75 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย เหลียวหลัง แลหน้า

75 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย เหลียวหลัง แลหน้า

ในช่วงระหว่างวันที่ 24 - 25 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี (BOT Symposium 2018)

ภายใต้หัวข้อ “สู่ยุคใหม่ของระบบการเงินและธนาคารกลาง” ซึ่งผมคิดว่าเป็นหนึ่งในงานสัมมนาวิชาการด้านเศรษฐกิจและการเงินที่ดีที่สุดของประเทศ โดยหนึ่งในหัวข้ออภิปรายของงานคือ “75 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย เหลียวหลัง แลหน้า” ผมจึงขอหยิบยกประเด็นที่น่าสนใจจากการอภิปรายมาเล่าสู่กันฟัง โดยใช้ข้อมูลจากบทความของ อาจารย์พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการอภิปรายของ ดร. ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

หากมองย้อนกลับไปในระยะเวลา 75 ปีที่ผ่านมา ทุกท่านคงมีความเห็นเช่นเดียวกับผมว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปฎิบัติตามบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของธนาคารกลางเป็นอย่างดี โดยนอกเหนือไปจากการดำเนินนโยบายทางการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาและเสถียรภาพทางการเงิน เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพในอัตราที่เหมาะสมกับศักยภาพของประเทศ ตามภารกิจของธนาคารกลางโดยทั่วไป ด้วยกรอบการดำเนินนโยบายที่มีความชัดเจน และโปร่งใส ธนาคารแห่งประเทศไทยยังเป็นหน่วยงานหลักด้านเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการกระจายตัวของเศรษฐกิจไทย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยผลักดันผ่านภาคการธนาคารให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม อาทิ การสนับสนุนการเปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์ในพื้นที่ห่างไกล มาตรการการสนับสนุนสินเชื่อหรือเพิ่มโอกาสแก่ผู้ประกอบการ SME เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น การดูแลให้ผู้บริโภคได้รับบริการทางการเงินที่เป็นธรรม พร้อมไปกับการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจทางการเงินเพื่อให้ผู้ใช้บริการทราบถึงสิทธิและหน้าที่ของตน

ทั้งนี้ หากมองไปในอนาคต บทบาทและประสิทธิภาพของธนาคารกลางในการส่งผ่านนโยบายการเงินจะเผชิญความซับซ้อนและยากลำบากมากขึ้น ด้วยสภาพแวดล้อมในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยเฉพาะปัจจัยทางด้านผลกระทบจากกระแสแห่งโลกาภิวัฒน์ (Globalization) และพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล (Digitalization) ที่ครอบคลุมธุรกรรมการค้า บริการ และความเชื่อมโยงของภาคการเงิน รวมถึงนวัตกรรมและความซับซ้อนของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่เพิ่มข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายการเงินหรือการกำกับดูแลภาคการเงิน เนื่องจากปัจจัยดังกล่าวทำให้เส้นแบ่งเขตพรมแดนระหว่างประเทศเลือนรางมากขึ้น

เมื่อเทียบกับในอดีต ที่พลวัตจากการลด/เพิ่มดอกเบี้ย จะมีความสัมพันธ์อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ต่อการเพิ่ม/ลดการบริโภคและการลงทุน ซึ่งจะส่งต่อไปยังการเพิ่มขึ้น/ลดลงของผลผลิตและเงินเฟ้อ ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

เราจะเห็นได้ชัดว่าปัจจัยทางด้านโลกาภิวัฒน์และการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล มีผลกระทบต่อกลไกการส่งผ่านของนโยบายการเงินในปัจจุบัน เพราะอาจส่งผลให้เกิดการเพิ่มหรือลดทั้งอุปสงค์และอุปทานในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้พลวัตของความสัมพันธ์ระหว่างผลผลิตและเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไป

ซึ่งท่านผู้ว่าธาริษา ได้กล่าวถึงหลักการสำคัญในการดำเนินนโยบายการเงินว่าจำเป็นต้องมีกรอบการดำเนินงานที่ยืดหยุ่น สามารถปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที ด้วยกลไกและเครื่องมือในการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน อาทิ Macroprudential Tool, Rule-Based, Counter-Cyclical Measure

ผมขอยกตัวอย่างของ Macroprudential Tool ซึ่งได้แก่การดูแลเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและระบบเศรษฐกิจผ่านนโยบาย หรือ เกณฑ์กำกับสถาบันการเงิน เพื่อเสถียรภาพในด้านความมั่นคงของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง รวมถึงระบบการเงินโดยรวม รวมถึงเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคเศรษฐกิจจริงอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ แนวทางการปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อลดความร้อนแรงที่อาจก่อความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและระบบการเงินในอนาคต เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว ด้วยขีดจำกัดของการส่งผ่านนโยบายทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ผนวกกับผลกระทบข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยจากทางด้านโลกาภิวัฒน์และการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ด้านดิจิทัล การดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นรักษาสมดุลให้เหมาะสม ระหว่างนโยบายการเงิน และการผสมผสานกลไกและเครื่องมือในการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน เพื่อบรรลุเป้าหมายเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจในระยะยาวที่ยั่งยืน ดังเช่นความสำเร็จในช่วงเวลา 75 ปีที่ผ่านมา