ไอโอดีกับการพัฒนาซีจีภาคเอกชน

ไอโอดีกับการพัฒนาซีจีภาคเอกชน

สัปดาห์ที่แล้ว ผมได้ร่วมเป็นวิทยากรให้กับ ป.ป.ช. ในงานสัมมนาเรื่อง “การส่งเสริมให้ภาคเอกชนประกอบธุรกิจอย่างโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล”

โดยได้พูดถึงงานของสถาบันไอโอดีในการพัฒนาธรรมาภิบาลหรือซีจีภาคเอกชน วันนี้ก็เลยอยากจะเก็บประเด็นที่พูดไป รวมถึงความคิดเห็นของผมในเรื่องนี้มาแชร์ให้แฟนคอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ 

ความโปร่งใสและธรรมาภิบาล เป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทยทั้งในภาครัฐและเอกชน สะท้อนได้จากปัญหาต่างๆที่ประเทศมีมากขณะนี้ โดยเฉพาะการทุจริตคอร์รัปชันที่แก้ยาก เพราะพฤติกรรมของคนของเราในสังคมส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมาภิบาลหรือการกำกับดูแลกิจการอย่างที่ควร ซึ่งก็คือ แต่ละคนทำหน้าที่ของตนอย่างโปร่งใส มีความรับผิดชอบ มีเหตุมีผล และยุติธรรม คือ ให้ความสำคัญกับสิทธิและประโยชน์ของผู้อื่นและส่วนรวม นี่คือการมีธรรมาภิบาลที่ดี แต่ถ้าพฤติกรรมของคนในสังคมไม่เป็นแบบนี้ สังคมที่ได้ก็จะออกมาตรงข้าม คือ เป็นสังคมที่ไม่โปร่งใส ขาดความรับผิดชอบ ไม่มีเหตุมีผล และไม่มีความยุติธรรม ซึ่งจะสร้างปัญหามากให้กับสังคม เศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศ ดังนั้น จำเป็นที่พฤติกรรมของคนในสังคมต้องเปลี่ยนไปสู่การทำหน้าที่อย่างมีธรรมาภิบาล ซึ่งสำหรับภาคธุรกิจ หมายถึง การประกอบธุรกิจตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่เน้นความโปร่งใส ความรับผิดชอบ ความมีเหตุมีผล และการให้ความสำคัญกับผลกระทบที่จะมีต่อผู้อื่นและส่วนรวม สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การตัดสินใจที่ดี ที่จะสนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตและได้รับความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งก็คือ เงื่อนไขของความยั่งยืนทางธุรกิจ

พันธกิจหลักของสถาบันไอโอดี คือ ส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เกิดขึ้นในบริษัทเอกชน ผ่านการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ ที่เป็นจุดสูงสุดของบริษัทที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและกำกับดูแลกิจการบริษัท ซึ่งสถาบันไอโอดีทำหน้าที่เพื่อบรรลุพันธกิจนี้ใน 3 ด้าน 

1.จัดฝึกอบรมและสัมมนาพัฒนาความรู้กรรมการเพื่อนำไปสู่การกำกับดูแลกิจการที่ดี 2.ออกแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อเป็นแนวทางให้กรรมการบริษัททำหน้าที่ พร้อมประเมินการกำกับดูแลกิจการของบริษัท  3.ขับเคลื่อนโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) ที่เป็นเวทีให้บริษัทธุรกิจสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของประเทศได้อย่างสมัครใจ โดยทำธุรกิจอย่างสะอาด ไม่รับหรือจ่ายสินบน ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ดีควรทำ 

สิ่งที่ผมได้แชร์กับผู้เข้าร่วมสัมมนาสัปดาห์ที่แล้วก็คือ จากงานที่ไอโอดีทำช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนในพฤติกรรมการทำธุรกิจของภาคเอกชนว่ามีทิศทางด้านธรรมาภิบาลดีขึ้น สะท้อนจากตัวเลขต่างๆที่สถาบันไอโอดีมี เช่น จำนวนกรรมการบริษัทที่ให้ความสนใจเข้าอบรมในหลักสูตรต่างๆของสถาบันมีมากกว่าสามพันคนต่อปี สะท้อนชัดเจนถึงการตระหนักรู้ในความสำคัญของการกำกับดุแลกิจการต่อธุรกิจและการทำหน้าที่กรรมการ นอกจากนี้ ผลการประเมินการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็ดีขึ้นต่อเนื่องจากคะแนน 50 ส่วนร้อย ปี 2001 เป็นคะแนน 80 ส่วนร้อยปีที่แล้ว มี 914 บริษัทเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตกับโครงการ CAC มี 325 บริษัทที่ผ่านการรับรองว่ามีนโยบายและแนวปฏิบัติต่อต้านการทุจริตตามที่คณะกรรมการ CAC กำหนด ล่าสุด จากการสำรวจความเห็นของกรรมการบริษัทปีนี้ ร้อยละ 78 เห็นว่าวัฒนธรรมด้านการกำกับดูแลกิจการของบริษัทในประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้นช่วงห้าปีที่ผ่านมา 

