ศาลและการให้ความเป็นธรรมในยุค 4.0

ศาลและการให้ความเป็นธรรมในยุค 4.0

ในศตวรรษ 21 โลกได้ถูกขับเคลื่อนจากการพัฒนาที่รวดเร็วของเทคโนโลยีส่งผลให้รูปแบบในการทำ “ธุรกรรม” อันเป็นจุดก่อให้เกิดความสัมพันธ์ในทางกฎหมาย

มีความซับซ้อนและแตกต่างไปจากเดิม เช่น จากกระดาษมาเป็น e-Document จากลายเซ็นด้วยปากกามาเป็น Digital signature จากการซื้อขายผ่านหน้าร้านมาเป็นร้านค้าออนไลน์ และจากการชำระด้วยเงินสดมาเป็นการชำระเงินผ่าน Mobile Banking ประเด็นข้อสังเกตของผู้เขียน คือ ระบบศาลและการระงับข้อพิพาทในโลกยุคดิจิทัลเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับข้อเท็จจริงเหล่านี้อย่างไร?

การระงับข้อพิพาทออนไลน์ (ODR)

การลดลงของ Bricks and Mortar หรือ ร้านค้าในทางกายภาพ ส่งผลให้ร้านค้าออนไลน์หรือ ธุรกิจ e-Commerce เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุที่การทำธุรกรรมในโลกปัจจุบันไม่ถูกพรมแดนมาเป็นตัวขวางกั้น การซื้อขายสินค้าหรือการให้บริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือโครงข่ายคอมพิวเตอร์จึงเป็นช่องทางที่สะดวก รวดเร็ว และตรงใจกับผู้บริโภค

ในมุมกฎหมาย สัญญาที่เกิดจาก e-Commerce นั้นมีลักษณะเฉพาะ กล่าวคือ คู่สัญญา (ผู้ขาย/ผู้ซื้อ) มักอยู่กันคนละสถานที่ หรือในบางกรณีอาจอยู่กันคนละประเทศ ส่งผลให้คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายมีอำนาจเจรจาต่อรองไม่เท่ากัน หรือในบางกรณีอาจไม่มีโอกาสได้เข้าเจรจาต่องรอง เนื่องจากไม่สามารถพบปะเพื่อเจรจา หรืออยู่เฉพาะหน้าเพื่อต่อรองได้ ประกอบกับ “สัญญา” ที่เกิดจาก e-Commerce มักเป็นธุรกรรมที่มีมูลค่าไม่สูงมากนัก (ทุนทรัพย์ต่ำ) ดังนั้น ด้วยลักษณะพิเศษเช่นนี้ จึงเกิดแนวคิดในเรื่อง “การระงับข้อพิพาทแบบออนไลน์” (Online Dispute Resolution : ODR) โดยให้คู่ความสามารถเจรจาหรือไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยไม่ต้องมาศาล

ตัวอย่างเช่น กฎหมายการระงับข้อพิพาทออนไลน์ของสหภาพยุโรป หรือ Regulation on consumer ODR 2013 ได้เปิดช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถยื่นคำร้องและเข้าสู่กระบวนการระงับ ข้อพิพาทได้ผ่านหน้าเว็บไซต์ EU ODR Platform โดย platform จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมให้คู่สัญญาสามารถไกล่เกลี่ยและระงับข้อพิพาทระหว่างกันโดยไม่ต้องเดินทางมาศาลและไม่จำเป็นต้องพบกัน ซึ่งหากคู่สัญญาไม่สามารถตกลงกันได้ผ่านช่องทางดังกล่าว ย่อมมีสิทธิกลับไปใช้กระบวนการระงับข้อพิพาทในศาลแบบเดิมได้ ซึ่งแนวทางของ EU ดังกล่าว ส่งผลให้ประเทศสมาชิกนำหลักการ ORD มาปรับใช้ในประเทศของตน (เช่น เยอรมัน และฝรั่งเศส) 

ศาลเฉพาะทาง : Cyber & Internet Court

  ศาลเฉพาะทางสำหรับคดี Cyber ถูกสร้างขึ้นมาจากแนวคิดที่เชื่อว่า ศาลในรูปแบบเดิมไม่สามารถให้ความเป็นธรรมในคดีความที่มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี e-Commerce FinTech และภัยไซเบอร์ในรูปแบบต่างๆ ได้ จึงสมควรให้มีการจัดตั้งศาลเฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรืออาจให้มีการใช้อนุญาโตตุลาการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-ADR) ในการระงับข้อพิพาท

