กฎหมาย บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบไม่มีโครงข่าย(MVNO)

กฎหมาย บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบไม่มีโครงข่าย(MVNO)

ทุกเทคโนโลยีย่อมมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่ไม่มีวันสิ้นสุด เทคโนโลยีโทรศัพท์ก็เช่นกัน

 เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่สามารถย่อโลกทั้งใบมาอยู่ในมือของเราได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

อีกทั้งโทรศัพท์ยังมีจุดเด่นที่ไม่มีอุปกรณ์สื่อสารอื่นมาทดแทนได้ คือ ผู้ใช้บริการสามารถที่จะส่งเสียงของผู้ใช้ไปถึงตัวของผู้รับได้ในเวลาแทบจะเป็นเวลาเดียวกัน จึงทำให้มีการพัฒนาโทรศัพท์จนสามารถใช้งานได้แม้ไม่ได้ใช้สายโทรศัพท์ ซึ่งเรียกว่า “โทรศัพท์เคลื่อนที่” หรือ “โทรศัพท์มือถือ” ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ลักษณะเดียวกับโทรศัพท์บ้านแต่ไม่ต้องใช้สายโทรศัพท์ จึงทำให้สามารถพกพาไปที่ต่าง ๆ ได้

โทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบันไม่ใช่มีคุณสมบัติเพียงแค่สื่อสารทางเสียงเท่านั้น แต่ยังมีความสามารถในด้านอื่น เช่น SMS, MMS, นาฬิกาจับเวลา ปฎิทิน ตารางนัดหมาย การเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต เป็นต้น

อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่นี้จำเป็นต้องใช้การส่งสัญญาณในทางอื่นแทนสายโทรศัพท์แบบโทรศัพท์บ้าน สิ่งนั้นก็คือ คลื่นความถี่ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการสื่อสารโดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่

คลื่นความถี่ดังกล่าวจะถูกใช้แทนสายโทรศัพท์ในการส่งสัญญาณเสียงของเครื่องโทรศัพท์ของผู้พูดไปยังเครื่องโทรศัพท์ของผู้รับ โดยคลื่นความถี่นี้มีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากเราไม่สามารถใช้คลื่นความถี่ทุกชนิดในกิจการโทรคมนาคมได้ คลื่นความถี่ที่สามารถใช้ในกิจการโทรคมนาคมได้นั้น จะใช้อยู่ที่ “ความถี่” ระดับหนึ่งเท่านั้น

นอกจากนี้กิจการโทรคมนาคมยังมีหลากหลายรูปแบบมิใช่เพียงแค่โทรศัพท์เคลื่อนที่เพียงอย่างเดียว จึงทำให้คลื่นความถี่ที่สามารถนำมาใช้กับโทรศัพท์เคลื่อนที่เหลือไม่มากนัก ทั้งนี้ต้องพิจารณาถึงเหตุผลด้านอื่นประกอบกันด้วย เช่น ความชัดเจน ความเร็วในการส่งสัญญาณ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ผู้ที่สามารถครอบครองคลื่นความถี่ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นผู้มีอำนาจกำหนดความเป็นไปในธุรกิจดังกล่าวได้ไม่ยากนัก

รัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้มีการเปิดเสรีโทรคมนาคมขึ้น ส่งผลให้เกิดผู้ประกอบการการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหม่จำนวนมาก การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบไม่มีโครงข่ายของตนเอง หรือ บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (Mobile Virtual Network Operator : MVNO) เป็นอีกหนึ่งบริการที่ได้รับความนิยมและมีแนวโน้มที่จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทั่วโลก

สำหรับประเทศไทยเริ่มมีการให้บริการ MVNO ครั้งแรกในปี 2552 จนถึงปัจจุบัน บริการ MVNO สามารถช่วยเพิ่มทางเลือกในการใช้บริการที่หลากหลาย อีกทั้งยังนำเสนออัตราค่าบริการในระดับต่างๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน ตัวอย่างบริษัทที่ให้บริการ MVNO ของไทย เช่น The White Space, i-Mobile 3GX, My World 3G, แพนกวิน เป็นต้น

ตามประกาศ กสทช. เรื่องบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน ปี 2556 บริการ MVNO คือ “…ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และไม่มีสิทธิในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ทั้งหมดหรือบางส่วนในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่…”

ทั้งนี้ผู้ประกอบการ MVNO ต้องขอใช้คลื่นความถี่ของผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของโครงข่าย (Mobile Network Operator : MNO) โดยผู้ประกอบการ MNO จะดำเนินการ “ขายส่ง” บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในรูปของความจุโครงข่ายให้แก่ผู้ประกอบการ MVNO โดยผู้ประกอบการ MVNO จะนำความจุโครงข่ายดังกล่าวจัดทำเป็นบริการประเภทต่างๆ เช่น บริการส่งข้อความสั้น บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียง บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทข้อมูล เป็นต้น เพื่อขายบริการดังกล่าวให้แก่ผู้ใช้บริการอีกต่อหนึ่งนั่นเอง

ประกาศ กสทช. ฉบับข้างต้น ระบุถึงข้อกำหนดที่ผู้ประกอบการ MVNO จะต้องทำความตกลงกับผู้ประกอบการ MNO เพื่อขอซื้อบริการสำหรับการขอใช้ความจุโครงข่าย อีกทั้งยังระบุถึงข้อกำหนดที่ผู้ประกอบการ MNO จะต้องแบ่งความจุโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตนเองให้กับผู้ประกอบการ MVNO หากผู้ประกอบการดังกล่าวมีการยื่นข้อเสนอขอใช้ โดยผู้ประกอบการ MNO จะไม่สามารถปฎิเสธข้อเสนอการให้บริการดังกล่าวได้ เว้นแต่มีเหตุอันสมควร

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท i-Mobile หนึ่งในผู้ประกอบการ MVNO ของไทย ได้แจ้งต่อ กสทช. เพื่อขอสิ้นสุดการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง พร้อมส่งมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการภายหลังจากสิ้นสุดการอนุญาตให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมพิจารณา

โดยทางบริษัทได้อ้างเหตุผลของการขอสิ้นสุดการอนุญาตว่า ทีโอที ในฐานะคู่สัญญา (MNO) ไม่ได้ดำเนินการขยายพื้นที่การให้บริการตามแผนธุรกิจ และไม่มีการพัฒนาแผนธุรกิจที่ชัดเจน รวมถึงเกิดปัญหาระบบสัญญาณโทรศัพท์ขัดข้องบ่อยครั้งและมีการแก้ไขปัญหาล่าช้าส่งผลให้ i-Mobile ขาดทุนและไม่อาจดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ในขณะที่ ทีโอที ชี้แจงว่าเพราะ i-Mobile มีหนี้ค้างชำระและผิดนัดชำระค่าบริการเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด ทำให้ กสทช. ต้องติดตามและตรวจสอบสาเหตุของการยุติการให้บริการ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวและเพื่อประโยชน์ในการแข่งขันต่อไป

กรณีดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามว่า บริการ MVNO นั้นเป็นโมเดลที่สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการที่ไม่มีคลื่นเป็นของตนเองจริงหรือไม่ เนื่องจากธุรกิจ MVNO เป็นธุรกิจที่ตอบสนองต่อผู้ประกอบการที่ไม่สามารถขอรับสิทธิในการใช้คลื่นความถี่โทรคมนาคมได้ด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น ไม่มีเงินทุนสูงมากพอที่จะประมูลแข่งกับผู้ประกอบการรายใหญ่อื่น ๆ หรือ อาจจะเข้าสู่ตลาดได้ช้ากว่าผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่ได้เข้าสู่ตลาดไปแล้ว เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องกลับมาทบทวนถึงการที่จะทำให้ธุรกิจ MVNO มีประสิทธิภาพได้ เนื่องจากธุรกิจ MVNO สามารถช่วยลดการผูกขาดทางการค้าของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพสูงทั้งทางการเงินและการให้บริการที่ครอบครองคลื่นความถี่อยู่กับตนเอง หรือมีคู่แข่งเพียงไม่กี่รายเท่านั้นได้

โดยมีกฎหมายที่อาจจะเกี่ยวข้อง เช่น มาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ที่กำหนดให้ “ผู้มีใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม มีหน้าที่ให้ผู้รับใบอนุญาตรายอื่นเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมของตนกับของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด” และ ตามประกาศ กสทช. เรื่องบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน ปี 2556 ที่กล่าวมาข้างต้น

แน่นอนว่าลำพังแค่กฎหมายไม่อาจแก้ปัญหาได้ หากแต่ต้องพิจารณาถึงโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอในการรองรับความต้องการใช้งาน และการดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดที่สร้างสรรค์ของผู้ประกอบการ MVNO ไปพร้อม ๆ กันด้วย อีกทั้งข้อตกลงระหว่างผู้ประกอบการ MNO และ MVNO จะต้องเป็นข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกัน เพื่อทำให้ธุรกิจดังกล่าวได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป.

 โดย... 

ดร.อรัชมน พิเชฐวรกุล

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์