ยาฆ่าหญ้า “พาราควอต” กับทางออกที่สังคมยังสับสน

ยาฆ่าหญ้า “พาราควอต” กับทางออกที่สังคมยังสับสน

ทิศทางของประเทศไทยกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ดูเหมือนจะสับสนอลหม่านพอควร โดยเฉพาะกับพวกเรา

ในฐานะประชาชนคนไทยที่เฝ้าดูและปฏิบัติตาม เพราะหลายๆ โครงการ หลายๆ นโยบายที่รัฐบาลอนุมัติออกมานั้น ดูจะตรงข้ามกับความรู้สึกของประชาชนเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการอนุญาตให้มีการนำเข้ายาฆ่าหญ้าที่ชื่อว่า “พาราควอต” ต่อไปได้อีก 

ยาฆ่าหญ้า พาราควอตนี้ค่อนข้างอันตราย มีพิษเฉียบพลันสูงต่อมนุษย์ และมีผลกระทบเรื้อรังต่อสุขภาพ เช่น ก่อโรคพาร์กินสัน สมองเสื่อม แม้จะใส่อุปกรณ์ป้องกันแต่ก็สามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายได้ โดยการสัมผัสทางผิวหนัง แล้วซึมเข้าร่างกายจนเกิดอันตรายถึงชีวิต ทั้งยังตกค้างในอาหาร สิ่งแวดล้อม และมนุษย์ ถ้าสัมผัสหรือเผลอกลืนกินเข้าไปก็ไม่สามารถล้างท้องได้ จึงเป็นที่มาของแรงกระเพื่อมผลักดันให้มีการยกเลิกการนำเข้าและใช้สาร พาราควอต

เป็นที่รู้กันดีในแวดวงการเกษตรว่า สารพิษจากยาฆ่าหญ้าที่มีการใช้ต่อเนื่องกันมายาวนานหลายสิบปี จะมีการสะสมตกค้างมหาศาลในน้ำในดินจนอิ่มตัว เอิบอาบซาบซ่านเข้าไปสะสมอยู่ในพืชผักผลไม้ จนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคทั้งเด็กผู้ใหญ่ และทารกในครรภ์ที่รับสารอาหารโดยตรงจากมารดา เนื่องด้วยมารดายุคปัจจุบันรับประทานอาหารที่มีการสะสมสารพิษจากยาฆ่าหญ้าที่ตกค้างอย่างมากมาย โดยมีงานวิจัยรองรับตามข้อมูลดังกล่าวจากหน่วยงานและสื่อต่างๆ

ถ้าวิเคราะห์ในแง่เศรษฐกิจเกี่ยวกับต้นทุนการเกษตรที่ต้องใช้ “แรงงานคน” ในกำจัดหญ้าเทียบกับการใช้ “ยาฆ่าหญ้า” ก็อาจจะมีความคุ้มค่าอยู่บ้าง เพราะการใช้ยาฆ่าหญ้ามีต้นทุนที่ต่ำกว่า ราคาถูก แถมมีประสิทธิภาพในกำจัดวัชพืชได้มากกว่าแรงงานคน ซึ่งอันนี้ก็เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่เกษตรกรส่วนใหญ่ได้เสนอแนะให้แง่คิดไว้ โดยที่รัฐบาลยังไม่สามารถหาสิ่งปลอดภัยกว่ามาทดแทนได้ 

แต่ถ้ามองในแง่ของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยเฉพาะภาพใหญ่ในระดับประเทศก็น่าเป็นห่วงอยู่ เพราะคนที่รับพิษจากพาราควอต หากถูกหรือสัมผัสร่างกายโดยตรงในปริมาณเข้มข้นจะเกิดการกัดกร่อนรุนแรงจนผิวหนังไหม้ หากเข้าสู่ร่างกายโดยเฉพาะการกินโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม อัตราเสียชีวิตจะสูงมาก เพราะพาราควอตมีความเป็นพิษสูงมาก ขนาดยาแค่ฝาขวดน้ำดื่มก็ถึงตายได้ ฤทธิ์เริ่มแรกก็การกัดกร่อนเผาเนื้อเยื่อบุปาก ลำคอ กระเพาะอาหาร อาจถึงกับกระเพาะทะลุเสียชีวิตได้ ระยะต่อมาคือตับวาย สารเคมีส่วนมากจะผ่านตับทำให้เกิดความเสียหายกับเนื้อเยื่อตับโดยตรง ถ้าตับวายก็ตาย ระยะต่อมาเมื่อตัวพาราควอตผ่านระบบเมตาบอลิกในตับจะผ่านสู่ไต ก็ทำให้ไตวายเฉียบพลัน ถ้าฟอกไตทันอาจจะรอด แต่ก็ต้องฟอกไตตลอดชีวิต ไม่ก็รอบริจาคไตมาเปลี่ยน ระยะสุดท้าย ถ้าสามารถรอดพ้นระยะทั้งหมดเบื้องต้นผ่านไป 1-2 สัปดาห์ก็มักจะจบด้วยสภาวะปอดเป็นพังผืด และมักจบด้วยการเสียชีวิต

โดยปกติประเทศไทย เกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับความเสียหาย เจ็บป่วยจากสารพิษภาคการเกษตรชนิดอื่นๆ มากพอควรอยู่แล้ว ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข มีการตรวจพบเกษตรกรไทย 32% ที่มีความเสี่ยงและไม่ปลอดภัยจากการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และมีผู้ป่วยจากพิษสารกำจัดศัตรูพืชเพิ่มถึง 4 เท่าตัว ทั้งพิษเฉียบพลันและระยะยาว เช่น แสบตา คลื่นไส้ หายใจขัด เป็นมะเร็ง อาจรุนแรงถึงขั้นเป็นหมันหรือเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ผู้สนใจสามารถไปสืบค้นเพิ่มเติมได้จากหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข

การที่จะให้ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งเทคโนโลยี นวัตกรรม ก้าวล้ำด้วยระบบโลจิสติกส์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) แต่รัฐบาลยังปล่อยให้ข้าวปลาอาหารของประเทศไทยซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ประเทศที่โดดเด่นและชำนาญเรื่องเกษตรกรรมมาอย่างยาวนาน เคยส่งออกข้าว ปาล์ม ยางพารา และมันสำปะหลัง เป็นอันดับต้นๆ ของโลก และล่าสุดยังขายทุเรียนได้ 8 หมื่นลูกภายใน 1 นาที แต่กลับจะปล่อยให้มีสารพิษที่ทั่วโลกเขาเลิกใช้กันแล้วมาทำลายสุขภาพเกษตรกรและปนเปื้อนอยู่ในอาหารการกินซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค อย่างนี้แล้ว...จุดขายและศักดิ์ศรีของบ้านเมืองเราจะมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และรุ่งโรจน์ โชติช่วงชัชวาลได้อย่างไร ถ้าความปลอดภัยในอาหารยังไม่มี?!?

โดย... 

มนตรี บุญจำรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