  ตัวอย่างเช่น เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ประเทศอังกฤษ ได้มีการจัดตั้งศาลเฉพาะทางเพื่อระงับ ข้อพิพาททางไซเบอร์ หรือ Fraud and Cyber Crime Court เพื่อรองรับประเด็นข้อพิพาทในรูปแบบใหม่ (Modern Crime) โดยได้มีการรวบรวมผู้พิพากษาและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในสาขาต่าง ๆ เช่น ด้านเทคโนโลยีทางการเงิน ด้านนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์สมัยใหม่ เพื่อช่วยพิจารณาข้อพิพาท ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cyber Crime) อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (Economic Crime) และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี

เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ ประเทศจีน ได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการมีศาลเฉพาะดังกล่าว และได้มีการจัดตั้งศาลอินเทอร์เน็ต (Internet Court) จำนวน 3 แห่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยรับพิจารณาข้อพิพาทที่คู่ความทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงคดีความที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา เช่น การทำสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ การกู้ยืมออนไลน์ และการละเมิดงานลิขสิทธิ์ผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นต้น

นอกจากนี้ Internet Court ของจีนยังยอมรับให้ Blockchain เป็นพยานหลักฐานที่ศาลรับฟังได้ หากข้อมูลนั้นได้ถูกบันทึกไว้ในระบบ Blockchain ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการลงเวลา (Timestamp) , มีการใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ (Digital signature) และข้อมูลได้ผ่านกระบวนการ Hash Function หรือ การย่อหรือทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต้นฉบับให้สั้นลง

สำหรับผู้เขียน ประเด็นเรื่องการยอมรับ Blockchain ให้เป็นพยานหลักฐานที่ศาลรับฟังได้นั้น ย่อมสะท้อนแนวคิดของศาลในการ “ไม่เลือกปฏิบัติ” (Non-discrimination) และไม่ปฏิเสธสถานะของข้อมูลเพียงเพราะข้อมูลนั้นอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือเป็นการเคารพสิทธิและเสรีภาพในการแสดงเจตนาของคู่สัญญา ตามหลัก Party Autonomy

สำหรับประเทศไทย

ปัจจุบันยังไม่มีระบบ ODR และศาลเฉพาะทางว่าด้วยเรื่อง Cyber ดังนั้น คดีความในลักษณะดังกล่าวย่อมเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามปกติของศาลแพ่งหรือศาลทรัพย์สินทางปัญญา (หากเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์) แล้วแต่กรณี

อย่างไรก็ดี ศาลไทยได้มีแนวทางในการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการต่างๆ ของศาล โดยผู้เขียนขอยกบางตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น ระบบ e-Filing ที่ปัจจุบันสามารถใช้ได้กับคดีแพ่งทุกประเภท และศาลได้มีแนวทางในการยกร่างข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยเรื่องการจัดทำเอกสาร ระบบคำพิพากษา และการรวบรวมคดีความด้วยกระบวนการอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้การรับเอกสารในรูป e-filing ของศาลไม่จำเป็นต้องแปลงเป็นเอกสารกระดาษในกระบวนการพิจารณา แต่อำนวยความสะดวกให้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวที่ยื่นผ่านระบบ e-Filing สามารถใช้ในกระบวนการพิจารณาของศาลได้ทันที

นอกจากนี้ ศาลไทยยังมีแนวทางในการจัดทำระบบ e-Notice โดยให้ยกเลิกการประกาศวันนัดไต่สวนลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น และให้ประกาศผ่านหน้าเว็ปไซต์ของศาลแทน เช่นเดียวกัน จากเดิมที่การเชิญชวนและตอบรับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหรือการตอบรับเป็นพยานจะต้องทำในรูปแบบเอกสารและส่งไปรษณีย์กลับมายังศาล ปัจจุบันศาลไทยได้มีการใช้เทคโนโลยี QR Code เข้ามาทดแทนเพื่อให้การตอบรับทำได้สะดวก ประหยัด และรวดเร็วขึ้น

ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่า การปรับตัวของศาลและกระบวนการระงับข้อพิพาทในยุคดิจิทัลเป็นเรื่องจำเป็นและท้าทายสำหรับศาลทั่วโลก เพราะการให้ความเป็นธรรมในยุคปัจจุบันจำเป็นอย่างยิ่งที่ ผู้อำนวยความยุติธรรมจะต้องเข้าใจกลไกของเทคโนโลยีที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการทำธุรกรรมของประชาชนในยุค 4.0  

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]