ข้อมูลเหล่านี้ชี้ชัดเจนว่าโมเมนตัมด้านการกำกับดูแลกิจการในภาคธุรกิจไทยกำลังปรับตัวดีขึ้น เป็นผลจากการขับเคลื่อน ทั้งจากหน่วยงานกำกับดูแล เช่น ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ต้องการรักษาความน่าเชื่อถือของการทำธุรกิจในประเทศ จากตัวบริษัทธุรกิจเองที่มองธรรมาภิบาลเป็นปัจจัยแข่งขันทางธุรกิจที่สำคัญ และแรงขับเคลื่อนจากนักลงทุนและผู้ร่วมตลาดที่ต้องการเห็นสังคมธุรกิจของประเทศมีคุณภาพและมองการมีธรรมาภิบาลที่ดีเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้สังคมธุรกิจของประเทศมีคุณภาพ

คำถามต่อมาคือ แล้วอนาคตจะเป็นอย่างไรและเราควรต้องทำอะไรต่อ ซึ่งเป็นคำถามที่ผมถูกถามบ่อยในฐานะกรรมการผู้อำนวยการสถาบันไอโอดี เรื่องนี้ อยากจะฝากข้อคิดไว้ 3 ข้อเพื่อการผลักดันภาคธุรกิจให้มีความโปร่งใส มีธรรมาภิบาลที่ดี และทำธุรกิจอย่างสะอาด ปราศจากคอร์รัปชัน 

1.เราต้องทำให้ธรรมาภิบาลในภาคธุรกิจที่ดีขึ้นนี้ นำไปสู่การสร้างผลหรือ impact ต่อพฤติกรรมของบริษัทในวงกว้าง ให้นำไปสู่การลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆ เช่น การทุจริตคอร์รัปชัน และสิ่งที่ทำได้ก็คือ อย่างน้อยขับเคลื่อนให้บริษัทที่ทำธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การทำธุรกิจที่มีธรรมาภิบาลเป็นมาตรฐานเดียวกัน ผลักดันโดยสมาคมธุรกิจของอุตสาหกรรมนั้นๆ ตัวอย่างเช่น การต่อต้านการทุจริต สมาคมธุรกิจ เช่น สมาคมธุรกิจก่อสร้าง ต้องผลักดันให้ทุกบริษัทที่เป็นสมาชิกของสมาคมทำธุรกิจอย่างสะอาด ไม่จ่ายสินบน และเข้าเป็นสมาชิกโครงการ CAC พร้อมเพรียงกัน เพื่อให้ทุกบริษัทที่เป็นสมาชิกมีมาตรฐานการทำธุรกิจที่เหมือนกันคือ ไม่รับไม่จ่ายสินบน ที่จะไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ และแข่งขันกันด้วยคุณภาพ 

2.ขยายแนวความคิดและหลักการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลไปสู่ทุกส่วนของภาคเอกชน ไม่ใช่เฉพาะบริษัทขนาดใหญ่หรือบริษัทจดทะเบียน แต่ขยายไปถึงบริษัทขนาดเล็ก เอสเอ็มอี ธุรกิจครอบครัว และองค์กรไม่แสวงหากำไร เช่น สมาคม มูลนิธิ วัด สหกรณ์ มหาวิทยาลัย เป็นต้น เพราะการทำหน้าที่อย่างโปร่งใส มีความรับผิดชอบ มีเหตุมีผล ยุติธรรม ที่ให้ความสำคัญกับผู้อื่นและส่วนรวม เป็นหลักของการทำหน้าที่และการตัดสินใจที่จะให้ประโยชน์กับทุกองค์กรและถ้าทุกๆฝ่ายทำ ธรรมาภิบาลในภาคเอกชนก็จะยิ่งดีขึ้นๆ

3.นำพลังการเปลี่ยนแปลงธรรมาภิบาลของภาคเอกชนไปผลักดันธรรมาภิบาลในภาครัฐให้เปลี่ยนแปลงในแง่ความโปร่งใส ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ การตรวจสอบโดยบุคคลภายนอก และความมีเหตุมีผลในการตัดสินใจ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นตามมาแน่นอนจากแรงกดดันของสังคมเมื่อธรรมาภิบาลในภาคเอกชนดีขึ้น เพราะสังคมต้องการเห็นธรรมาภิบาลของทั้งประเทศดีขึ้น