ร่างแก้ไขก.ม.สิทธิบัตร-ผลกระทบเรื่องยา

ร่างแก้ไขก.ม.สิทธิบัตร-ผลกระทบเรื่องยา

การประชุม กมธ.สาธารณสุข เมื่อไม่นานมานี้มีเรื่องการบังคับใช้สิทธิ หรือ Compulsory Licensing ที่เรียกสั้นๆว่า CL แต่ในภาษาราชการ

ใช้คำว่า “มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ” กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องยา ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงใหม่ของ WTO ที่เรียกว่า TRIPS Plus หรือ Trade-related Aspects of Intellectual Property Plus เพราะทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ได้มีการจัดทำร่าง พรบ.แก้ไขเพิ่มเติม พรบ.สิทธิบัตรที่ผู้เกี่ยวข้องเรื่องสิทธิบัตรยาเห็นว่า ร่างแก้ไขฯ ฉบับนี้ ไปไกลเกินไป ทำให้ประเทศไทยต้องเสียโอกาสในการผลิตยาเอง และต้องสั่งยาจากต่างประเทศที่มีราคาแพงกว่ายาที่เราผลิตเองหลายเท่า ทำให้เกิดการเสียโอกาสของอุตสาหกรรมยาในประเทศ และมีผลกระทบต่อประชาชนมหาศาล 

เรื่องนี้ประเด็นหลักคือฝ่ายผู้ผลิตยา (ในต่างประเทศ) ต้องการให้สิทธิบัตรของตนมีอายุยาวนานที่สุดหรือตลอดกาล ใครมาผลิตยาตัวเดียวกันนี้ไม่ได้ ซึ่งก็จะกลายเป็น monopolyไปโดยปริยาย ในขณะที่หลายประเทศต้องการจำกัดระยะเวลาสิทธิบัตร เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนาได้พัฒนายาของตัวเองขึ้นมา ในราคาที่ถูกกว่า เพราะราคายาที่สั่งมาจากต่างประเทศจะแพงเกินไป ในภาษากฎหมายเรียกว่า Exclusivity หรือ Exclusive Rights หรือเป็นเจ้าของสิทธิแต่เพียงผู้เดียว 

ถ้าติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอดจะพบว่าประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของเจ้าของสิทธิบัตรในต่างประเทศมานานแล้ว ประเทศสหรัฐพยายามกดดันให้มีการปราบปรามการละเมิดไม่ว่าลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ และอื่นๆ ใช้วิธีขึ้นทะเบียนให้เป็นประเทศจับตามอง (Watched List) และใช้มาตรการทางสิทธิพิเศษทางภาษี ที่เรียกว่า GSP เป็นเครื่องมือบีบตลอดเวลา 

เรื่องการบังคับใช้สิทธิยาที่เรียกว่า CL ที่เราเคยทำเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว ถือเป็นความสำเร็จระดับหนึ่งที่ทำให้หยุดสั่งยาราคาแพงหลายตัวจากต่างประเทศได้ เช่นยาแก้ HIV ทำให้เราสามารถผลิตยาใช้เองในราคาที่ถูกกว่า ประหยัดเงินได้มหาศาล แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว และเมื่อสิ้นระยะเวลาคุ้มครอง ฝ่ายผู้ผลิตจากต่างประเทศก็เปิดเกมรุกให้มีการเปลี่ยนแปลงในสองเรื่องสำคัญคือ เรื่องการขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตร (Patent Term Extension) และสิทธิที่จะเก็บข้อมูลไว้ใช้แต่เพียงผู้เดียว (Data Exclusivity) ซึ่งเป็นเรื่องที่กำหนดไว้ในข้อตกลงใหม่ของ WTO ที่เรียกว่า TRIPS Plus นั่นเอง 

โดยหลักการแล้ว ภาคีสมาชิกขององค์กรระหว่างประเทศ เมื่อรับหลักการแล้วก็ต้องไปออกกฎหมายหรือปรับแก้กฎหมายที่มีอยู่ภายในประเทศให้สอดคล้องกับข้อตกลง ประเด็นนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ทำหน้าที่นี้ก็ต้องเป็นผู้ร่างแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งก็ได้ทำหน้าที่นี้ เพราะถ้าไม่ทำ ก็ถือว่าขัดต่อหลักการการเป็นภาคีสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศ จากนั้นก็จะถูกแซงค์ชั่น (sanction) จากประเทศทั้งหลายที่อ้างว่าถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และย่อมมีสิทธิที่จะใช้มาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจอื่นๆ ไม่ว่าเรื่องภาษี เรื่องการค้า เรื่องความร่วมมือ เรื่องการช่วยเหลือ และมาตรการอื่นๆที่จะบีบให้ต้องออกกฎหมายตามข้อตกลง และเมื่อเป็นไปตามที่ต้องการแล้วจึงค่อยปลดรายชื่อออกจากประเทศที่ถูกจับตามอง และค่อยๆลดเงื่อนไข ทำให้สามารถส่งสินค้าไปขายได้มากขึ้น 

สหรัฐเป็นประเทศที่ใช้มาตรการนี้มากสุด และขณะนี้ก็กำลังใช้กับหลายประเทศ โดยเฉพาะจีน ที่สหรัฐกล่าวหาว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐมากที่สุด จนเกิดเป็นสงครามการค้าในปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก และได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐมานับสิบปี สหรัฐจึงต้องการให้เราแก้ไขเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามาโดยตลอด ประเทศไทยจำเป็นต้องค้าขายกับสหรัฐ จึงต้องแก้ไขกฎระเบียบและบังคับใช้กฎหมายเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะกับประเทศไทย แต่ทุกประเทศที่ได้เปรียบการค้ากับสหรัฐ และอาจถือเป็นมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ที่เรียกว่า Non-tariff Barriers ได้เช่นกัน

