ย่านนวัตกรรม Innovation District

ย่านนวัตกรรม Innovation District

นักวิชาการด้านการบริหารธุรกิจและด้านเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่ง ได้ให้ความสนใจในการวิจัยเพื่อค้นหาคำตอบว่า

เคล็ดลับของการสร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ให้ประสบความสำเร็จนั้น ต้องอาศัยปัจจัยช่วยอะไรบ้าง

หนึ่งในคำตอบที่ได้รับ ก็คือ การเกิดขึ้นของพื้นที่พิเศษที่บรรดาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีไอเดียในการทำธุรกิจด้วยวิธีการและมุมมองต่างไปจากธุรกิจเดิมๆ ที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเทคโนโลยีมาใช้ประกอบในการสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีในตัวผลิตภัณฑ์ การบริการ หรือแม้กระทั่งในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจ

ตัวอย่างที่ทราบกันดีก็คือ การเริ่มต้นของธุรกิจ ดอทคอม ในบริเวณที่เรียกว่า ซิลิกอนวัลเลย์ ที่กลายมาเป็นตำนานและเป็นต้นแบบของสตาร์อัพในรุ่นปัจจุบัน

การรวมตัวกันในลักษณะที่เป็นคลัสเตอร์เชิงพื้นที่ ที่ดึงดูดให้ผู้ประกอบการเริ่มใหม่หรือสตาร์อัพมารวมตัวกันในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่มีสภาพแวดล้อมและปัจจัยสนับสนุนสำหรับการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมขึ้นได้ ในปัจจุบันจะใช้คำศัพท์ที่เรียกว่า “ย่านนวัตกรรมหรือ Innovation District นั่นเอง

เพียงแต่ “ย่านนวัตกรรม” สมัยใหม่ จะเปลี่ยนรูปแบบจากย่านซิลิกอนวัลเลย์ที่เป็นพื้นที่นอกเมือง เข้ามาสู่ใจกลางเมืองใหญ่ ที่มีการออกแบบและวางแผนไว้ก่อน เพื่อทำให้ย่านนั้นๆ ได้กลายเป็นแหล่งชุมชนนวัตกรรมโดยเฉพาะ และกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญส่วนหนึ่งของการเป็น “เมืองอัจฉริยะหรือ Smart City

สาธารณูปโภคที่สำคัญในการดึงดูดสตาร์อัพหรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้เข้ามารวมกลุ่มและใช้ชีวิตหรือทำธุรกิจตามปกติ อยู่ในย่านนวัตกรรมอย่างสะดวกสบาย และตอบสนองการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง มักจะได้แก่

ระบบการเดินทางที่ให้ความคล่องตัวตลอดทั่วทั้งย่าน ไม่ว่าจะเป็นโดยการขนส่งสาธารณะ หรือการใช้ยานพาหนะส่วนตัวขนาดเล็ก หรือแม้กระทั่งการเดินเท้า ระบบการติดต่อสื่อสารแบบไร้สายที่ครอบคลุมและมีความเร็วสุง การมีอาคารในลักษณะใช้งานได้อย่างหลากหลายแบบผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็นการอยู่อาศัย การบันเทิงสันทนาการ ศูนย์อาหาร และสถานที่พบปะสนทนา และเปลี่ยนความคิดเห็น หรือการสร้างเครือข่ายธุรกิจร่วมกัน ฯลฯ

รวมถึงการมีสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย หรือแหล่งให้ความรู้เพิ่มเติมที่อาจจำเป็นต่อการสร้างธุรกิจนวัตกรรมเฉพาะทางในด้านต่างๆ เช่น ย่านนวัตกรรมไอที ย่านนวัตกรรมการแพทย์และเภสัชกรรม ย่านนวัตกรรมแฟชั่น หรือย่านนวัตกรรมชีวภาพ เป็นต้น 

และที่ขาดไม่ได้ก็คือ การมีสถาบันการเงินที่เป็นแหล่งสนับสนุนเงินทุนสำหรับธุรกิจเริ่มใหม่ที่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้สูง เช่น บริษัทกองทุนร่วมลงทุน หรือ Venture capital ต่างๆ

ในการออกแบบย่านนวัตกรรมสำหรับสมาร์ทซิตี้ ผู้บริหารท้องถิ่น มักจะมองประโยชน์สำคัญใน 3 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาพื้นที่เมือง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเลือกบริเวณที่เคยเป็นย่านธุรกิจหรืออุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมที่เริ่มจะถดถอยหรือปิดกิจการลงไป ทำให้เกิดอาคารหรือพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ทิ้งว่างไว้ ทำให้เมืองมีความเคลื่อนไหวและการใช้ชีวิตได้ตลอด 24 ชั่วโมง

การพัฒนาชุมชนและสังคม ให้เป็นชุมชนแห่งการสร้างสรรค์และการพัฒนา เกิดความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ที่มีจุดมุ่งหมายร่วมกัน เพื่อทำให้สังคมโดยรวมดีขึ้น

การพัฒนาความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ มีการสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่นด้วยเศรษฐกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเศรษฐกิจสร้างสรรค์  

แนวคิดนี้ ประสบความสำเร็จมาแล้วในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก เริ่มจาก บาร์เซโลนาในสเปน บอสตันในสหรัฐอเมริกา ลอนดอนในอังกฤษ และ ปารีสในฝรั่งเศส เป็นต้น

สำหรับไทยแลนด์ 4.0 ของเรา ก็มีนโยบายและความคิดริเริ่มที่จะสร้างย่านนวัตกรรมขึ้นในพื้นที่ EEC และในเมืองหลักต่างๆ เช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต และ ขอนแก่น เป็นต้น และได้สะท้อนออกมาด้วยการเกิดขึ้นของแหล่งชุมนุมของสตาร์ทอัพ เช่น โคเวิร์กกิ้งสเปซ ต่างๆ รวมถึงการได้รับการยกย่องว่า เป็นประเทศที่สตาร์อัพนานาชาติให้ความสนใจอีกแห่งหนึ่ง

ย่านนวัตกรรมเหล่านี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะดึงดูดนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ต้องการนำความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาพัฒนาต่อยอดให้กลายเป็นธุรกิจที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต