร่ำรวยเป็นอันดับแรกๆ ของโลก (มีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าประเทศอื่นๆ) และมีการใช้จ่ายต่อประชากรสูงที่สุดในโลก (ที่ 9,402 เหรียญต่อคนในปี 2014) แต่เป็นประเทศที่ประชากรมีอายุยืนตกต่ำลงไปถึงลำดับที่ 31 ของโลก ซึ่งต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วที่สำคัญทุกประเทศ ดังนั้นนักวิจัยจึงพยายามตั้งคำถามว่าคนอเมริกันควรจะปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต (lifestyle) อย่างไรจึงจะมีอายุยืนและสุขภาพดี เพราะปัญหาหลักมิได้อยู่ที่จำนวนเงินและเทคโนโลยีที่ใช้ในการรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพ

นักวิจัยจึงได้นำเอาปัจจัยในการดำเนินชีวิตที่สามารถปรับเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องใช้เงินมาวิเคราะห์ดูว่าจะช่วยให้อายุยืน ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บได้หรือไม่ จึงได้เลือกพฤติกรรม 5 อย่างคือ

  1. การสูบบุหรี่
  2. การกินอาหาร
  3. การออกกำลังกาย
  4. การดื่มสุรา
  5. น้ำหนักตัว

ข้อมูลที่ใช้มาจากการสอบถามข้อมูลจากบุคลากรสาธารณะสุขเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นฐานข้อมูลและงานวิจัยที่ได้มาจากการตอบแบบสอบถาม National Health Survey ของสหรัฐ ซึ่งในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย

  1. สำหรับข้อมูลผู้หญิง: ฐานข้อมูลจาก Nurses’ Health Study (1980-2014) จำนวน 78,865 คน อายุเฉลี่ย 46-47 ปี
  2. สำหรับข้อมูลผู้ชาย: ฐานข้อมูลจาก Health Professionals Follow-up Study (1986-2014) จำนวน 44,354 คน อายุเฉลี่ย 53-55 ปี
  3. ในช่วงเวลาที่เก็บข้อมูล 34 ปีนั้น มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 42,467 คน

การดำเนินชีวิตให้อายุยืน (1)

ดังที่ผมเคยเขียนถึงเรื่องนี้มาก่อนหน้าแล้วนั้น การดำเนินชีวิตตามกฎเหล็ก 5 ข้อของงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Harvard คื

  • กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ (ไม่มันมาก หรือหวานมากเกินไป)
  • ออกกำลังกาย 30 นาที หรือมากกว่านั้น ทุกวัน
  • อย่าอ้วน (BMI ต้องอยู่ที่ 18.5 ถึง 24.9) วัด BMI ได้ที่ https://www.nhlbi.nih.gov/health/educational/lose_wt/BMI/bmi-m.ht
  • ดื่มไวน์ได้ไม่เกิน 1 แก้ว ต่อวัน สำหรับผู้หญิง และไม่เกิน 2 แก้ว ต่อวันสำหรับผู้ชาย
  • ห้ามสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด

ทำตามกฎเหล็ก 5 ข้อ ดังกล่าวแล้ว มีผลอย่างไรนั้น สรุปได้จากตาราง

จะเห็นได้ว่าการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องนั้น จะช่วยยืดอายุยืนเพิ่มขึ้นอีก 12-14 ปี ซึ่งน่าจะเป็นการยืดอายุอย่างมีคุณภาพเพราะการวิจัยสรุปว่าการปฏิบัติตามกฎ 5 ข้อข้างต้น ลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็งได้ 65% และจากกการเป็นโรคหัวใจได้ 82% (ซึ่งน่าจะช่วยปกป้องร่างกายจากโรคเส้นเลือดตีบตันในสมองด้วย)

การเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตดังกล่าวข้างต้น ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากมากนัก แต่มีความคุ้มค่าสูงมาก เพราะทำให้อายุยืนมากขึ้นถึง 12-14 ปี โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรเลย และค่าใช้จ่ายอาจลดลงอย่างมีนัยสำคัญก็เป็นได้ เพราะไม่ให้สูบบุหรี่ ให้ดื่มสุราในขอบเขตที่จำกัดและการออกกำลังกายก็น่าจะมีต้นทุนถูกกว่านำเอาเวลาดังกล่าวไปเที่ยวหรือซื้อของ ผมคิดว่าอีกเรื่องหนึ่งที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอคือการนอนหลับคืนละ 7-8 ชั่วโมง โดยจะต้องหลับลึกประมาณ 1 ชั่วโมงกับ 50 นาที

ในตอนต่อไปผมจะขอนำเสนอผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Harvard ในรายละเอียดเพิ่มเติมอีก เพราะแม้ว่าจะเป็นรายละเอียด แต่ก็เป็นรายละเอียดที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตเพื่อการแก่ตัวอย่างมีคุณภาพครับ