ในการประชุมครั้งนี้ได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ไว้หลายประเด็น เรื่องนี้เป็นเรื่องการเข้าถึงยา ที่จำเป็นต้องเข้าถึงอย่างทั่วถึง ไม่ใช่เฉพาะคนมีเงินเท่านั้นถึงจะเข้าถึงได้ เพราะยาไม่ใช่ของฟุ่มเฟือย ยาที่ใช้ในประเทศต้องมีราคาถูกมากกว่าการสั่งยาจากต่างประเทศ ต้องพยายามเปลี่ยนจากยาเฉพาะพิเศษมาเป็นยาสามัญ นอกจากนั้นเรื่องของยาสำหรับบ้านเรา ไม่ใช่แค่เรื่องรักษาโรคอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของความมั่นคงด้วย หมายความว่ายิ่งถ้าเราผลิตยาได้เองมากเท่าไร เราก็พึ่งต่างชาติน้อยลง เมื่อยามที่เกิดเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก จำเป็นต้องใช้ยามหาศาล ยากลายเป็นเรื่องของความมั่นคงของประเทศ เช่นเดียวกับวัคซีน ที่เรากำลังมีการผลิตเองในบางตัวเช่นวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์ ยาไม่ใช่แค่เรื่องความมั่นคงของประเทศแต่เป็นความมั่นคงของมนุษย์ด้วย ถ้าเรามียาที่ผลิตได้เองมากเท่าไร ประชาชนเข้าถึง ราคาไม่แพง เมื่อยามเจ็บไข้ได้ป่วยก็รักษาได้ง่ายและเร็ว สุขภาพตัวเองแข็งแรง สุขภาพเศรษฐกิจครอบครัวมั่นคง ก็ไม่ล้มละลายจากการรักษาสุขภาพการเจ็บป่วย เรายังขาดกฎหมายเฉพาะในเรื่องสิทธิในชีวิตและสุขภาพที่ดี (The Rights to Life and Health) ซึ่งเป็นเรื่องที่แยกจากเรื่องสิทธิส่วนตัว หรือ Private Rights เรามีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับสิทธิในการได้รับการดูแลเรื่องสุขภาพปฐมภูมิอย่างทั่วถึง แต่ไม่ชี้ชัดว่าเป็นสิทธิในการที่จะมีชีวิตและสุขภาพที่ดี และเรื่องยา เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายอุตสาหกรรมสุขภาพที่รัฐบาลสนับสนุนให้เกิดในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเวชภัณฑ์ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การรักษาพยาบาลในภูมิภาคที่เรียกว่า Medical Hubอีกด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะถกเถียงกันแค่จะใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิกับยาอะไร บริษัทไหน ประเทศอะไร แต่เป็นเรื่องที่จะต้องคิดให้ครอบคลุม เป็น Comprehensive Model ในทุกมิติ และที่สำคัญการที่เราเป็นประเทศเล็ก จะไม่สามารถเจรจากับบริษัทยาได้ในลักษณะต่างตอบแทน แต่ถ้าเราสามารถรวมกับอีกหลายๆประเทศ ซึ่งก็เชื่อว่าประเทศกำลังพัฒนาอีกเป็นจำนวนมากก็มีความต้องการเช่นกัน ก็จะมีอำนาจต่อรองสูง

CL มีหลายระดับ ทั้งระดับรัฐ และระดับเอกชน ระดับเอกชนเป็นเรื่องการเจรจาต่อรองทางการค้า เป็นเรื่องของประโยชน์ต่างตอบแทน แต่ในระดับรัฐเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเข้ามาคิด ไม่ใช่ให้แค่บางกลุ่มคิดในบางมิติ จริงๆแล้ว CL ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องยา เรื่องสาธารณสุขเท่านั้น รัฐบาลไทยคงต้องมองไกลถึงความร่วมมือกับอีกหลายประเทศเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับบริษัทยาที่รัฐบาลของประเทศผู้ผลิตให้ความสนับสนุน ในสัญญาความร่วมมือระหว่างประเทศระดับภูมิภาคอาทิ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ที่จีนกำลังผลักดัน หรือ แม้กระทั่ง Transpacific Partnership Agreement (TPP) ที่แม้สหรัฐจะถอนตัวออกไปแล้ว ก็มีความพยายามให้มีข้อตกลงหรือจัดให้มีข้อตกลงที่จะขยายระยะเวลาสิทธิบัตรออกไป รวมถึงการใช้ยุทธวิธีอื่นๆเช่นปรับเปลี่ยนต่อยอดสิทธิบัตรเดิม ที่เรียกว่า Evergreening Extension ออกไปเรื่อยๆ องค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้มุ่งในเรื่องการค้าเป็นหลัก และไม่สนใจเรื่องชีวิตและสุขภาพของประชาชนที่อยู่ในประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนามากนัก

การทำ CL ยาเป็นเพียงเรื่องหนึ่งที่หยิบมาพูดคุยในเรื่องสิทธิบัตร ในขณะที่เราไม่มีทางเลือกมากนัก แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องพัฒนาตัวยาของเราเองจากสมุนไพรไทยและภูมิปัญญาพื้นบ้าน การโต้แย้งเพื่อเอาชนะผู้ผลิตเป็นเรื่องยาก เพราะเราไม่มีอำนาจต่อรองสูงพอ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