สร้างความมั่งคั่งให้ลูก

สร้างความมั่งคั่งให้ลูก

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกๆท่าน ช่วงนี้ตลาดหุ้นและตลาดการลงทุนอื่นๆค่อนข้างผันผวนมาก

เรื่องสงครามการค้าก็ยังไม่จบ มาต่อด้วยเรื่องของความกังวลว่าจะเกิดวิกฤติตุรกี ซึ่งส่งผลทำให้ตลาดหุ้นต่างๆ ราคาทองคำ ปรับตัวผันผวนค่อนข้างมากในช่วงนี้ วันนี้ผมอยากเขียนเกี่ยวกับเรื่องของการสร้างหรืออย่างน้อยก็ปลูกฝังความคิดเรื่องของการบริหารความมั่งคั่งให้กับลูกๆของท่านผู้อ่าน

เริ่มกันที่ค่าใช้จ่ายในวัยเด็กก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งนอกจากค่าอาหารและค่าใช้จ่ายประจำวันแล้ว ค่าใช้จ่ายอีกอย่างที่จำเป็นก็คือค่าเล่าเรียน ล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ทำการสำรวจพบว่าค่าเล่าเรียนในปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยค่าเล่าเรียนประถมศึกษา โรงเรียนเอกชนเพิ่มขึ้น 2.5% โรงเรียนรัฐบาล เพิ่มขึ้น 1.19% ขณะที่มัธยมศึกษาของเอกชนเพิ่มขึ้น 2.11% ส่วนโรงเรียนมัธยมของรัฐบาลแทบไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปีที่ผ่านมา โดยค่าเล่าเรียนจะแตกต่างกันระหว่างโรงเรียนรัฐ เอกชน โรงเรียนรัฐหลักสูตรพิเศษ โรงเรียนทางเลือกและโรงเรียนนานาชาติซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงที่สุด ซึ่งถ้าเรามองว่าการศึกษาคือการลงทุนประเภทหนึ่ง (แถมเป็นการลงทุนภาคบังคับอีก) ตัวเราก็มีทางเลือกที่จะให้ลูกของเราเรียนในโรงเรียนประเภทใด ซึ่งแน่นอนค่าใช้จ่ายส่วนนี้ (ไม่นับค่าเรียนพิเศษ) ผู้ปกครองต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ถ้าเราวางแผนการสร้างความมั่งคั่ง สมมติว่าเพื่อรองรับการศึกษาในระดับปริญญาตรีให้กับลูกซึ่งจะเกิดในอีก 18 ปีข้างหน้า เรามองว่ามีทางเลือกอยู่ 2 แบบคือ หนึ่ง เลื่อนการใช้จ่ายไปในอนาคต โดยยังไม่เก็บหรือลงทุนในปัจจุบัน สองเราเก็บเงินส่วนหนึ่งเพื่อเป็นกองทุนสำหรับการศึกษา ลองมาดูในแบบที่ 2 สมมติว่าเราลงทุนเดือนละ 1000 บาททุกเดือน นำไปลงทุนในกองทุนหุ้นและตราสารหนี้โดยมีผลตอบแทนอยู่ที่ร้อยละ 3 5 และ 7 ตามลำดับ เราจะพบว่าด้วยเงินต้นที่เราสะสมมารวม216,000 บาท เงินกองทุนนี้จะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 285,188 (ร้อยละ 3) 346,028 (ร้อยละ 5) และ 422,268 บาท ตามลำดับ ซึ่งถ้าคำนวณเป็นจำนวนเงินต่อเทอม (8เทอม)จะออกมาเป็น 35,648 43,253 52,783 บาทต่อเทอม ดูเหมือนว่าจะเพียงพอถ้าคิดเทียบกับค่าเทอมของมหาวิทยาลัยรัฐในปัจจุบัน แต่อย่าลืมเรื่องเงินเฟ้อนะครับ ในอีก18ปีข้างหน้าเราไม่รู้ว่าค่าเทอมจะเพื่มขึ้นเป็นเท่าไหร่ แต่ด้วยแนวคิดนี้ก็นับว่าเป็นการสร้างความมั่งคั่งให้กับลูกของเราได้อย่าหนึ่ง และยังเป็นการลดภาระของเราไปได้ส่วนหนึ่ง

อีกด้านหนึ่งนอกเหนือจากการเตรียมเงินกองทุนเพื่อการศึกษาแล้วก็คือการสร้างจิตสำนึกถึงความสำคัญของการวางแผนความมั่งคั่งให้กับลูก จากหนังสือ Make Your kid a money genius ของ Beth Kobliner ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนการเงินส่วนบุคคล ความสำคัญอยู่ที่เรื่องของการสร้างความรู้เกี่ยวกับการเงินในวัยตั้งแต่เด็กๆก่อนประถมวัย จนไปถึงวัยรุ่น โดยในระยะแรกเริ่มเราอาจให้เด็กๆมีความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของเงินซึ่งใช้สำหรับซื้อของ โดยไม่ต้องพูดถึงเรื่องของอัตราดอกเบี้ย หรือเครดิตการ์ด แต่ให้เน้นว่าเงินนั้นมีจำกัด การจะซื้อของเป็นเรื่องที่เราต้องเลือกและต้องตัดสินใจว่าจะใช้เงินเพื่อจะซื้อสิ่งใหนในกรณีที่เรามีความต้องการของหลายๆสิ่ง

เมื่อเด็กเริ่มโตขึ้นมาสู่วัยประถมเราอาจเริ่มให้เขาได้รู้จักถึงหนี้หรือการมีหนี้สิน เรื่องความสำคัญของเวลากับค่าของเงิน ไปจนถึงเรื่องของเครดิตและเดบิตการ์ดรวมถึงความปลอดภัยและความเสี่ยงในการใช้ สำหรับเด็กที่โตขึ้น เราอาจแนะนำในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย ความน่าเชื่อถือหรือเครดิตสกอร์ และแนวคิดของอมอร์ไทเซชั่นหรือการผ่อนแบบลดต้นลดดอกเป็นต้น

เมื่อเด็กๆได้รับการปลูกฝังเรื่องความสำคัญของเงิน และเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องทำให้เรามั่นใจในระดับหนึ่งว่าเขาจะโตขึ้นมาอย่างคนที่รู้ค่าของเงิน การหาเงิน การลงทุน การใช้จ่ายการมีภาระหนี้สินและวิธีการบริหารจัดการเงิน รวมถึวการวางแผนทางการเงิน

ไอน์สไตน์เคยกล่าวเอาไว้ว่า ผลตอบแทนทบต้นเป็นการสร้างสรรค์ที่มีค่ามากที่สุดที่โลกเคยมีมา และนั่นก็หมายความว่าคนที่เริ่มต้นลงทุนก่อนย่อมได้เปรียบกว่า ท้ายสุดนี้ก็ขอให้ท่านผู้อ่านทุกๆท่านโชคดีกับการลงทุนครับ