ทิศทางพัฒนา Robo-advisor ในไทย

ทิศทางพัฒนา Robo-advisor ในไทย

ขยายความเกี่ยวกับการพัฒนา Robo-advisor ในประเทศไทย

ในตอนที่แล้ว เราได้ทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ Robo-advisor ในประเทศไทยกันไปพอหอมปากหอมคอ มาวันนี้ผมจะขอเล่าขยายความเกี่ยวกับการพัฒนา Robo-advisor ในประเทศไทย รวมทั้งคาดการณ์ทิศทางในอนาคต โดยอ้างอิงจากวิวัฒนาการของ Robo-advisor ในต่างประเทศ ประกอบกับความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้ให้เข้ากับตลาดทุนของไทย

ปี 2018 ถือเป็นจุดกำเนิดของ Robo-advisor ในประเทศไทย และคาดว่าภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 นักลงทุนไทยน่าจะมีทางเลือกเพิ่มขึ้นสำหรับการใช้งาน Robo-advisor อย่างน้อยอีก 2-3 ราย โดยที่ส่วนประกอบหลักของ Robo-advisor ในไทยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ดังนี้

1)Portfolio Proposal: การแนะนำสัดส่วนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ หรือ Asset Allocation และการคัดเลือกกองทุนรวมสำหรับสินทรัพย์แต่ละประเภท โดยปัจจุบันการทำ Suitability Analysis ด้วยการตอบคำถามเป็นวิธีหลักในการให้คำแนะนำว่านักลงทุนแต่ละคนสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ถ้ารับความเสี่ยงได้น้อย Robo-advisor จะแนะนำสัดส่วนการลงทุนหลักอยู่ในกองทุนตราสารหนี้ แต่ถ้ารับความเสี่ยงได้สูง ระบบก็จะแนะนำให้ลงทุนในตราสารทุนในสัดส่วนที่สูงตามไปด้วย โดยที่สัดส่วนการลงทุนและรายชื่อกองทุนรวมที่เลือกมานั้น ได้มาจาก Quant Model ซึ่งควรมีการเปิดเผยที่มาที่ไปอย่างละเอียดไว้ใน Website หรือ White Paper เพื่อความโปร่งใสของการให้คำแนะนำ

2)Digital Onboarding: การเปิดบัญชีเพื่อลงทุนในกองทุนรวมผ่านทาง Mobile Application แบบที่ไม่ต้องใช้กระดาษ ช่วยให้ลูกค้าจำนวนมากเปิดบัญชีได้ง่ายขึ้น ใช้เวลาน้อยลง และลดต้นทุนการดำเนินงานได้เป็นอย่างมาก ซึ่งวิธีการเปิดบัญชีแบบนี้กำลังเป็นที่นิยมในหลายสถาบันการเงินของไทย ไม่ใช่แค่เพียง Robo-advisor เท่านั้น โดยลูกค้าที่ต้องการเปิดบัญชีสามารถกรอกข้อมูลลงใน Mobile Application ได้ทันที พร้อมทั้งถ่ายรูปบัตรประชาชน และ Selfie ถ่ายหน้าของตนเองพร้อมกับบัตรประชาชนเพื่อยืนยันตัวตนเจ้าของบัตร และระบบจะสอบถามรหัสหลังบัตรประชาชน (JC Number) เพื่อตรวจสอบกับฐานข้อมูลของกรมการปกครอง จากนั้นผู้ใช้งานสามารถเชื่อมบัญชีเงินฝากเข้ากับบัญชีลงทุนได้ทันที เพื่อเพิ่มความสะดวกในการลงทุนแต่ละครั้ง และการตัดเงินเพื่อลงทุนรายเดือนแบบ DCA (Dollar Cost Averaging)

3)Portfolio Management: การจัดสรรเงินลงทุนเพื่อกระจายลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท ผ่านการซื้อขายกองทุนรวมแบบอัตโนมัติตามที่ระบุไว้ใน Portfolio Proposal รวมทั้งการปรับน้ำหนักการลงทุนแบบอัตโนมัติ (Automatic Rebalancing) เพื่อทำให้การลงทุนจริงเข้าใกล้คำแนะนำจาก Quant Model มากที่สุด

สำหรับทิศทาง Robo-advisor ของประเทศไทยในอนาคตนั้น ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการนำเสนอ Portfolio Proposal ในรูปแบบที่สะท้อนถึงเป้าหมายการลงทุนแบบละเอียดของลูกค้าแต่ละราย (Specific Goal-based Investing) จะเริ่มมีบทบาทมากขึ้น โดยที่ลูกค้าหนึ่งคนอาจมีได้หลายเป้าหมาย เช่น การลงทุนเพื่อเกษียณอายุ การลงทุนเพื่อการศึกษาของลูก หรือแม้แต่การลงทุนเพื่อเก็บเงินสำหรับท่องเที่ยว เป็นต้น รวมทั้งเราอาจจะได้เห็นการใช้ Social Media Profile เพื่อประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยง หากลูกค้ายินยอมให้ใช้ข้อมูลดังกล่าว และแสดงผลคำแนะนำสำหรับ Asset Allocation ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละเป้าหมายการลงทุนและความเสี่ยงที่ลูกค้ายอมรับได้ พัฒนาการอีกด้านของ Robo-advisor ที่เราจะได้เห็นในปี 2019 อย่างแน่นอนคือ ขั้นตอนการเปิดบัญชีโดยการใช้ NDID (National Digital ID) ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกอย่างสูงสุดให้กับลูกค้าในการเปิดบัญชี

ในส่วนของ Feature ที่ Robo-advisor ในประเทศไทย อาจจะนำสิ่งที่มีอยู่แล้วในต่างประเทศมาประยุกต์ใช้คือ Microinvestment หมายถึงการลงทุนครั้งละน้อย ๆ แบบอัตโนมัติพร้อมกับการใช้จ่ายผ่าน Credit Card หรือ eWallet (ดูตัวอย่างได้จาก www.acorns.com) รวมถึงการนำเสนอสินค้าทางการเงินอื่นให้กับผู้ใช้งาน เช่น ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ เงินกู้ส่วนบุคคล เป็นต้น นอกจากนี้ น่าจะมีสถาบันการเงินหลายแห่งเริ่มใช้ Robo-advisor เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้พนักงานบริการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น โดยวิธีการนี้อาจเรียกว่า Hybrid Robo-advisor หรือ Robo-for-advisors ซึ่งกำลังเป็นกระแสนิยมในสถาบันการเงินต่างประเทศ ภายใต้แนวคิด High Tech with High Touch …